×

วิกฤตการเมืองสเปน-กาตาลุญญา เดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

30.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วิกฤตการเมืองสเปน-กาตาลุญญา ดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 3 ศตวรรษ นับตั้งแต่กษัตริย์เฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน สามารถยึดครองบาร์เซโลนา เมืองสำคัญของแคว้นกาตาลุญญาได้ในปี 1714 พร้อมออกกฎหมายเพิกถอนสิทธิ์ในการปกครองตนเอง ส่งผลให้กลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราชในแคว้นกาตาลุญญาเริ่มเคลื่อนไหวนับตั้งแต่นั้นมา
  • ความโหดร้ายของเผด็จการฟรังโกที่ต่อต้านและปฏิเสธ ‘ความเป็นอื่น’ อย่างชัดเจน ส่งผลให้อัตลักษณ์ของชาวคาตาลันและสถาบันต่างๆ ถูกกลืนหายและทำลายลง มีชาวคาตาลันจำนวนมากต้องโทษประหารชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม
  • ภายหลังระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโกสิ้นสุดลง กลุ่มชาตินิยมคาตาลันยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อความฝันอันสูงสุดของตนเอง ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม กระแสชาตินิยม ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และความผันผวนทางการเมืองตลอดหลายทศวรรษนำไปสู่การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
  • จากมุมมองที่ต่างกันเรื่องการจัดลงประชามติในครั้งล่าสุด ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองในสเปนแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน โดยผู้นำกาตาลุญญาเดินหน้าประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ในที่สุด ก่อนที่รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดจะ ‘ทิ้งไพ่ไม้ตาย’ รื้อกระดานใหม่โดยการประกาศยุบสภากาตาลุญญา ปลดบรรดาผู้นำและคณะรัฐบาลท้องถิ่น พร้อมประกาศจัดการเลือกตั้งในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ เพื่อหวังจะเพิ่มโอกาสในการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในแคว้นแห่งนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง

     หากจะให้นับย้อนไปในอดีต หมุดหมายสำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกระแสชาตินิยมและเรียกร้องเอกราชของแคว้นกาตาลุญญามาจนถึงปัจจุบันคือชัยชนะของกษัตริย์ฟิลิเปที่ 5 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บูร์บงแห่งสเปน ที่สามารถยึดครองแคว้นกาตาลุญญา โดยเฉพาะเมืองสำคัญอย่างบาร์เซโลนาได้สำเร็จเมื่อปี 1714 พร้อมออกกฎหมายเพิกถอนสิทธิ์ในการปกครองตนเองที่มีแต่เดิม ส่งผลให้กลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราชในแคว้นกาตาลุญญาเริ่มเคลื่อนไหวนับจากนั้นมา

 

 

     ปี 1931 สาธารณรัฐสเปนที่ 2 ถูกสถาปนาพร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลกาตาลุญญาขึ้นใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Generalitat’ อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 1931 นี้ยังให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองแก่แคว้นต่างๆ อย่างเช่น แคว้นบาสก์ และแคว้นกาตาลุญญาอีกด้วย มีการกำหนดให้ภาษาคาตาลันเป็นภาษาราชการ รัฐบาลท้องถิ่นสามารถดูแลความสงบเรียบร้อย รวมถึงงานบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา เกิดกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเป็นคาตาลัน (Catalanization) ในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม รวมถึงการดำรงชีวิต

     ในปี 1932 ผู้นำแคว้นได้ร่างคำประกาศการปกครองตนเองของกาตาลุญญาฉบับแรกขึ้น ก่อนที่จะมีการลงประชามติรับรองคำประกาศนี้เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1931 (99% ของผู้มาใช้สิทธิ์ต่างลงคะแนนเสียงสนับสนุน) โดยรัฐบาลสเปนในขณะนั้นก็ได้รับรองผลประชามตินี้ในอีกราว 1 ปีต่อมา ซึ่งคำประกาศนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สำคัญที่ระบุถึงสิทธิของชาวคาตาลันที่จะสามารถตัดสินใจเลือกทางเดินของแคว้นตนเองได้ในอนาคต แม้ว่าคำประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้เพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก่อนที่จะถูกนายพลฟรังโกประกาศยกเลิกในที่สุด (1938)

 

 

ช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายของชาวคาตาลันภายใต้ระบอบเผด็จการฟรังโก

     สเปนภายใต้การบริหารงานของนายพลฟรังโก ให้ความสำคัญกับความเป็นเอกภาพภายในชาติ ต่อต้านชาตินิยมของบรรดาแคว้นต่างๆ ที่ต้องการจะแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน รวมถึงไม่เห็นด้วยกับกระบวนการประชาธิปไตย ส่งผลให้ประชาชนเฉื่อยชาต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง

     ในช่วงเวลานี้ กลุ่มชาตินิยมคาตาลันถูกปราบปรามอย่างหนัก สิทธิในการปกครองตนเองต่างๆ ถูกลิดรอน มีความพยายามกลืนและทำลายสถาบันต่างๆ รวมถึงอัตลักษณ์ของความเป็นคาตาลันด้วยวัฒนธรรมกระแสหลักจากกรุงมาดริด อีกทั้งยังมีชาวคาตาลันจำนวนมากถูกประหารชีวิตและได้รับโทษภายใต้ระบอบการปกครองที่กดขี่และไม่เป็นธรรมนี้

     ถึงแม้ว่าช่วงเวลาแห่งฝันร้ายของชาวคาตาลัน ภายใต้ระบอบเผด็จการที่ยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษนี้จะสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเสียชีวิตของนายพลฟรังโก (1975) แต่ความฝันสูงสุดที่อยากจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศของตัวเองก็ไม่เคยเลือนหายไปจากความคิดของผู้คนภายในแคว้นแห่งนี้

 

 

การเดินหมากครั้งใหม่เพื่อความฝันอันสูงสุดเริ่มขึ้นอีกครั้ง

     ในปี 2013 รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญาภายใต้การนำของประธานาธิบดีอาร์ตูร์ มัส ได้ออกมาประกาศถึงอำนาจอธิปไตยที่แคว้นกาตาลุญญามีสิทธิ์ในการเลือกเส้นทางของตนเองในอนาคต ก่อนที่ศาลสเปนจะมีคำตัดสินให้คำประกาศดังกล่าวไม่มีผลทางกฎหมายในปีต่อมา

     ถึงกระนั้น ประธานาธิบดีอาร์ตูร์ มัส ผู้นำแคว้น ยังคงเดินหน้าจัดลงประชามติขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2014 เพื่อฟังเสียงประชาชนในประเด็นการขอแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จากการลงประชามติเมื่อ 3 ปีก่อนที่สนับสนุนการประกาศเอกราชจะสูงถึง 80-90% แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมดภายในแคว้นแล้วยังถือว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ ทางด้านรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดเองก็ไม่ได้รับรองผลประชามติตั้งแต่ต้น (ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย) แม้ว่าจะอนุญาตให้มีการจัดลงประชามติขึ้นก็ตาม

 

     ช่วงปลายสมัยของประธานาธิบดีอาร์ตูร์ มัส ราวปี 2015 มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ปรับทัพ และจัดให้มีการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นใหม่อีกครั้ง โดยพรรครัฐบาลท้องถิ่นเดิมร่วมมือกับพรรคฝ่ายซ้ายจับมือกันจัดตั้งพรรคในนาม Junts pel Sí (รวมกันเพื่อแยก) ก่อนที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อช่วงต้นปี 2016 ส่งผลให้นายการ์เลส ปิกเดมองต์ ผู้นำของพรรคแนวร่วมนี้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญาในที่สุด

 

 

ประชามติที่(ไม่)ชอบธรรมจากมุมมองที่แตกต่าง

     ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม กระแสชาตินิยม ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และความผันผวนทางการเมืองตลอดหลายทศวรรษ นำไปสู่การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกาตาลุญญายืนยันว่าตนมีสิทธิ์ในการจัดประชามติในครั้งนี้ ในขณะที่รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดภายใต้การนำของนายมาริอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการลงประชามติที่เกิดขึ้นมิชอบด้วยกฎหมายและละเมิดรัฐธรรมนูญ ปี 1978 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

     โดยมีชาวคาตาลันกว่า 2.02 ล้านคน (ราว 43%) จากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกว่า 5.3 ล้านคนออกมาลงคะแนนครั้งนี้ แม้ผลคะแนนส่วนใหญ่กว่า 90% จะสนับสนุนให้มีการประกาศเอกราชจากสเปน แต่รัฐบาลกลางสเปนยืนยันว่าผลประชามตินี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ในขณะที่ประธานาธิบดีการ์เลสก็ออกมายืนยันเช่นกันว่า ตนจะเดินหน้าตามแนวทางของผลประชามติที่เกิดขึ้น

     และแล้ว 10 ตุลาคม 2017 ก็มาถึง วันที่ชาวคาตาลันต่างเฝ้ารอที่จะได้ยินผู้นำของเขาประกาศต่อประชาคมโลกว่า กาตาลุญญาได้ประกาศเอกราช(แต่เพียงฝ่ายเดียว)จากสเปนแล้ว โดยนายการ์เลสระบุว่า “พวกเราเดินทางมาถึงวินาทีประวัติศาสตร์ และผมในฐานะประธานาธิบดีแห่งกาตาลุญญา ขอใช้อำนาจประกาศผลการลงประชามติ ประชาชนได้ตัดสินใจแล้วว่ากาตาลุญญาต้องการที่จะกลายเป็นรัฐเอกราชที่ปกครองโดยรูปแบบสาธารณรัฐ”

     ก่อนที่ไม่กี่อึดใจต่อมา นายการ์เลสตัดสินใจเปลี่ยนแปลงท่าทีโดยได้ลงนามในคำประกาศเอกราชแล้ว แต่ขอยับยั้งผลของการประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อเริ่มต้นเจรจากับรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริด อีกทั้งยังเป็นการซื้อเวลาเพื่อช่วยกันหาทางออกที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่ายต่อไป แม้จะสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนนายการ์เลสบ้างก็ตาม

     แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสเปนยืนกรานที่จะไม่ขอเจรจาใดๆ กับรัฐบาลแคว้นกาตาลุญญา แม้จะใช้ตัวกลางในการเจรจาก็ตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวนำไปสู่คำถามจากทางรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลกาตาลุญญาประกาศเอกราช(แต่เพียงฝ่ายเดียว)แล้วหรือยัง ซึ่งคำตอบที่ได้จากผู้นำคาตาลันก็คลุมเครือมาโดยตลอด ก่อนที่รัฐบาลสเปนจะขู่ใช้อำนาจตามมาตรา 155 ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญประกาศยุบสภาและสั่งปลดรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นโดยตรง หากนายการ์เลสยังคงดึงดันจะเดินหน้าทำตามผลประชามติที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย นำพากาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนต่อไป

 

 

วินาทีประวัติศาสตร์ของกาตาลุญญากับอนาคตที่พร่ามัว

     สถานการณ์ในกาตาลุญญาเริ่มบานปลายขึ้นภายหลังจากที่ผู้นำท้องถิ่นคนสำคัญถูกจับกุมและตัดสินจำคุกกลายเป็นนักโทษทางการเมือง โทษฐานปลุกปั่นและสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นภายในชาติ ส่งผลให้ชาวคาตาลันจำนวนมากต่างออกมาเดินขบวนประท้วง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำท้องถิ่นเหล่านั้น ก่อนที่สภาท้องถิ่นกาตาลุญญาจะจัดประชุมสำคัญเพื่อพิจารณาประเด็นการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

     การ์เม ฟอร์กาเดล ประธานสภาแคว้นกาตาลุญญา ได้ประกาศว่า “สภาฯ มีมติลงคะแนนเสียงเพื่อประกาศเอกราช(แต่เพียงฝ่ายเดียว)จากสเปน ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 70 เสียง คัดค้าน 10 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง (82 คนจาก 135 ที่นั่งทั้งหมดในสภา)” นับเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญสำหรับชาวคาตาลันจำนวนมาก โดยพวกเขาได้ขยับเข้าใกล้ความฝันอันสูงสุดเข้าไปทุกทีๆ

     (ชาวคาตาลันจำนวนไม่น้อยต่างมองว่ากาตาลุญญาจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับสโลวีเนีย ที่ได้ลงประชามติและประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียว พร้อมระงับผลการประกาศนั้นเป็นการชั่วคราวและทำการเจรจากับฝ่ายต่างๆ ก่อนที่จะจัดตั้งประเทศและได้รับการรับรองในฐานะ ‘รัฐเอกราช’ ได้สำเร็จ โดยอาจลืมนึกถึงบริบทแวดล้อมที่ค่อนข้างแตกต่างกัน)

 

 

     แต่ดูเหมือนว่าความสุขมักจะจากเราไปอย่างรวดเร็วเสมอ วุฒิสภาสเปนมีมติอนุญาตให้รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดใช้อำนาจตามมาตรา 155 ต่อแคว้นกาตาลุญญาได้โดยตรง ซึ่งส่งผลให้มีการยุบสภาแคว้นกาตาลุญญา นายการ์เลสและคณะรัฐบาลแคว้น รวมถึงผู้นำท้องถิ่นคนสำคัญพ้นจากตำแหน่ง หากบุคคลทางการเมืองเหล่านี้ยังคงเดินหน้าสร้างความไม่สงบภายในประเทศอาจได้รับโทษและมีความผิดฐานกบฏ พร้อมทั้งยังประกาศให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้

 

 

     จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าการเมืองสเปนยังคงไร้ทางออกสำหรับทุกฝ่าย ประชาชนจากทั่วทั้งประเทศ ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนความเป็นเอกภาพและผู้เรียกร้องให้แยกตัวเป็นอิสระต่างยังคงชุมนุมแสดงจุดยืนของกลุ่มตน โดยเฉพาะจัตุรัสและท้องถนนในเมืองบาร์เซโลนา ในการนี้ นายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฆอย ให้การสนับสนุนกลุ่มที่ยืนยันว่า ประเทศสเปนยังอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายและช่องว่างทางเศรษฐกิจนี้ พร้อมทั้งระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการคืนสถานะที่ชอบธรรมด้วยกฎหมายให้แก่แคว้นกาตาลุญญาเท่านั้น และยังไม่ถือเป็นการยกเลิกสิทธิ์ในการปกครองตนเองของแคว้นแห่งนี้อย่างแน่นอน

     นับจากนี้ไปเราอาจจะต้องจับตาดูสถานการณ์ก่อนวันเลือกตั้งอย่างใกล้ชิดว่า กลุ่มผู้สนับสนุนสาธารณรัฐในกาตาลุญญาจะเดินหมากเกมนี้ต่อไปอย่างไรเพื่อให้ได้รับความชอบธรรมและเสียงสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ หากยังคงต้องการที่จะเดินทางเข้าใกล้ความฝันในการมีประเทศเป็นของตนเองต่อไป และท่าทีจากทางรัฐบาลกลางที่จะดำเนินการนับจากนี้ รวมถึงโฉมหน้ารัฐบาลแคว้นกาตาลุญญาคณะใหม่ที่จะส่งผลและเปลี่ยนแปลงทิศทางของวิกฤตการเมืองสเปน-กาตาลุญญาที่ดำเนินมากว่า 300 ปีไม่มากก็น้อย

 

Photo: LLUIS GENE, PAU BARRENA, JAVIER SORIANO, Josep LAGO/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising