×

ไฟแนนเชียลแฟร์เพลย์ ยุติธรรมสำหรับใคร? เมื่อทีมฟุตบอลเตรียมถูกสอบสวนการใช้เงิน

04.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป ออกแถลงการณ์ เตรียมสอบสวนการใช้เงินของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่จ่ายค่าตัวเนย์มาร์ไปทั้งหมด 198 ล้านปอนด์ และเซ็นสัญญายืมตัวพร้อมกับสัญญาซื้อขาดที่ 180 ล้านปอนด์ กับ คีเลียน เอ็มบัปเป ศูนย์หน้าดาวรุ่งชาวฝรั่งเศส
  • ปารีสฯ ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ FFP หรือ Financial Fair Play ของยูฟ่าทุกอย่าง
  • สัญญาของเนย์มาร์ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่สโมสรจ่ายเงินให้กับสโมสรเพื่อฉีกสัญญานักเตะและคว้าตัวไปร่วมทีม แต่ดีลนี้เกิดขึ้นจากการที่เอเยนต์ของเนย์มาร์ขนเงินจำนวน 198 ล้านปอนด์ไปจ่ายให้กับบาร์เซโลนา สโมสรต้นสังกัด เพื่อฉีกสัญญาตัวเอง ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจไม่ได้อยู่ภายใต้กฎระเบียบของ FFP แต่อย่างใด

     เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ได้แถลงข่าวเตรียมสอบสวนการใช้เงินของสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง สโมสรชั้นนำจากลีกเอิง ฝรั่งเศส ซึ่งมีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนจากกาตาร์ ประเทศเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022

     โดยปารีส แซงต์ แชร์กแมง ถูกเพ่งเล็งจากหลายฝ่าย หลังจากที่ได้จ่ายเงินจำนวน 198 ล้านปอนด์ เพื่อคว้าตัวเนย์มาร์มาร่วมทีม ต่อด้วยการเซ็นสัญญายืมตัวและซื้อขาดในฤดูกาลหน้า มูลค่า 180 ล้านปอนด์ กับ คีเลียน เอ็มบัปเป ทำให้สองดีลนี้มีมูลค่ารวมกันกว่า 378 ล้านปอนด์ และหลายคนเกิดความสงสัยว่า สโมสรปารีสฯ จะยังคงอยู่ในกรอบของกฎ Financial Fair Play ได้อย่างไร ในเมื่อกติกาของกฎ FFP นี้คือสโมสรต้องมีรายได้มากกว่ารายรับ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับสโมสรและลีกในทวีปยุโรป

 

Photo: Fabrice Coffrini/AFP

FFP คืออะไร

     กฎ Financial Fair Play ถูกนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2010 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สโมสรในยุโรปสามารถบริหารรายรับ-รายจ่ายอย่างมั่นคง โดยกฎนี้บังคับให้แต่ละสโมสรต้องมีรายรับมากกว่าค่าใช้จ่ายทางการบริหารสโมสร โดยค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ประกอบไปด้วย

     ค่าขายตั๋ว / เงินที่ได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน / รายได้จากผู้สนับสนุน / เงินรางวัล และการซื้อขายนักเตะ

     แต่ยูฟ่าได้มีข้อยกเว้นว่า สโมสรสามารถใช้เงินเกินรายรับได้ประมาณ 5 ล้านยูโร หรือประมาณ 3.9 ล้านปอนด์ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นใช้กฎได้มีข้อยกเว้นสำหรับรายการขาดทุนในแต่ละปี โดยตั้งแต่ปี 2014-15 แต่ละทีมจะสามารถขาดทุนได้ไม่เกิน 45 ล้านยูโรต่อปี และในระหว่างปี 2015-2018 แต่ละทีมจะขาดทุนได้ไม่เกิน 30 ล้านยูโร โดยในจำนวนเงินที่ขาดทุนนั้น เจ้าของสโมสรต้องสามารถชดเชยจำนวนเงินดังกล่าวได้

 

Photo: Franck Fife/AFP

หากละเมิดกฎ FFP ล่ะ?

     ที่ผ่านมามีทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ต่างก็เคยได้รับบทลงโทษจาก FFP มาแล้ว โดยบทลงโทษของ FFP ประกอบไปด้วย คำเตือน ค่าปรับ ยึดเงินรางวัล แบนการซื้อขายนักเตะ ตัดคะแนน ตัดสิทธิ์การลงทะเบียนนักเตะใหม่ และลดจำนวนนักเตะที่สามารถส่งรายชื่อเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และยูโรปาลีก

     โดยที่ผ่านมามีทั้งหมด 9 สโมสรที่เคยละเมิดข้อบังคับของกฎ FFP มาแล้ว เช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยถูกปรับเงินจำนวน 49 ล้านปอนด์ และถูกกำหนดจำนวนเงินในการซื้อขายนักเตะ รวมถึงสามารถส่งชื่อนักเตะเข้าร่วมแข่งขันได้เพียง 21 คนเท่านั้นในฤดูกาล 2014/15

     ขณะที่ปารีสฯ ได้รับบทลงโทษที่คล้ายกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เนื่องจากพวกเขาไม่ผ่านการตรวจสอบของ FFP เพราะ The Club Financial Control Body (CFCB) ที่จัดตั้งขึ้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มองว่างบประมาณสนับสนุนจำนวน 167 ล้านปอนด์ จาก Qatar Tourism Authority ที่ช่วยให้พวกเขาปลดล็อกหนี้ของสโมสรได้สำเร็จ ดูจะเป็นมูลค่าการสนับสนุนที่เกินจริง  

 

Photo: Lional/AFP

PSG ดู ‘ตกใจ’ แต่ไม่กังวลเพราะอะไร

     จากรายงานที่เกิดขึ้นว่าทางยูฟ่าเตรียมตรวจสอบการใข้เงินของสโมสรปารีสฯ ได้ออกแถลงข่าวยอมรับว่ารู้สึกตกใจ แต่ก็ยืนยันว่าทางสโมสรได้ประสานงานกับคณะกรรมการของ FFP อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการละเมิดข้อกำหนดเกิดขึ้น

     และสิ่งที่ทีมปารีสฯ ได้ทำคือการศึกษากฎระเบียบของ FFP อย่างใกล้ชิด โดยจากรายงานระบุว่า สัญญาของเนย์มาร์ระบุไว้ว่า เนย์มาร์มีสิทธิ์จะซื้อสัญญาตัวเองได้ด้วยเงินจำนวน 200 ล้านยูโร หรือประมาณ 183 ล้านปอนด์ แต่สิ่งที่บาร์เซโลนา และ FFP คาดไม่ถึงคือกฎการป้องกันสัญญาทาสกับสโมสรต้นสังกัด ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเตะสามารถจ่ายเงินค่าฉีกสัญญาตัวเองได้ และนั่นก็เป็นช่องโหว่ที่ปารีสฯ เห็น

     โดยจากรายงานข่าวที่เกิดขึ้นวันนี้ แม้ว่าหัวข้อข่าวส่วนใหญ่จะรายงานว่า ปารีสฯ สร้างสถิติโลกใหม่ด้วยการซื้อตัวนักเตะ 198 ล้านปอนด์ แต่หากหลายๆ คนตามสถานการณ์ในวันที่มีการฉีกสัญญาเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดจะเห็นรายงานว่า คนนำเงินมาจ่ายค่าฉีกสัญญาคือ วากเนอร์ ริเบโร เอเยนต์ส่วนตัวของเนย์มาร์ ส่งผลให้เนย์มาร์เป็นผู้จ่ายเงินฉีกสัญญาของตัวเองมาร่วมทีมปารีสฯ

     จากการเกิดดีลการซื้อนักเตะในลักษณะนี้ขึ้นถือว่าไม่ผิดกฎในขณะนี้ เนื่องจากค่าตัวของเนย์มาร์ไม่ได้อยู่ในค่าใช้จ่ายของสโมสรตามที่ FFP ระบุแต่อย่างใด โดยสโมสรที่รู้ตัวทันและเรียนรู้จากดีลนี้ได้ก่อนคือ เรอัล มาดริด ที่เตรียมเซ็นสัญญาใหม่กับ มาร์โก อเซนซิโอ ดาวรุ่ง วัย 21 ปี โดยเพิ่มค่าฉีกสัญญาสูงถึง 500 ล้านยูโร เพื่อป้องกันสโมสรอื่นใช้วิธีการฉีกสัญญาเหมือนเนย์มาร์

     ซึ่งเชื่อว่าจากสถานการณ์ในขณะนี้ ทางยูฟ่าที่กำลังตรวจสอบการใช้เงินของปารีสฯ อาจจะยังไม่พบการละเมิดกฎแต่อย่างใด แต่เชื่อว่าทางคณะกรรมการจะพิจารณาการปรับปรุงกฎกติกาเพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคต

 

 

     การมีกฎ FFP นั้นถือว่าเป็นข้อดีสำหรับการสร้างระเบียบวินัยในการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของสโมสรและลีก รวมถึงเป็นการสร้างความยุติธรรมให้กับสโมสรขนาดเล็กถึงขนาดกลางให้มีโอกาสคว้าตัวนักเตะที่ต้องการในราคาที่ไม่สูงขนาดที่สามารถซื้อเครื่องบินโดยสารได้หลายลำพร้อมๆ กัน

     แต่ในขณะเดียวกันตั้งแต่เริ่มต้นใช้ FFP ขึ้นมา ดูเหมือนว่าแต่ละสโมสรยังคงหาช่องโหว่ในการซื้อตัวนักเตะด้วยเม็ดเงินมหาศาล โดยไม่มีบทลงโทษตามมา

     ในวงการฟุตบอลปัจจุบัน ถือเป็นข่าวดีสำหรับแฟนลูกหนังที่มีเม็ดเงินมหาศาลไหลเข้ามาสู่สนามที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความสนุกให้แฟนกีฬาทั่วโลก แต่เมื่อจุดประสงค์ของเม็ดเงินนั้นไม่ได้มาเพื่อเป้าหมายของความเป็นเลิศในสนาม ก็น่าสนใจว่าเรายังจะเรียกฟุตบอลว่า The Beautiful Game อยู่อีกหรือไม่

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising