×

ทำไม Spotify สตรีมมิงมิวสิกจากสวีเดนจึงเป็นอันดับหนึ่งของโลกชนะ Apple

23.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี Spotify มียอดผู้ใช้บริการมากกว่า 140 ล้านคนในกว่า 61 ประเทศ และยังเคลมว่าพวกเขาสร้างรายได้ให้เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.66 แสนล้านบาท และถ้านับเฉพาะปี 2016 พวกเขามีรายได้มากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท
  • ความตั้งใจของแดเนียล เอ็ก (Daniel Ek) และ มาร์ติน โลเรนต์ซอน (Martin Lorentzon) สองผู้ร่วมก่อตั้ง Spotify คือการสร้างแพลตฟอร์มในการฟังเพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์และถูกกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้เจ้าของผลงานและศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
  • โดนใจผู้บริโภคด้วยรูปแบบบริการแบบฟรีเมียมที่ไม่ต้องเสียเงินก็สามารถใช้บริการฟังเพลงของพวกเขาได้ทันที รวมถึงอัลกอริทึมในการประมวลเพลย์ลิสต์ที่ชาญฉลาด และช่องทางการใช้บริการที่มากมายไม่เว้นแม้แต่เครื่องเล่นเกมคอนโซล ขณะเดียวกัน Spotify ก็ไม่ลืมที่จะสร้างโมเดลธุรกิจการหารายได้ด้วยโฆษณาจากแบรนด์กว่า 3,500 แบรนด์บนบริการฟรีเมียม

     สร้างความฮือฮาในวงการสตรีมมิงมิวสิกประเทศไทยไม่น้อย หลังวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา Spotify ผู้ให้บริการสตรีมมิงมิวสิกรายยักษ์จากสวีเดนได้ประกาศให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย เรียกได้ว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป ใครหลายคนก็สามารถฟังเพลงบน Spotify ได้อย่างสบายใจแล้ว แม้ก่อนหน้านี้ผู้ใช้บริการบางรายและผู้รักเสียงดนตรีจะต้องแอบเปลี่ยน VPN อย่างลับๆ เพื่อใช้บริการของพวกเขาอยู่เนืองๆ ก็ตาม

     โดยตลอดระยะเวลากว่า 9 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน Spotify มียอดผู้ใช้บริการมากกว่า 140 ล้านคนในกว่า 61 ประเทศ เหนือกว่า Apple Music ที่มีผู้ใช้บริการเพียง 27 ล้านคน หรือ Pandora และ Tidal ที่มีผู้ใช้บริการราว 77.9 ล้านคน และ 4.2 ล้านคนตามลำดับ ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.66 แสนล้านบาทแล้ว ขณะที่ในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมาก็มีรายได้มากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท

     THE STANDARD ชวนคุณมาดูกลยุทธ์ในการเดินหมากของพวกเขาว่า เพราะเหตุใดบริการสตรีมมิงมิวสิกจากประเทศสวีเดนรายนี้ ที่แม้จะไม่ได้โดดเด่นด้านการเป็นฐานทัพอุตสาหกรรมการผลิตเสียงดนตรีเหมือนเช่นสหรัฐอเมริกา แต่กลับมียอดผู้ใช้บริการแซงหน้าสตรีมมิงมิวสิกรายอื่นๆ และทะยานตัวเองขึ้นมาเป็นแนวหน้าในตลาดนี้ได้อย่างน่าสนใจ

 

Photo: Pixabay

 

‘Spotify’ บริการสตรีมมิงมิวสิกจากประเทศสวีเดนที่ให้บริการนานนับ 9 ปี กับที่มาของชื่อเรียกสุดพิลึก

     เปิดปฏิทินย้อนกลับไปเมื่อปี 2006 ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน สองคู่หู่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอย่าง แดเนียล เอ็ก (Daniel Ek) และมาร์ติน โลเรนต์ซอน (Martin Lorentzon) มีความคิดริเริ่มอยากจะเปิดสตาร์ทอัพสตรีมมิงมิวสิกเป็นของตัวเอง เดิมทีเอ็กเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของเกมแต่งตัวตุ๊กตา ‘Stardoll’ ส่วนโลเรนต์ซอนเองก็เคยมีประสบการณ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทการตลาดดิจิทัล Tradedoubler มาก่อน

     ครั้งหนึ่งเอ็กเคยเล่าถึงความตั้งใจที่อยากทำบริการสตรีมมิงมิวสิกว่ามาจากการที่ประเทศสวีเดนมีบริการเสพสื่อความบันเทิงที่ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่มากมาย แต่ตัวเขาเองไม่ยินดียินร้าย เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกต้อง

     “ผมตัดสินใจว่า ผมอยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วตัวผมเองก็มีแพสชันตอนที่โตมาอยู่ 2 สิ่งคือ เสียงดนตรีและเทคโนโลยี ครั้งหนึ่งผมเคยเข้าไปเล่นในวง แต่ด้วยความสามารถของตัวเองที่ยังไม่สู้ดีนัก มันจึงไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร หลังจากนั้นผมจึงเริ่มเปิดบริษัทขึ้นมา และเมื่อวันหนึ่งมาถึง ผมก็รวมแพสชันทั้งสองอย่างของตัวเองเข้าด้วยกัน จนออกมาเป็น Spotify ในที่สุด”

     เมื่อมีประสบการณ์และความพร้อมเต็มที่ ทั้งคู่จึงระดมสรรพกำลัง ความคิด และไอเดียต่างๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับบริการสตรีมมิงมิวสิกของพวกเขาอย่างเป็นระวิงในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ก่อนที่ในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2008 เอ็กและโลเรนต์ซอนจะเปิดให้บริการสตรีมมิงมิวสิกในชื่อ Spotify อย่างเป็นทางการได้เป็นผลสำเร็จ

     พูดถึงชื่อเรียก หลายคนคงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าทำไมต้องเป็น Spotify? เอ็กได้เปิดเผยเรื่องเล่าสุดตลกของที่มาชื่อ Spotify ว่า เกิดจากการที่เขาและโลเรนต์ซอนแยกห้องในอพารต์เมนต์เพื่อทำสมาธิในการคิดหาไอเดียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในบริการสตรีมมิงของตัวเอง ก่อนจะแชร์ไอเดียเหล่านั้นผ่านการตะโกนข้ามห้อง

     เมื่อมาถึงขั้นตอนการตั้งชื่อ เอ็กดันเข้าใจผิดได้ยินว่าโลเรนต์ซอนตะโกนคำว่า ‘Spotify’ ออกมา เมื่อเข้าใจว่าเป็นชื่อสุดแจ่มที่คู่หูตั้งให้ เขาจึงไม่รอช้ารีบเข้าไปเสิร์ชชื่อดังกล่าวในเว็บไซต์ Google ทันที กระทั่งเห็นว่าเป็นชื่อที่ยังไม่มีใครใช้จึงจัดแจงตั้งเป็นชื่อบริษัทอย่างรวดเร็ว ภายหลังเอ็กและโลเรนต์ซอนสารภาพว่า พวกเขารู้สึกเขินอยู่ไม่น้อยเมื่อต้องเล่าถึงที่มาของชื่อบริษัทว่าเกิดจากโสตประสาทที่เพี้ยน ทั้งคู่จึงด้นสดตอบไปว่าเป็นชื่อที่ประสมกันระหว่างคำว่า ‘Spot’ และ ‘Identify’ อยู่เสมอ

 

กลยุทธ์ 3 ประการในการเจาะตลาดของ Spotify โดยแดเนียล เอ็ก

     หากนับจนถึงปัจจุบัน Spotify ก็มีพื้นที่ให้บริการมากกว่า 61 ประเทศแล้ว โดยประเทศล่าสุดคือไทยของเรานั่นเอง ขณะที่ยอดผู้ใช้บริการก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลที่ระบุว่าในปี 2011 พวกเขายังมียอดผู้ใช้บริการแบบเสียเงิน (Subscribers) อยู่ที่ 2 ล้านคนเท่านั้น แต่ให้หลังปีเดียว พวกเขาก็มียอดผู้ใช้บริการแบบเสียเงินเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าอยู่ที่ 4 ล้านคน ส่วนในปี 2013 ยอดผู้ใช้บริการแบบเสียเงินก็เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน กระทั่งในปี 2017 นี้ Spotify ก็มียอดผู้ใช้บริการแบบเสียเงินคิดเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าตัวหรือประมาณ 60 ล้านคนแล้ว

     เอ็กเคยกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของ Spotify ว่ามีทั้งหมด 3 ประการ โดยเคล็ดลับลำดับแรกสุดคือ ‘การเลือกเจาะตลาดระดับแคบ’ ในประเทศสวีเดนก่อน เนื่องจากเขารู้ดีว่าถ้าเริ่มต้นด้วยการเจาะตลาดขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเป็นลำดับเเรก ผลตอบรับก็อาจจะไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งหลังจากที่กรุยทางตลาดในสวีเดนได้แล้ว เจ้าตัวจึงค่อยๆ ขยายไปยังประเทศอื่นในโซนยุโรป เช่นในปี 2009 ที่ไปตีตลาดสหราชอาณาจักร ก่อนที่ในปี 2011 Spotify จะเริ่มเป็นที่รู้จัก แล้วถึงจะเลือกเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาในที่สุด

     เคล็ดลับลำดับที่ 2 คือการให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นหรือไม่สนใจ เช่นความคิดในการสร้างโลกดนตรีและการฟังเพลงบนอากาศตั้งแต่ยุคที่สตรีมมิงมิวสิกยังไม่เป็นที่นิยม

     ส่วนเคล็ดลับข้อสุดท้าย เอ็กบอกว่า คือการดำเนินทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายกับอุตสาหกรรมค่ายเพลง เหมือนที่ในปี 2008 Spotify ประกาศเซ็นสัญญากับค่ายเพลงชั้นนำอย่าง Universal Music Group, Sony BMG, EMI Music, Warner Music Group, Merlin, The Orchard และ Bonnier Amigo เพื่อนำเพลงยอดนิยมทั้งหลายมาบรรจุไว้ในบริการของพวกเขาให้ถูกลิขสิทธิ์

 

 

จุดเด่นคือ ‘ความใจป้ำ’ ที่ไม่ต้องเสียเงินก็ใช้บริการได้แบบฟรีๆ

     Spotify เปิดตัวด้วยการเป็นบริการสตรีมมิงมิวสิกแบบฟรีเมียม (Freemium) กล่าวคือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่ายเงินก็สามารถใช้บริการได้แบบฟรีๆ ช่วยให้ผู้บริการหน้าใหม่มีโอกาสได้ทดลองใช้และรู้จักบริการของพวกเขาก่อนตัดสินใจสมัครบริการพรีเมียมแบบเสียเงินในลำดับต่อไป

     หรือจะไม่ยอมเสียเงินเลยสักบาท แล้วใช้บริการแบบฟรีต่อไปภายใต้ฟีเจอร์ที่จำกัด เช่น ไม่สามารถเลือกเพลงที่ต้องการฟังได้ ต้องเล่นแบบสุ่ม (Shuffle) เท่านั้น, เล่นเพลงแบบออฟไลน์ไม่ได้ และไม่สามารถกดข้ามโฆษณาหรือเลือกกดเร่งเพลงได้เลย เป็นต้น

     ฟีเจอร์การใช้บริการฟรีของพวกเขาในรูปแบบนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของใครหลายคนในช่วงที่ข้าวยากหมากแพงและอยากใช้บริการสตรีมมิงมิวสิกฟังเพลงใหม่ๆ ที่หลากหลายโดยไม่ต้องเสียเงินสักบาทได้ และในขณะเดียวกัน ยอดผู้ใช้งานที่สมัครใช้บริการแบบพรีเมียมเสียเงินก็ไม่ได้ลดลงไปเลยด้วยซ้ำ ตรงกันข้าม พวกเขากลับมียอดผู้ใช้งานทั้ง 2 ประเภทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

 

Photo: spotifyforbrands

 

หารายได้นอกเหนือจากค่าบริการด้วยโฆษณาต่างๆ

     ค่าสมัครสมาชิกบริการ Spotify แบบพรีเมียมเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 129 บาทต่อเดือน โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการเล่นไฟล์เพลงคุณภาพเสียงระดับสูงที่ 320 kbps (มากกว่า Apple Music ที่ 256 kbps) นอกจากนี้ก็ยังมีบริการแบบครอบครัวที่สนนราคา 199 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถใช้ได้สูงสุดถึง 6 คน

     แต่ลำพังจะหวังรายได้จากการเก็บค่าสมาชิกเพียงอย่างเดียวก็อาจจะทำเงินได้ไม่มหาศาลตามที่ตั้งเป้าไว้ เพราะแค่ค่าสัญญาและค่าตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้ศิลปิน ค่ายเพลงแต่ละราย ก็น่าจะมีจำนวนสูงมากพอตัว พวกเขาจึงต้องคิดหาโมเดลธุรกิจที่จะทำให้บริการของพวกเขาดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด แม้จะเป็นบริการแบบฟรีเมียมก็ตาม

     ดังนั้น Spotify จึงดำเนินการหาแบรนด์ต่างๆ มาร่วมลงโฆษณาในช่องทางของตัวเอง โดยที่ผู้ใช้งานแบบฟรีเมียมเท่านั้นที่จะพบกับโฆษณาดังกล่าวและไม่สามารถกดข้ามได้ และปัจจุบันก็มีการระบุว่าใน Spotify มีแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจลงโฆษณามากถึง 3,500 แบรนด์ทั่วโลก โดยโฆษณาทั้งหลายจะปรากฏในรูปแบบต่างๆ ทั้งวิดีโอ,​ เสียง, แบนเนอร์ภาพในหน้าต่างๆ ของตัวแอปพลิเคชัน, เพลย์ลิสต์พิเศษ เป็นต้น

     รวมถึงฟีเจอร์ ‘คอนเสิร์ต’ ที่จะแสดงผลงานคอนเสิร์ตต่างๆ ของศิลปินตามแต่ละท้องถิ่นที่จะจัดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ พร้อมลิงก์ในการกดซื้อตั๋วได้ทันที ทั้งยังมีเพลงของศิลปินเหล่านั้นให้ฟังอีกด้วย ซึ่งต่อไปในอนาคตฟีเจอร์คอนเสิร์ตนี้ก็น่าจะเป็นช่องทางในการทำเงินให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี

     ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ SoundCloud ผู้ให้บริการสตรีมมิงมิวสิกแบบฟรีเมียมอีกเจ้าที่กำลังเผชิญวิกฤตหนักก็พอจะทำให้พบความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าทำไมฟรีเมียมอย่าง Spotify ถึงโตวันโตคืนเช่นนี้

ครอบคลุมการใช้งานให้มากที่สุดด้วยการขยายไปในทุกแพลตฟอร์มที่พอจะไปถึง ไม่เว้นแม้แต่เกมคอนโซล!

     แม้จะฟังดูเป็นวิธีที่ไม่สลับซับซ้อนใดๆ เอาเสียเลย กับการกระจายบริการของตัวเองเข้าไปครอบคลุมทุกไลน์ ทุกแพลตฟอร์มการใช้งานของผู้บริโภคให้มากที่สุด แต่หากมองในเชิงความเป็นจริง ด้วยปัญหาที่บริการจำพวกสตรีมมิงมีเดียเหล่านี้ไม่ได้มีฮาร์ดแวร์หรือช่องทางเป็นของตัวเอง สิ่งที่ผู้ให้บริการสตรีมมิงจะต้องทำนั่นก็คือการยัดเอาบริการและโปรแกรมของพวกเขาส่งตรงไปถึงมือผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

     วิธีที่ Spotify เลือกทำจึงเป็นการส่งตรงซอฟต์แวร์ Spotify และบริการการฟังเพลงแบบสตรีมมิงของพวกเขาให้ครอบคลุมการใช้งานของผู้บริโภคอย่างเราๆ ในหลากหลายช่องทาง

     เริ่มต้นตั้งแต่บนระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ต่างๆ ทั้ง Microsoft MacOS หรือ Linux ระบบปฏิบัติการบนสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น iOS, Android, Windows Phone, สมาร์ตทีวี และลำโพงต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เครื่องเล่นเกมคอนโซลอย่าง PlayStation 3 และ PlayStation 4 ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้ให้บริการสตรีมมิงมิวสิกเจ้าอื่นๆ ไม่ได้เลือกเจาะตลาด

     โดยผู้ใช้ที่เล่นเกมจากเครื่องคอนโซล PlayStation 3 และ PlayStation 4 จะสามารถฟังเพลงจาก Spotify ในระหว่างที่เล่นเกมหรือเกมโหลดได้ นับเป็นวิธีคิดของการขยายแพลตฟอร์มที่ล้ำหน้าและทำให้พวกเขาสามารถจับกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย

อัลกอริทึมประมวลผลการจัดเพลงลงเพลย์ลิสต์ที่ชาญฉลาด และการสร้างซาวด์แทร็กประกอบทุกช่วงเวลาของชีวิต

     หนึ่งในไม้ตายก้นหีบของ Spotify ที่ทำให้สตรีมมิงมิวสิกของพวกเขาเป็นที่รักและกวาดคะแนนนิยมจากผู้ใช้งานจำนวนมากคือความสามารถของอัลกอริทึมในการประมวลผลจัดเพลย์ลิสต์เพลงต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด

     ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเลือกเพลงลงเพลย์ลิสต์ของตัวเอง อัลกอริทึมจะทำการประมวลผลเพลงที่มีแนวดนตรีและประเภทที่ใกล้เคียงกับเพลงที่คุณเลือกไว้สูงสุดถึง 10 เพลงเพื่อให้คุณยัดลงเพลย์ลิสต์นั้นๆ ได้ทันที ทั้งยังมีเพลย์ลิสต์ที่จัดตามประเภทของเพลงและมู้ดอารมณ์ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาอีกด้วย

     นอกจากนี้ความพิเศษยังอยู่ที่เพลย์ลิสต์สำหรับการ ‘วิ่ง’ ที่จะมีฟีเจอร์การวัดจังหวะการวิ่งด้วยอัตราการก้าวต่อนาทีซึ่งเพลงในเพลย์ลิสต์ก็จะเปลี่ยนไปตามจังหวะการวิ่งช้าเร็วของผู้ใช้งานด้วย รวมถึงเพลย์ลิสต์ทุกๆ ช่วงจังหวะของชีวิต เช่น เพลย์ลิสต์เวลาเล่นเกม, เพลย์ลิสต์เวลานอน หรือเพลย์ลิสต์ยามดินเนอร์

     ที่ Spotify มีฟีเจอร์มากมายเช่นนี้ เป็นเพราะเอ็กต้องการสร้าง ‘ซาวด์แทร็กประกอบทุกช่วงเวลาของชีวิตของผู้ใช้งาน’ เขาบอกว่า “สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นคือการทำให้บริการของพวกเราเข้าไปอยู่ในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิตผู้ใช้งานตัวอย่างเช่นช่วงเวลาเข้านอน ที่ในทุกๆ วันมีผู้ใช้งานเป็นล้านๆ คนฟัง Spotify ระหว่างนอนหลับ และในอนาคตอันใกล้นี้ เราก็จะนำดนตรีและสื่อต่างๆ เข้าไปอยู่ในทุกๆ ช่วงชีวิตของผู้ใช้งานมากขึ้นด้วย”

     ในยุคที่บริการสตรีมมิงมิวสิกกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนเฟื่องฟูเช่นนี้ ผลพลอยได้ที่ผู้ให้บริการและศิลปินได้รับนอกเหนือจากเงินรายได้คือการอุดหนุนผลงานที่ถูกลิขสิทธิ์ของเจ้าของผลงาน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในความตั้งใจของแดเนียล เอ็ก ในการสร้าง Spotify ขึ้นมา

     แต่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีอย่างเดียว เพราะ Spotify ก็มีช่องโหว่บางประการสืบเนื่องจากการที่พวกเขาให้ค่าตอบแทนกับตัวศิลปินเจ้าของผลงานต่ำ โดยต่อการเปิดเล่นเพลง 1 ครั้ง ศิลปินรายดังกล่าวจะได้ค่าตอบแทนคิดเป็นแค่ 0.0038 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 0.13 บาทเท่านั้น นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้พวกเขาเกิดกรณีพิพาทกับนักร้องสาวป๊อปชื่อดังอย่างเทย์เลอร์ สวิฟต์ จนเธอตัดสินใจไม่ขอร่วมงานกับ Spotify อีกต่อไป เนื่องจากมองว่าสตรีมมิงมิวสิกจากสวีเดนให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมต่อศิลปิน ซึ่งก็พอจะทดแทนด้วยเพลงจำนวนกว่า 30 ล้านเพลงและพอดแคสต์หลายรายการได้บ้าง

     เอ็กเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2012 ไว้ว่า “มีผู้คนจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านคนที่ฟังเพลงออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่ในจำนวนดังกล่าวก็ไม่ได้อุดหนุนผลงานเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย แต่ถ้าเราสามารถดึงคนเหล่านั้นมาใช้บริการที่ถูกกฎหมายหรือแม้แต่ Spotify เองก็ดี ส่ิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การที่เราจะขยายอุตสาหกรรมเพลงให้เพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัว ทั้งยังช่วยให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพลงใหม่ๆ ที่ยอดเยี่ยมได้อีกด้วย

     “เราอยากจะนำเสียงดนตรีไปสู่คนทุกคน และทุกๆ ช่วงเวลาในชีวิตของพวกเขา”

     หลังการเพาะบ่มประสบการณ์อย่างหนักมานานกว่า 9 ปี ดูท่าว่า Spotify จะไปได้สวยกับเส้นทางสายสตรีมมิงมิวสิกของพวกเขาไม่น้อยเลย ซึ่งหลังจากนี้เป็นต้นไปสิ่งที่พวกเขาต้องทำก็คือ การยืนระยะในตลาดนี้ให้ได้อย่างแข็งแกร่งให้นานมากที่สุดด้วยฟีเจอร์และบริการต่างๆ ที่จะถูกปรับปรุงเพิ่มเติมมาตลอดเวลา

     เช่นเดียวกัน เมื่อถึงยุคที่เทคโนโลยีของเสียงเพลงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ พวกเขาก็ต้องพร้อมรับมือปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย

 

อ้างอิง:

FYI
  • ผู้ใช้งานแต่ละคนจะใช้งาน Spotify เพื่อฟังเพลงเฉลี่ยวันละประมาณ 148 นาที
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising