×

6 คำแนะนำพาธุรกิจ SMEs ฝ่าวิกฤตโควิด-19 จาก รวิศ หาญอุตสาหะ

15.03.2020
  • LOADING...
ฝ่าวิกฤตโควิด-19

เมื่อ ‘ธุรกิจ SMEs’ เป็นอีกกลุ่มที่กำลังกังวลกับผลกระทบจากโควิด-19 รายได้ลด แต่รายจ่ายมีอยู่ทุกวัน ต้องทำอย่างไรจึงจะผ่านเรื่องนี้ไปได้

 

ในรายการพิเศษ ‘ฝ่าวิกฤตโควิด-19’ ของ THE STANDARD ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ มีคำแนะนำให้กับธุรกิจ SMEs 6 ข้อคือ 

 

1. เรื่องของคนในองค์กร หากสามารถให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) ก็ทำได้เลย โดยมีแนวทาง 4 ข้อที่ต้องดูหากต้องใช้วิธีนี้

 

  • เรื่องแรกต้องแยกให้ออกว่าใครสมควรที่จะ Work from Home เช่น หากเป็นกราฟิกก็สามารถให้ยกคอมพิวเตอร์ไปทำงานที่บ้านได้เลย แต่กลุ่มที่ทำไม่ได้ เช่น พนักงานที่ทำในคลังสินค้า หากมีคลังสินค้าหลายแห่ง ต้องห้ามให้พนักงานแต่ละแห่งมาเจอกัน ไม่อย่างนั้นเมื่อมีพนักงานที่ใดที่หนึ่งติดเชื้อ ที่อื่นจะสามารถทำงานต่อไปได้ ไม่ใช่ติดกันไปหมด
  • หลายคนอาจเข้าใจว่า Work from Home คือทำงานจากที่ไหนก็ได้ เช่น ในร้านกาแฟ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ การ Work from Home คือทำงานจากที่บ้านจริงๆ เพราะทำงานในที่สาธารณะอาจจะติดเชื้อได้
  • การ Work from Home ไม่ใช่วันหยุด แต่คือการทำงาน ต้องวางกฎระเบียบให้ดี
  • สุดท้าย ระบบของเราพร้อมไหม ต้องเตรียมเรื่องดิจิทัลให้พร้อม รวมถึงเรื่องการรับส่งเอกสารต่างๆ

 

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เราอาจจะได้บทเรียนจาก Work from Home เช่น ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องประชุมก็ได้ แค่ส่งอีเมลก็เพียงพอ

 

2. ปรับประเมินธุรกิจใหม่ทั้งหมด สิ่งที่ประเมินตั้งแต่เดือนมกราคมให้ทิ้งได้เลย สิ่งหลักๆ ที่ต้องดูในเวลานี้คือ ‘สภาพคล่อง’ แน่นอนในช่วงเวลานี้การขายของได้น้อยเป็นเรื่องปกติ เพราะคนอาจกังวลเรื่องโรคระบาด และไม่มีอารมณ์ที่จะมาจับจ่ายใช้สอย แค่ถ้าธุรกิจสามารถทำสภาพคล่องได้ดีก็จะผ่านเรื่องนี้ไปได้

 

คนที่จะเจ๊งไม่ใช่เพราะขายของไม่ได้ แต่ขาดสภาพคล่อง จึงต้องดูเรื่องเงินสดให้ดี หากใครมีหนี้ก็ต้องไปคุยกับธนาคารเพื่อช่วยกันหาทางออก 

 

3. คุยกับซัพพลายเออร์และลูกค้าอย่างใกล้ชิด ชนิดที่ไม่ใกล้ขนาดนี้มาก่อน เพื่อที่ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นจะได้ช่วยกันแก้ได้ทัน

 

4. ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ ให้หาคนในองค์กรเข้ามาร่วมทีม ไม่เอาคนนอก และตั้งหัวหน้า 1 คนให้สามารถตัดสินใจได้ทันที อย่าตั้งหลายคน ไม่อย่างนั้นการสื่อสารจะสับสน

 

5. ปรับโมเดลธุรกิจ อาจจะปรับขนาดของสินค้าหรือหันไปส่งแบบเดลิเวอรี เป็นต้น

 

6. อย่าตื่นตระหนก ค่อยๆ ตั้งสติ เพราะเมื่อไรก็ตามที่หัวหน้าตื่นตระหนก ทีมจะตื่นตระหนกมากกว่าหลายเท่าตัว สิ่งสำคัญที่หัวหน้าหรือเจ้าของควรทำคืออัปเดตเรื่องราวอย่างสม่ำเสมอ

 

“ครั้งนี้ต้องเผื่อใจจริงๆ ว่าจะเป็นปีที่ยากลำบาก สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในภาวะแบบนี้คือดูแลลูกค้าและคนในองค์กรให้ดี เพราะเมื่อสถานการณ์ผ่านไปแล้วจะมีความเข้าใจที่มากขึ้น โดยเฉพาะทีมที่หากไม่ดูแลให้ดี ถ้าวันหนึ่งเขามีทางเลือกจะเดินออกไปแน่นอน

 

“อีกเรื่องที่ต้องทำคือต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำตัวเองให้คลีนที่สุด ตัดสินใจให้เร็วที่สุด เรื่องอะไรที่มอนิเตอร์รายเดือนก็ควรปรับมาเป็นรายสัปดาห์ แต่ถ้าดูเป็นรายสัปดาห์ต้องดูเป็นรายวัน ตอนนี้เราต้องทำงานให้หนักขึ้น” รวิศกล่าวทิ้งท้าย

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising