×

‘เศรษฐา’ เตือน ธปท. พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ในการกำหนดนโยบายระยะข้างหน้า มองดอกเบี้ยที่ 2.5% อาจกระทบเศรษฐกิจ-ความเป็นอยู่ประชาชน

03.01.2024
  • LOADING...

‘เศรษฐา’ เตือนการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในระยะข้างหน้า ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและภาวะทางการเงินตึงตัว ระบุการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ยืนยันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจและผลักดันความเป็นอยู่ของประชาชนได้

 

วันนี้ (3 มกราคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมสภา อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกปรับให้สูงขึ้นตามสมมติฐานที่ว่า สภาพเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวดี โดยจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2566 นั้น อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

นายกรัฐมนตรียังเตือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินควรพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ 

 

“ในปี 2567 สภาพเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มประสบกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ, ภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการค้าโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและภาวะทางการเงินตึงตัว ที่ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับนโยบายที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายของภาครัฐ” เศรษฐาระบุ

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้งติดต่อกัน รวมทั้งหมด 125 bps จากระดับ 1.25% เมื่อช่วงปลายปี 2565 มาสู่ระดับ 2.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สำหรับการประชุมนัดต่อไปจะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

 

ยืนยันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว เหตุเงินเฟ้อติดลบ

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำอีกว่า สภาพเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ พร้อมทั้งยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจและผลักดันความเป็นอยู่ของประชาชนได้

 

“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 อยู่ระดับต่ำที่ 0.50% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 จากปีก่อนหน้า ซึ่งน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง” เศรษฐากล่าว 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดจะแถลงอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนธันวาคมปี 2566 ในวันศุกร์ที่ 5 มกราคม โดยนักเศรษฐศาสตร์และตลาดต่างคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) จะติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X