×

‘เซลส์แมนประเทศไทย’ เศรษฐาขึ้นปกนิตยสาร TIME ยืนยันไทยเปิดธุรกิจสู่ทั่วโลก

13.03.2024
  • LOADING...
เศรษฐา time

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นปกนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2024 โดยมีข้อความประกอบโดดเด่นคือ THE SALESMAN ที่แสดงถึงบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของเขาหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการเดินสายพบปะและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก พร้อมแสดงความชัดเจนว่าประเทศไทยในรัฐบาลของเขานั้น เปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ

 

บทสัมภาษณ์เศรษฐาโดย ชาร์ลี แคมป์เบล (Charlie Campbell) ผู้สื่อข่าว TIME ซึ่งเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทยที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ ระบุในช่วงต้นถึงระเบียบปฏิบัติที่ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า แขกและนักข่าวไม่สามารถขึ้นไปยังชั้น 2 ของทำเนียบได้ เนื่องจากมีไว้สำหรับงานราชการเท่านั้น ก่อนที่เศรษฐาจะล้มระเบียบดังกล่าว และเชิญเขาไปที่ห้องประชุมบนชั้น 2 เพื่อสนทนากันเป็นเวลา 1 ชั่วโมงโดยไม่มีการจดบันทึก

 

และนี่คือบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐาต่อสื่อระดับโลกอย่าง TIME

 

เศรษฐา World Tour

 

แคมป์เบลระบุว่า เศรษฐาซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายน เดินทางไปต่างประเทศมากกว่า 10 ครั้งเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก เช่น จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และในการประชุมเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

 

เขายังเผยว่าภายในห้องประชุมที่พูดคุยกันนั้น รายล้อมไปด้วยกระดานไวต์บอร์ดที่เต็มไปด้วยวัตถุประสงค์เชิงนโยบายที่เขียนไว้คร่าวๆ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต, การเป็น Hub หรือศูนย์กลางการบินแห่งชาติ, เหมืองแร่โปแตช และ Tesla

 

โดยเขาชี้ว่าความพยายามของเศรษฐานั้นเห็นผล เมื่อดูจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว เฉพาะเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียว เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

ขณะที่เศรษฐายังได้เปิดเผยว่า มีการลงทุนของบริษัทระดับโลกในประเทศไทยโดย Amazon Web Services, Google และ Microsoft มูลค่ารวมถึง 8.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเศรษฐายังกล่าวว่า “ผมอยากบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง”

 

เนื้อหาบทสัมภาษณ์ยังชี้ว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับความแตกแยกทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารของกองทัพในปี 2014 โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา TIME ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบกึ่งทหาร (Quasi-Military Rule) เผชิญภาวะซบเซาและความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ขณะที่การเติบโตโดยเฉลี่ยของ GDP ไทยนั้นต่ำกว่า 2% น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มากกว่า 2-3 เท่า 

 

ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปัจจุบันยังคงมีจำนวนเพียง 70% ของจุดสูงสุดในปี 2019 ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าไทยนั้นล้าหลังในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด

 

โดยเศรษฐากล่าวถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาว่าประเทศไทยนั้นอยู่ในภาวะ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ต้องรับมือโดยตรง และรัฐบาลของเขาได้ใช้มาตรการต่างๆ ทั้งลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ประกาศพักชำระหนี้เกษตรกรที่ประสบปัญหาเป็นเวลา 3 ปี และวางแผนที่จะมอบเงิน 10,000 บาทให้กับผู้ใหญ่ชาวไทยทุกคนผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นการบริโภค

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย และมีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ ขณะที่เศรษฐาเผยว่า เขายังต้องการเพิ่มบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ และการเงิน 

 

‘เปล่งประกาย’ ในเวทีโลก

 

อีกประเด็นที่เศรษฐากล่าวถึง คือการยกระดับบทบาทของไทยในเวทีโลก หลังจากที่มีการต้อนรับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่มาพบปะหารือกันในไทย เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

 

โดยเศรษฐาหวังว่าไทยในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย และมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับจีนอย่างลึกซึ้ง จะสามารถทำหน้าที่เป็น ‘สะพาน’ และ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับการพูดคุยกันของทั้ง 2 ประเทศได้ พร้อมเน้นย้ำว่าเขาอยากเห็นประเทศไทย ‘เปล่งประกาย’ ในเวทีโลก

 

แรงกดดันแก้ปัญหาความยากจน

 

นอกจากนี้ เศรษฐายังตอบคำถามเรื่องการเลือกตั้งในปีที่แล้ว ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ สส. มากเป็นอันดับ 2 ตามหลังพรรคก้าวไกล และต้องจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดดันที่ต้องสร้างผลงานอย่างแท้จริงและรวดเร็ว 

 

โดยเศรษฐายืนยันว่า เขาไม่ได้กดดันจากการที่พรรคเพื่อไทยชนะเป็นอันดับ 2 แต่มองว่า “แรงกดดันมาจากความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยทุกคน”

 

บทสัมภาษณ์ยังกล่าวถึงการที่เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ไทยที่มีห้องนอนในทำเนียบรัฐบาล โดยเศรษฐากล่าวถึงข้อดีว่า เขาสามารถจัดการประชุมในช่วงเช้าและดึกได้ และไม่ต้องใช้ขบวนรถนำที่กีดขวางการจราจร

 

ขณะที่เศรษฐายังเผยว่าเขาแทบไม่ใช้โต๊ะทำงาน โดยครั้งเดียวที่ใช้คือการรับสายจาก เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

 

เศรษฐายังระบุถึงปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายบริหารประเทศ เช่น กรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ถูกคัดค้านจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมองว่าการแจกเงินสดกว่า 5 แสนล้านบาทจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ 

 

“การเป็น CEO ของบริษัท คุณจะรู้ว่าคุณมีอำนาจจำกัด แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดคือการไม่มีอำนาจอย่างที่นายกรัฐมนตรีมี” เขากล่าว

 

หุ่นเชิดทักษิณ-ปัญหาสิทธิมนุษยชน

 

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายวิจารณ์คือเขาเป็นหุ่นเชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นั้น เศรษฐากล่าวอย่างหนักแน่นว่า “เขาเป็นคนคุมอำนาจรัฐบาล”

 

บทสัมภาษณ์ยังกล่าวถึงนโยบายด้านอื่นๆ เช่น การสมรสเท่าเทียมที่รัฐบาลเศรษฐาผลักดัน แต่ในขณะเดียวกันยังมีหลายประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำให้ถูกมองว่ารัฐบาลของเศรษฐาไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก รวมถึงกรณีการปรองดองระดับชาติจากการที่มีเยาวชนไทยเกือบ 2,000 คนยังคงถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติเมื่อช่วงปี 2020 และ 2021 ซึ่งเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 14 ปี

 

โดยเศรษฐาไม่เห็นปัญหาใดๆ จากกรณีเหล่านี้ และยืนยันว่า “สิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีนั้นมีอยู่”

 

ความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย

 

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงประเด็นการพบปะกับผู้นำมหาอำนาจอย่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ซึ่งมีการชักชวนลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างแลนด์บริดจ์ โดยเศรษฐามองว่าผู้นำจีนนั้น “ต้องการการค้า และไม่ได้ต้องการจะสร้างปัญหาหรือสงคราม”

 

เศรษฐายังได้พบปะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของเขากับรัสเซียท่ามกลางสงครามในยูเครนที่ยังตึงเครียด สร้างความไม่สบายใจแก่สหรัฐฯ 

 

โดยกรณีล่าสุดที่ อเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียเสียชีวิตในเรือนจำ และสหรัฐฯ มองว่าเป็นฝีมือของปูติน ทางด้านเศรษฐาได้แสดงความคิดเห็นโดยตั้งคำถามว่า “มีหลักฐานว่าปูตินเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่” 

 

“มันเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขา หากเป็นอาชญากรรมจริงๆ เราไม่ก้าวก่ายอธิปไตยของประเทศอื่น”

 

บทสัมภาษณ์ยังชี้ว่าเศรษฐานั้นให้ความสำคัญต่อนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียกว่า 1 ล้านคนที่มาเยือนประเทศไทยทุกปี และยังเสนอให้ผู้ถือหนังสือเดินทางรัสเซียทุกคนสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า 90 วัน ซึ่งมากกว่าชาวอเมริกันถึง 3 เท่า

 

การผูกขาดธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่

 

นอกจากนี้ ในประเด็นการลดอำนาจบริษัทขนาดใหญ่ที่ครอบงำธุรกิจในไทย เช่น ธุรกิจเบียร์ หรือสัมปทานพื้นที่ขายสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้คำมั่นในช่วงหาเสียง แต่เมื่อเศรษฐาได้ครองอำนาจ กลับมีการเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยผู้บริหารของหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ

 

ซึ่งเศรษฐามองว่าเขาไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นผิดมากนัก และยังมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการหาส่วนแบ่งในตลาด

 

“ผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยกลุ่มบริษัทระดับโลกล้วนๆ” เขากล่าว

 

ขณะที่บทสัมภาษณ์ชี้ว่าคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วย โดยเห็นได้จากคะแนนเสียง 14 ล้านเสียงสำหรับพรรคก้าวไกล ที่เน้นย้ำนโยบาย ‘การกระจายอำนาจและการยุติเศรษฐกิจที่ผูกขาดและไม่เป็นธรรม’

 

บทสัมภาษณ์ยังทิ้งท้ายว่า “การปฏิรูปอย่างกล้าหาญนั้น คือสิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการอย่างยิ่ง” พร้อมระบุข้อความของเศรษฐาที่กล่าวว่า 

 

“จากการเป็น CEO ของบริษัท จนมาถึง CEO ของประเทศนั้น มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกมากมาย” 

 

ภาพ: TIME

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X