วันนี้ (25 มีนาคม) ที่รัฐสภา บรรยากาศก่อนการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีเดินทางมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
เศรษฐาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงความพร้อมก่อนการอภิปรายในวันนี้ว่า ตนเองพร้อม และรัฐมนตรีหลายท่านก็พร้อมทั้งหมด ซึ่งมีการกำชับเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีความกังวล สิ่งที่ทำให้ตนเองวิตกคือปัญหาของประชาชน เพราะเรามีหน้าที่บริหาร และวันนี้เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อสงสัย มีข้อแนะนำ และเมื่อบางข้อไม่มีความกระจ่าง เราก็จะมาอธิบายให้เกิดความกระจ่าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีการจัดเตรียมรัฐมนตรีรับมือหากมีการอภิปรายนอกประเด็นไว้หรือไม่ โดยเฉพาะการอภิปรายพุ่งเป้าถึงทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐากล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเรื่องนอกประเด็นคืออะไรบ้าง แต่ต้องดูตามความเหมาะสม ซึ่งขออย่าไปคิดว่าจะมีคำถามอะไรดีกว่า และถ้าหากมีมาสามารถตอบได้และอยู่ในกรอบที่ต้องตอบเราก็จะตอบ
ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวถึงการอภิปรายในวันนี้ที่อาจมีการพาดพิงทักษิณว่า ตนเองเคยพูดไปแล้วว่าเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทักษิณ โดยทักษิณเป็นบุคคลภายนอก และเป็นบุคคลที่เรารักและศรัทธา แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเรื่องทักษิณนั้นมีคนรักเขามาก คนชังก็มากเช่นกัน ท่านจะทำอะไรหรือมีบทบาทอย่างไรมองเป็นเรื่องธรรมดา และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งนี้ หากสมาชิกวุฒิสภาสนใจที่จะซักถามเรื่องราวดังกล่าวสามารถประสานงานเพื่อพูดคุยกับท่านได้ ยืนยันว่ารัฐบาลและทักษิณไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ประเด็นควรจะอยู่ที่การเสนอแนะรวมถึงความคิดเห็นในการทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก
ทั้งนี้ หากสมาชิกวุฒิสภาต้องการพูดคุยสามารถประสานผ่านลูกสาว (แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) โดยเสนอให้คุยผ่านครอบครัว
อย่างไรก็ตาม การยื่นอภิปรายครั้งนี้พบว่าข้อมูลจากคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาได้ใช้สิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเพียง 6 ครั้ง คือ ในปี 2551, 2552, 2553, 2555, 2566 และล่าสุด 2567
ตลอดการบริหารราชการแผ่นดินปี 2562-2566 ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สว. ไม่ได้มีการยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปสักครั้งเดียว ทำให้การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ครั้งนี้เกิดขึ้นในรอบเกือบ 11 ปี
การอภิปรายในวันนี้มีรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาแสดงความจำนงอภิปรายทั้งสิ้น 27 คน โดยมีเวลาทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 09.00-00.00 น. แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา 11.30 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี 3 ชั่วโมง และประธานสมาชิกวุฒิสภา 30 นาที