×

Spectrosynthesis II นิทรรศการขับเคลื่อนพลัง LGBTQ ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ปลายปีนี้

11.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ถอดรหัสชื่อออกเสียงยากของ ‘Spectrosynthesis II’ นิทรรศการศิลปะประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ ที่จะจัดแสดงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ถึง 1 มีนาคม 2563 ที่หอศิลปกรุงเทพฯ
  • นิทรรศการนี้จัดสืบเนื่องจากนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ ที่จัดขึ้นครั้งแรกในเอเชียที่ชื่อ ‘Spectrosynthesis – Asian LGBTQ Issues and Art Now’ โดยมีมูลนิธิซันไพรด์เป็นผู้บุกเบิก

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับกลุ่ม LGBTQ จากในภาพยนตร์หรือซีรีส์หลายๆ เรื่อง แต่ครั้งนี้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจะทำให้คุณได้เข้าใจเรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น ผ่านผลงานศิลปะบนเฟรมผ้าใบที่สะท้อนเนื้อหาความหลากหลายทางเพศและมุมมองการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมเอเชียจาก 50 ศิลปินที่จะทำให้คุณได้สัมผัสกับความแตกต่างของชีวิตมากขึ้น

 

ผลงานของ เรน หาง ศิลปินจากประเทศจีน

 

นิทรรศการ ‘Spectrosynthesis II’ ครั้งนี้จัดสืบเนื่องมาจากนิทรรศการแรกซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ ที่จัดขึ้นครั้งแรกในเอเชียอย่าง ‘Spectrosynthesis – Asian LGBTQ Issues and Art Now’ ซึ่งมีมูลนิธิซันไพรด์เป็นผู้บุกเบิกและนำเสนอเนื้อหาในประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ สู่สังคม โดยจัดแสดงขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน และในครั้งนี้มูลนิธิซันไพรด์ได้จับมือกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อถ่ายทอดผลงานสู่สายตาชาวไทยในกรุงเทพฯ เมืองที่ใครๆ ก็ว่าเปิดเสรีเรื่องเพศมากกว่าประเทศอื่นในเอเชียกันบ้าง

 

‘Spectrosynthesis’ หรือ ‘สัปตสนธิ’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า Spectrum (สัปต) แปลว่าสีของรุ้ง และ Photosynthesis (สนธิ) แปลว่าการเชื่อมโยงหรือการสังเคราะห์ เมื่อนำมารวมกันจึงเกิดเป็นแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ที่ต้องการสังเคราะห์แสงสีรุ้งให้เกิดผลงานออกมา สร้างพลังในการขับเคลื่อน และเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม LGBTQ ผ่านศิลปะหลายสาขานั่นเอง

 

ผลงานของศิลปินชาวไทย ไมเคิล เชาวนาศัย

 

ความน่าสนใจของนิทรรศการอยู่ที่ผลงานที่ใช้จัดแสดงที่มีความแตกต่างกันตามมุมมองและประสบการณ์ของศิลปินทั้งไทยและต่างชาติ เช่น ไมเคิล เชาวนาศัย, จักกาย ศิริบุตร, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์, ศรชัย พงษ์ษา, ดินห์ คิว เล (Dinh Q. Le) จากเวียดนาม, มาเรีย ทานิคูชิ (Maria Taniguchi) จากฟิลิปปินส์, หมิง หว่อง (Ming Wong) จากสิงคโปร์, ดันห์ หว่อ (Danh Vō) จากเวียดนาม, แอน ซามัต (Anne Samat) จากมาเลเซีย, สุนิล กุปตา (Sunil Gupta) จากอินเดีย, บัลเบียร์ กฤษาณ (Balbir Krishan) จากอินเดีย, เรน หาง (Ren Hang) จากจีน, โหวชุนหมิง (Hou Chun-Ming) จากไต้หวัน, ราเมช มาริโอ นิธิเยนดราน (Remesh Mario Nithiyendran) จากศรีลังกา, ไลโอเนล เวนดท์ (Lionel Wendt) จากศรีลังกา, มาร์ติน หว่อง (Martin Wong) จากอเมริกา และแซมสัน ยัง (Samson Young) จากฮ่องกง เป็นต้น

 

ผลงานของ สุนิล กุปตา จากอินเดีย และไมตรี ศิริบูรณ์ ศิลปินชาวไทย

 

ขณะที่หนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานอย่าง อริญชย์ รุ่งแจ้ง มองเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่ม LGBTQ เปรียบเสมือนปัญหาอื่นๆ ในสังคม ซึ่งมักถูกทำให้คิดว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหา จนกระทั่งวันหนึ่งได้กลายเป็นสิ่งที่ยากเกินจะแก้ อริญชย์ยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ถูกเพิกเฉยจากคนในครอบครัวเมื่อเปิดเผยตัวตนของตนเองว่า “เราถูกบอกให้คิดว่ามันเป็นเรื่องโอเค ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เคยมีขโมยขึ้นบ้านแล้วคนในบ้านเห็นหนังสือผู้ชายของผมกระจัดกระจาย แต่ตอนนั้นไม่มีใครพูดถึง แล้วแม่ก็ลาไปบวช หาจิตแพทย์ และไม่แตะเนื้อต้องตัวผมอีกเลย จนทุกวันนี้ผมยังรู้สึกแปลกที่สัมผัสตัวแม่ ผมเลยหันไปถ่ายทอดใส่ในงานศิลปะ พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ และโชคดีที่ผมหาทางออกเจอ แต่หลายคนอาจไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ดังนั้นผมจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสังคมมาสู่งานของผมที่เป็นเรื่องเล็กๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์”

 

หมิง หว่อง ศิลปินจากสิงคโปร์ก็เข้าร่วมด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนั้นนิทรรศการครั้งนี้ยังรวมไปถึงอีกหลายผลงานที่สะท้อนถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความแตกต่าง และความเป็นตัวเอง ทำให้เห็นนานาทัศนะของศิลปินแต่ละคนที่ต้องเผชิญกับวัฒนธรรมสังคมอันซับซ้อนและความเชื่อที่ขัดต่อความรู้สึกของพวกเขา โดยไมเคิล เชาวนาศัย เผยว่างานของเขาเป็นงานที่มีสีสันและใช้เรือนร่างของตัวเองเยอะ โดยพูดถึงงานที่จะนำเสนอว่า “ผมต้องการสื่อสารเรื่องสิทธิพื้นฐานของมนุษยชนเสียส่วนใหญ่ แล้วถ้าบังเอิญเรื่องของผมไปเกี่ยวกับเรื่องของคุณได้ นั่นก็ถือเป็นเรื่องดี ผมว่าคนไม่ค่อยพูดว่านี่เป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อตัวเอง แต่ผมกล้าพูดเต็มปากว่าผมทำขึ้นมาเพื่อตัวผม แต่ทำมาเป็นสิบปี ผมพบว่าก็มีคนที่เข้าใจและบอกกับผมว่ามันสื่อถึงตัวเขาด้วยเหมือนกัน แต่ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่นำเสนอหรือคำตอบของผมไม่ได้ตอบคำถาม มันอาจแปลว่าผมอาจจะลากเส้นไปมาให้ไปต่อได้ ไม่ได้อยู่ในกรอบที่ถูกสร้างขึ้นมา”

 

นิทรรศการสนทนาสัปตสนธิจะจัดแสดงขึ้นระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ถึง 1 มีนาคม 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลัก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 7 และชั้น 8 โดยภายในงานจะมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ โปรแกรมภาพยนตร์และศิลปะการแสดงสด เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินหลากหลายสาขาได้มีส่วนร่วมแสดงผลงานและขยายเวทีการนำเสนอให้แก่ผู้ชมในวงกว้างอีกด้วย

 

ภาพ: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X