×

51 วัน 14 ประเทศ เศรษฐาเดินสายทัวร์ ประเทศไทยได้อะไร

โดย THE STANDARD TEAM
14.03.2024
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 7 ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน ผู้นำคนที่ 30 ของไทย ปฏิบัติภารกิจเดินทางไปแล้ว 14 ประเทศทั่วโลก

 

ขณะนี้ไปเยือนมาแล้ว 14 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา (2 ครั้ง), กัมพูชา, ฮ่องกงและจีน (จีนและฮ่องกงนับเป็นประเทศเดียวกัน), บรูไนฯ, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ซาอุดีอาระเบีย, สปป.ลาว, ญี่ปุ่น, สมาพันธรัฐสวิส, ศรีลังกา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส และล่าสุดประเทศเยอรมนี 

 

THE STANDARD รวมเวลาปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศของเศรษฐาพบว่า นายกรัฐมนตรีใช้เวลาเดินทางไปแล้วทั้งสิ้น 51 วัน จาก 193 วัน (นับตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 4 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2567) คิดเป็น 26.42% 

 

จำนวนตัวเลขนี้ทำให้เป็นที่ถกเถียงกันมากมายโดยเฉพาะฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาว่า ทำไมเศรษฐาต้องใช้เวลาไปกับการเดินสายในต่างประเทศยาวนานขนาดนี้ ระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่หมดไปกับการเดินทางได้อะไรกลับมาบ้าง แล้วสิ่งนี้จะช่วยแก้วิกฤตภายในประเทศได้อย่างไร

 

โรดโชว์ต่างแดน…แก้วิกฤต

 

นายกรัฐมนตรีเคยออกมาให้สัมภาษณ์โดยระบุว่า “การที่ผมเดินทางมาต่างประเทศก็ถือเป็นการแก้วิกฤตอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเซ็นสัญญา FTA ซึ่งในอดีตไม่ได้ทำ การดึงนักลงทุนไปลงทุนในประเทศที่ในอดีตก็ไม่มีการทำ ซึ่งถือเป็นการแก้วิกฤตในระยะกลางและระยะยาวอยู่แล้ว ถ้าเกิดมีนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีจ้างงานที่มากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นจุดหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤต”  

 

แล้วทำไมถึงต้องเร่งเดินสาย ในการแถลงวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง’ เศรษฐาบอกว่า ความขัดแย้งและปัญหาการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบดบังศักยภาพ บดบังแสงสว่างของประเทศไทย ตั้งแต่ 6 เดือนที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ความสงบและความสมัครสมานสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจกันของพวกเราทุกคน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่เราจะเริ่มต้นให้ชาวโลกรู้ว่าแสงสว่างในประเทศไทยเกิดขึ้นแล้ว

นัยหนึ่งคือ เมื่อพ้นจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ประตูโอกาสของไทยในต่างแดนก็เปิดพร้อมรับให้ก้าวไปหามากมาย จึงต้องเร่งดำเนินการ 

 

ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า ทำไมต้องเป็นช่วงเวลานี้ วิกฤตในประเทศควรแก้ไขมากกว่าออกไปเดินสายโรดโชว์หรือไม่

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความระบุว่า ดีลต่างๆ ที่ท่านนายกฯ เพียรพยายามเดินทางไปเจรจาในประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นดีลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมากๆ ระดับหลายพันล้านบาทจนถึงหลายแสนล้านบาท ดีลระดับนี้จะต้องใช้เวลาในการตัดสินใจพอสมควร อย่างเร็วสุดก็น่าจะประมาณ 1 ปี ส่วนใหญ่น่าจะได้คำตอบสุดท้ายภายใน 2-3 ปี

คนที่เข้าใจธุรกิจและมีประสบการณ์อย่างดีในโลกของการค้าและการลงทุนใหญ่ๆ ระดับนานาชาติย่อมทราบดีถึงเงื่อนไขของระยะเวลาที่ต้องใช้ และอดทนรอคอยผลสำเร็จของการหว่านพืชเอาไว้ในวันนี้ ดังนั้นจงอดทนรอ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ทีมงานนายกรัฐมนตรี ฝ่ายรัฐบาล เตรียมแถลงผลการเดินทางเยือน อัปเดตความคืบหน้าการพบปะบริษัทชั้นนำในประเทศต่างๆ ว่าสุดท้ายแล้วประเทศได้อะไร



51 วัน ทำอะไรในต่างแดน?

 

การเดินทางเยือนต่างประเทศของผู้นำมักจะมีวาระงานที่เป็นไปตามรอบ เช่น การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งรวมเหล่าผู้นำคนสำคัญมากมาย การเดินทางไปเยือนของผู้นำไทยในฐานะอดีตเจ้าภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

 

การประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย การประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น และประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เหล่านี้ล้วนมีกำหนดการที่ชัดเจน และผู้นำไทยไม่เคยขาดการเข้าร่วม

 

ขณะที่บางการประชุม เช่น World Economic Forum นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่ผู้นำไทยเข้าร่วม ที่ผ่านมาไม่มีผู้นำคนไหนเดินทางไป แล้วทำไมเศรษฐาถึงไป?


“ไปเพื่อแสดงความพร้อมของไทย” นี่คือสิ่งที่ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว ให้เกิดความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน และในเวทีนี้จะมีผู้เข้าร่วมทั้งที่เป็นประมุขและผู้นำรัฐบาล, หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ, ผู้บริหารภาคธุรกิจ (CEOs), นักวิชาการ ตลอดจนผู้มีอิทธิพลทางความคิดระดับโลก ประมาณ 2,500 คนจากทั่วโลก 

 

แค่การประชุมใหญ่ๆ ทำไมถึงไปนาน เศรษฐาระบุว่า เมื่อไปแล้วขอเพิ่มวันในการพบปะกับนักธุรกิจ ผู้บริหารยักษ์ใหญ่ วันละ 10-12 บริษัท เพื่อดึงมาให้เกิดการลงทุน ทั้ง Tesla, Mercedes-Benz, BMW, Amazon Web Services, Google, Microsoft, Xiaomi และ Alibaba ทำให้เกิดการเยือนของผู้นำต่างประเทศในไทย เช่น ประธานาธิบดีเยอรมนีเยือนไทยในรอบ 22 ปี และ หวังอี้ สมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน 

 

รวมทั้งโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ให้กับสินค้าไทยที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำในการสวมผ้าขาวม้า ไม่ใช่แฟชั่นแต่อย่างใด

 

เดินสายต่างประเทศ เห็นผลเป็นที่ประจักษ์

 

เศรษฐายังระบุในการสัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ถึงผลจากความพยายามเดินสายว่า สิ่งนี้เห็นผล เมื่อดูจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว เฉพาะเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

มีการลงทุนของบริษัทระดับโลกในประเทศไทยโดย Amazon Web Services, Google และ Microsoft มูลค่ารวมถึง 8.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเศรษฐากล่าวด้วยว่า “ผมอยากบอกให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง”

หลายบริษัทที่ได้ดีลมาเริ่มส่งคนมาสำรวจสถานที่ตั้งโรงงาน ความเป็นไปได้ อย่างล่าสุด Tesla มีเงื่อนไขการลงทุนว่าต้องการพื้นที่จำนวน 2,000 ไร่ สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนถึงความพร้อมในการดึงนักลงทุนมา แม้นายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะทำหน้าที่เซลส์แมนได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าถึงเวลาที่นักลงทุนมาแต่ไม่มีความพร้อม การดีลที่เสียเวลาเดินทางไปคงจะไม่คุ้มค่าอย่างที่ฝ่ายค้านกล่าว


ความเร่งด่วน ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเดินสายพบต่างชาติ คือสิ่งที่ฝ่ายค้านรวมถึงประชาชนบางส่วนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ในประเทศ พบปะประชาชนที่เดือดร้อนมากกว่าการไปพบต่างชาติ

คงจะต้องรอดูท่าทีและทีเด็ดของ สว. ในการยื่นซักฟอกญัตติอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 ในวันที่ 25 มีนาคม และการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของ สส. ในเดือนเมษายน ถึงการเดินสายครั้งนี้ว่าจะคุ้มค่าตามที่นายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารบอกหรือไม่



เซลส์แมนเศรษฐาเยือน 14 ประเทศภายใน 6 เดือน

 

  • วันที่ 18-24 กันยายน เยือนนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) พบนักธุรกิจชั้นนำ
  • วันที่ 28 กันยายน เยือนราชอาณาจักรกัมพูชา แนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่ง
  • วันที่ 8-9 ตุลาคม เยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กระชับความสัมพันธ์ พบกับนักธุรกิจและผู้บริหารสูงสุด
  • วันที่ 10 ตุลาคม เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม 
  • วันที่ 12 ตุลาคม เยือนสิงคโปร์ และได้หารือทวิภาคีกับ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ 
  • วันที่ 16-19 ตุลาคม นำคณะเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน 
  • วันที่ 20-21 ตุลาคม เยือนกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประชุมสุดยอดอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ
  • วันที่ 29-30 ตุลาคม เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
  • วันที่ 12 พฤศจิกายน เยือนซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา 
  • วันที่ 14-19 ธันวาคม เยือนญี่ปุ่น ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ 
  • วันที่ 15-19 มกราคม เยือนสมาพันธรัฐสวิส ประชุม World Economic Forum 
  • วันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ เยือนศรีลังกา ประชุมงาน Sri Lanka-Thailand Business Forum
  • วันที่ 4-6 มีนาคม ประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 
  • วันที่ 7-14 มีนาคม เยือนเยอรมนี พบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุม ITB Berlin 2024 และเยือนฝรั่งเศส พบประธานาธิบดีฝรั่งเศส 

 

เทียบสมัยยิ่งลักษณ์ 2 ปี 57 ครั้ง เยือนต่างประเทศ 36 ประเทศ

 

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วง 2 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 ถึงเดือนตุลาคม 2556 มีการเดินทางเยือน 36 ประเทศ โดยข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ยิ่งลักษณ์เดินทางเยือนกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ 27 ประเทศ และเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ 21 เวที รวมการเดินทางไปต่างประเทศ 57 ครั้ง 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising