รัฐบาลศรีลังกาประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศในวันที่ 2 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น แม้นักกฎหมายหลายร้อยคนจะเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้แน่ใจว่าเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมอย่างสันติจะได้รับการเคารพภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ
“ภายใต้อำนาจที่มอบให้แก่ประธานาธิบดี มีการกำหนดเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่ 18.00 น. (19.30 น. เวลาไทย) ในวันเสาร์ (2 เมษายน) ถึง 06.00 น. (07.30 น. เวลาไทย) ในวันจันทร์ (4 เมษายน)” หน่วยงานด้านสารสนเทศของรัฐบาลกล่าวในแถลงการณ์
ทั้งนี้ ราชปักษาได้ประกาศใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อจัดการกับความไม่สงบที่เพิ่มขึ้นในวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และในอดีต คำสั่งฉุกเฉินอนุญาตให้ทหารจับกุมและกักขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่มีหมายจับ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ขณะที่นักกฎหมายด้านสิทธิระบุว่าข้อจำกัดในปัจจุบันนั้นยังไม่ชัดเจน และ บาวานี ฟอนเซกา นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Colombo Centre for Policy Alternatives ในศรีลังการะบุว่ายังไม่มีการออกข้อกำหนดที่ระบุอำนาจฉุกเฉินของประธานาธิบดี
โดย Reuters รายงานว่าในศรีลังกา ร้านค้าต่างๆ เปิดทำการและการจราจรเป็นปกติ ขณะที่ตำรวจยังคงประจำการอยู่ที่ปั๊มน้ำมันบางแห่ง
ศรีลังกากำลังพยายามอย่างหนักที่จะแก้ปัญหาการตัดกระแสไฟฟ้าที่ยาวนานสูงสุดถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่รัฐบาลพยายามทำให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่านำเข้าเชื้อเพลิง
ส่วนราชปักษาก็กล่าวว่าภาวะฉุกเฉินมีความจำเป็น เพื่อปกป้องความสงบเรียบร้อยของประชาชน และรักษาเสบียงตลอดจนบริการที่จำเป็น แต่คำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดความกลัวว่ารัฐบาลจะหันไปใช้มาตรการปราบปรามเพื่อระงับการประท้วง
“มีความล้มเหลวในการทำความเข้าใจความปรารถนาของประชาชน และการเอาใจใส่ต่อความทุกข์ทรมานของประชาชนในประเทศ” นักกฎหมาย ซึ่งเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาแห่งศรีลังกา กล่าวในคำร้องเรียนของพวกเขา ส่วนทูตสหรัฐฯ ประจำศรีลังการะบุว่า ชาวศรีลังกามีสิทธิที่จะประท้วงอย่างสันติ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย และบอกว่าเธอกำลังเฝ้ามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหวังว่าวันข้างหน้าจะนำมาซึ่งความอดกลั้นจากทุกฝ่าย เช่นเดียวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่จำเป็นอย่างมาก และการบรรเทาทุกข์
ด้วยความโกรธแค้นจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (31 มีนาคม) ผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้ปะทะกับตำรวจและทหารนอกที่พักของราชปักษา ขณะที่พวกเขาเรียกร้องให้ขับราชปักษาออกจากตำแหน่งและจุดไฟเผายานพาหนะตำรวจและทหารหลายคัน ส่วนตำรวจก็จับกุมบุคคลไป 35 คน และประกาศใช้เคอร์ฟิวในโคลอมโบและรอบๆ เมืองดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ (1 เมษายน) เพื่อระงับการประท้วงอื่น
นอกจากนี้ ภาพของการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างรุนแรงยังถูกตอกย้ำด้วยเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกก๊าซหุงต้ม 5,500 เมตริกตันต้องออกจากน่านน้ำศรีลังกา หลังบริษัท Laugfs Gas ที่สั่งซื้อก๊าซหุงต้มดังกล่าวไม่สามารถจัดหาเงินจำนวน 4.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากธนาคารในประเทศเพื่อนำมาชำระค่าก๊าซได้
วิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการที่ผิดพลาดทางเศรษฐกิจโดยหลายรัฐบาลที่ต่อเนื่องกันนั้น ยังถูกแรงเสริมจากการระบาดใหญ่ของโควิดซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งเงินกลับประเทศ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการพลิกผันอย่างรวดเร็วของการสนับสนุนทางการเมืองสำหรับราชปักษา ผู้ซึ่งชนะการเลือกตั้งครั้งปี 2019 ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลกล่าวว่ากำลังหาเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และเงินกู้ใหม่จากอินเดียและจีน ขณะผู้ค้าชาวอินเดียเตรียมส่งข้าวกว่า 40,000 ตัน ซึ่งนับเป็นความช่วยเหลือด้านอาหารครั้งใหญ่ครั้งแรกของศรีลังกา นับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับวงเงินสินเชื่อจากอินเดีย
ภาพ: ISHARA S. KODIKARA / AFP
อ้างอิง: