วันนี้ (7 ธันวาคม) ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตเศรษฐกิจไทย’ ในงานสัมมนาวิชาการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) ตอนหนึ่งว่า ตนอยากพูดอะไรที่จับต้องได้ เป็นธรรมชาติ เป็นภาษาง่ายๆ และทุกคนเข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ได้เป็นการวาดภาพที่สวยหรูเกินเหตุ
เศรษฐากล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงเวลาที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก วันนี้ก็ยิ่งลำบากหนักไปอีกด้วยการแข่งขันบนเวทีโลก ปัญหาสงครามซึ่งยังไม่มีทีท่าจะจบ และสงครามการค้าการลงทุน อีก 2-3 วันจะครบ 3 เดือนที่ตนเข้ารับตำแหน่ง หลังจากแถลงนโยบายไปวันที่ 11 กันยายน เรามีนโยบายหลากหลาย การลดค่าใช้จ่ายของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญ บางคนอาจจะมองว่าเป็นประชานิยม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะหาเสียงจบไปแล้ว ไม่มีการซื้อใจหรือเตรียมตัวในการรอเลือกตั้งต่อไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟที่ลดไปได้แป๊บเดียวก็ขึ้น ตนรับไม่ได้ ต้องกลับไปพิจารณากันใหม่ จะพยายามกดให้ได้ 4.10 บาทต่อหน่วย
พักหนี้เกษตรกรครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย
“ช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมามีการพักหนี้ไป 13 หน พวกท่านในฐานะที่เป็นผู้จ่ายภาษีเยอะที่สุด คงต้องถามว่าแล้วจะพักไปอีกนานเท่าไร เรื่องนี้ต้องยอมรับตรงๆ ว่าเป็นเรื่องที่หนักใจ และอยากจะบอกว่าจะพักหนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็พูดไม่ได้เต็มปาก ไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่” เศรษฐากล่าว
เปิดเที่ยวบินอินเดีย ทดแทนนักท่องเที่ยวจีน
เศรษฐายอมรับว่า มีหลายคนด้อยค่าคำว่าควิกวิน ตนก็มีส่วนผิดที่ใช้บ่อย ขณะที่การหารายได้ ต้องสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว มีการออกวีซ่าฟรีให้จีน แต่ก็เกิดเหตุที่สยามพารากอน เผยแพร่ Fake News
“ในส่วนของตัวผมเองไม่มีอะไรที่ดีพอ ต้องสร้างมาตรฐานที่สูงเข้าไว้ นักท่องเที่ยวจีนลดน้อย แต่เราก็ทดแทนได้ด้วยนักท่องเที่ยวประเทศใหม่ๆ อย่างคาซัคสถานและอินเดีย ซึ่งอินเดียก็มีปัญหาเที่ยวบินไม่เพียงพอ การเปิดเที่ยวบินใหม่เป็นเรื่องที่ยากลำบาก รวมถึงข้อเสนอให้นำเที่ยวบินที่หายไปของจีนให้อินเดียบิน อยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่” เศรษฐากล่าว
ติ ททท. ไม่สนับสนุนเที่ยวเมืองรอง
เศรษฐากล่าวถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างที่คนไทยหรือชาวต่างชาติเองก็ควรที่จะได้รับทราบ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังไม่ให้ความสำคัญ จึงได้มีการสั่งการให้ทำตรงนี้เยอะขึ้น ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านคน แต่เหนือสิ่งอื่นใดไม่จำเป็นต้องเป็น 42 ล้านคนเท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่การใช้จ่ายรายหัวและจำนวนวันอาศัยเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
หน้าที่รัฐบาลผลักดันซอฟต์พาวเวอร์
เศรษฐากล่าวอีกว่า ทุกคนทราบว่าคำว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร ในประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องนี้ ซึ่งสงกรานต์ก็เพิ่งได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกเชิงวัฒนธรรม ส่วนปีหน้าที่จะมีการจัดสงกรานต์ทั้งเดือน ไม่จำเป็นต้องสาดน้ำกันทั้งเดือน แต่ถ้าใครอยากจะสาดก็สาด เชื่อว่าคนที่มีสติดีคงจะทราบว่าสงกรานต์ทั้งเดือนนั้นคืออะไร ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของไทยเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ต่างชาติอยากจะทราบ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากไม่นับเรื่องอาหารการกิน มวยไทยถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
เซลส์แมนต้องวิ่งสู้ฟัด
เศรษฐากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ใช้เวลาเพื่อยกระดับไม่ให้ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ นโยบายของเราจะเสนอ พ.ร.บ.กู้เงิน ครั้งใหญ่ เชื่อว่าหลายท่านก็ไม่เห็นด้วย และหลายท่านอาจเห็นด้วย
จากการที่เดินทางไปร่วมประชุม APEC เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นมีการจับมือตบไหล่กันอย่างสวยหรูนั้น แต่ข้างหลังก็ถือมีดกันอยู่ทุกคน ซึ่งจีนกับสหรัฐฯ ตกลงกันอย่างชัดเจน มีเพียงเรื่องเดียวคือไม่กดปุ่มนิวเคลียร์ยิงใส่กัน ที่เหลือก็สู้กันตายไปข้างหนึ่งในเรื่องการค้า เพราะฉะนั้นเรื่องการย้ายฐานการผลิตต่างๆ มาที่เมืองไทยต้องเป็นกลาง ไม่ได้เอียงไปทางสหรัฐฯ หรือจีน
เศรษฐากล่าวอีกว่า ยอมรับว่าตนเป็นเซลส์แมน ต้องวิ่งสู้ฟัด และในสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นประเทศผลิตรถสันดาป (รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน) แต่ปัญหาคือรัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องว่า เราโปรโมตรถยนต์ EV เยอะเกินไป แต่มันเป็นเทรนด์ของโลกและเราต้องทำ
“ผมจะทำ EV ก็เรื่องของผม แต่คุณต้องการอะไรก็บอกมา คนไทยเชื้อสายจีนไม่เคยลืมต้นน้ำ ใครรักเรา ใครดีกับเรา เราจะดีด้วย เราจะจำไว้ และเราจะทดแทนบุญคุณเขา ผมบอกกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างนี้ และวันนี้เราก็มีการเจรจาเป็นจำนวนมากว่าเราจะช่วยเรื่องการประกอบรถสันดาปอย่างไร โดยจะมีมาตรการทางภาษี” เศรษฐากล่าว
ลดความไม่เท่าเทียม ไม่เอาโต๊ะวีไอพี
เศรษฐากล่าวถึงการอบรมในหลักสูตร วบส. ว่า หากใช้คอนเน็กชันให้เป็นประโยชน์ ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกต้อง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากใช้เรื่องเหล่านี้วางตนเหนือท่าน ยกตนเหนือท่าน ใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่ถูกต้อง ถือว่าท่านเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ มีหลายหลักสูตรที่ไปเรียนเรื่องเหล่านี้แล้วปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง
ท่านเป็นบุคคลพิเศษ เป็นบุคคลที่ได้รับเกียรติจากสถาบันที่มีเกียรติ มาพบปะสังสรรค์ มาอยู่ร่วมกัน มาช่วยทำประโยชน์ให้สังคม บางท่านอาจจะบอกว่าธุรกิจฉันเล็กนิดเดียว จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมหายไปได้อย่างไร การประพฤติตนของท่านทุกคนและตัวผมในส่วนเล็กก็มีส่วนช่วยเหลือได้ อยากจะวิงวอน อ้อนวอนทุกคนว่าท่านเป็นบุคคลที่มีต้นทุนสูงทางสังคม และสามารถช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเทียม
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามถึงความอัดอั้นตันใจในฐานะนักธุรกิจว่า เรื่องที่ทำให้อัดอั้นตันใจคือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เพราะปฏิเสธไม่ได้ ตนเองก็ใช้จ่ายเยอะ เช่น การมีนาฬิกาหลายเรือนจนไม่รู้ว่าจะมีไปทำไม คิดแล้วก็ทุเรศตัวเอง เพราะบางคนเขาไม่มี และพูดแบบนี้ไม่ใช่ตัวเองดูดี มันมีความขัดแย้งในตัวเอง
“นิสัยส่วนตัวของผม เวลาไปกินข้าวที่ไหนไม่ชอบคำว่าโต๊ะวีไอพี ไม่ชอบแบ่งอาหาร ไม่ชอบแบ่งไวน์สองเกรด ผมไม่ชอบ จึงมีความไม่สบายใจเวลาลงพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยหรือทำเนียบฯ จะบอกทีมงานเสมอว่าผมกินข้าวสำรับเดียวกับนักข่าวและเจ้าหน้าที่ทุกคน ถ้าให้ผมกินพิเศษผมไม่เอา เรื่องของความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่พยายามผลักดันมาโดยตลอดแต่ยังไม่สำเร็จ เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้อยากเข้ามาการเมืองตรงนี้”
เดินสายคุยภาคธุรกิจปรับหลักสูตรการศึกษา
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาหรือยกระดับเรื่องการศึกษาว่า เราต้องพัฒนาเริ่มตั้งแต่เอาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาเข้ามาก่อน ประเทศไทยถือว่าโชคดีที่เรามีโรงเรียนเยอะ แต่หลายหลักสูตรไม่ได้สอนให้คนจบออกมาตรงกับงานที่มีความต้องการของตลาด ตนเชื่อว่าทุกคนทราบ และบังเอิญเป็นความซวยของประเทศด้วยทักษะภาษาอังกฤษที่ถือว่าต่ำมาก และจบอะไรมาก็มีงานหมด แต่เป็นงานของอนาคตหรือไม่
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ตนคิดว่าต้องปรับที่หลักสูตร อย่างในสหรัฐฯ การศึกษาแข็งแกร่งมาก มีคนรวยบริจาคเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลนี้สร้างบารมีได้ เริ่มตั้งไข่ได้ ก็อยากเดินสายคุยกับภาคธุรกิจ เพราะการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรต้องพึ่งเอกชน และการศึกษาเท่านั้นที่จะยกระดับสถานะจากความเหลื่อมล้ำขึ้นมาได้