วันนี้ (12 ธันวาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการหารือเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในที่ประชุม ครม. ว่า พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำมติคณะกรรมการไตรภาคีที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม 2-16 บาท นำเข้ามาเสนอ และท่านก็สรุปเองว่าต้องกลับไปตั้งข้อสังเกตและพิจารณาปรับสูตรของการคิดค่าแรงใหม่ ส่วนค่าแรงขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้นมากกว่านี้หรือไม่ ตนเองตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ก็ต้องให้เกียรติคณะกรรมการไตรภาคี พูดได้แค่นี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะทันช่วงปีใหม่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คิดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า หรือ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาจจะเป็นวันที่ 25 ธันวาคม น่าจะเอาเข้ามาทันได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าตัวเลขที่นายกฯ หวังจะต้องขึ้นค่าแรงเท่าไร เศรษฐากล่าวว่า “ก็ไม่ใช่ตัวเลขปัจจุบัน ก็ต้องฟังเขาก่อน เพราะมีข้อกฎหมายหลายๆ อย่างๆ ที่ทักท้วงเข้ามา แต่สิ่งที่ผมต้องการไม่ใช่ตัวเลขจำนวนนี้”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะได้ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ เศรษฐาปฏิเสธตอบคำถาม โดยบอกว่า “คำถามต่อไปครับ”
มติบอร์ดค่าจ้าง เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ที่ประกอบด้วยกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 โดย ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม
ไพโรจน์แถลงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 ว่าที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุดคือจังหวัดภูเก็ต 370 บาท เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 370 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต จากเดิม 354 บาท
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (353 บาท), นครปฐม (353 บาท), นนทบุรี (353 บาท), ปทุมธานี (353 บาท), สมุทรปราการ (353 บาท) และสมุทรสาคร (353 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี (354 บาท) และระยอง (354 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา (340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม (338 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (343 บาท), สระบุรี (340 บาท), ฉะเชิงเทรา (345 บาท), ปราจีนบุรี (340 บาท), ขอนแก่น (340 บาท) และเชียงใหม่ (340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี (340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี (340 บาท), นครนายก (338 บาท) และหนองคาย (340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ (340 บาท) และตราด (340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (335 บาท), ประจวบคีรีขันธ์ (335 บาท), สุราษฎร์ธานี (340 บาท), สงขลา (340 บาท), พังงา (340 บาท), จันทบุรี (338 บาท), สระแก้ว (335 บาท), นครพนม (335 บาท), มุกดาหาร (338 บาท), สกลนคร (338 บาท), บุรีรัมย์ (335 บาท), อุบลราชธานี (340 บาท), เชียงราย (332 บาท), ตาก (332 บาท) และพิษณุโลก (335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี (335 บาท), ชุมพร (332 บาท) และสุรินทร์ (335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร (335 บาท), ลำพูน (332 บาท) และนครสวรรค์ (335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (332 บาท), บึงกาฬ (335 บาท), กาฬสินธุ์ (338 บาท), ร้อยเอ็ด (335 บาท) และเพชรบูรณ์ (335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท (335 บาท), สิงห์บุรี (332 บาท), พัทลุง (335 บาท), ชัยภูมิ (332 บาท) และอ่างทอง (335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (332 บาท), สตูล (332 บาท), เลย (335 บาท), หนองบัวลำภู (332 บาท), อุดรธานี (334 บาท), มหาสารคาม (332 บาท), ศรีสะเกษ (332 บาท), อำนาจเจริญ (332 บาท), แม่ฮ่องสอน (332 บาท), ลำปาง (332 บาท), สุโขทัย (332 บาท), อุตรดิตถ์ (335 บาท), กำแพงเพชร (332 บาท), พิจิตร (332 บาท), อุทัยธานี (332 บาท) และราชบุรี (332 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง (332 บาท), น่าน (328 บาท), พะเยา (335 บาท) และแพร่ (332 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส (328 บาท), ปัตตานี (328 บาท) และยะลา (328 บาท)