×

ก้าวกระโดดสู่ดวงดาวและยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศ สรุปเหตุการณ์สำคัญอวกาศปี 2024

26.12.2024
  • LOADING...

ปี 2024 เป็นอีกหนึ่งศักราชแห่งภารกิจการออกสำรวจอวกาศ ทั้งการนำส่งยานอวกาศลำใหม่ นานาภารกิจออกเดินทางไปลงดวงจันทร์ รวมถึงการพาจรวดยักษ์กลับมาสู่ฐานปล่อยได้อีกครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นการพัฒนาอีกขั้นในด้านเทคโนโลยีอวกาศของมนุษยชาติ

 

พาย้อนดูเหตุการณ์สำคัญของวงการอวกาศตลอดหนึ่งรอบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ในปีที่มีการนำส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ (255 เที่ยวบิน) และปีที่มีมนุษย์มากถึง 58 คน เดินทางไปถึงอวกาศได้สำเร็จ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับการสำรวจอวกาศในปี 2024

 

จรวด Starship กลับมาลงจอดฐานปล่อย

 

วันที่ 13 ตุลาคม SpaceX ทดสอบปล่อยยาน Starship เที่ยวบินที่ 5 พร้อมประสบความสำเร็จในการนำบูสเตอร์ Super Heavy จรวดส่วนแรกที่ใช้ในการนำส่ง Starship ขึ้นสู่อวกาศ เดินทางกลับมาลงจอด ณ ฐานปล่อยอย่างปลอดภัย

 

การนำจรวดสูง 70 เมตร ที่ทะยานขึ้นไปถึงขอบอวกาศ เดินทางกลับมาสู่ฐานปล่อยอย่างปลอดภัย โดยใช้แขนกล ‘Mechazilla’ ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนตะเกียบคีบจรวดได้สำเร็จนั้น เป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนายาน Starship ให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการนำส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศมีราคาถูกลง และสามารถนำส่งสิ่งต่างๆ เดินทางสู่เป้าหมายที่ไกลขึ้นได้กว่าเดิม

 

ทั้งนี้ SpaceX ประสบความสำเร็จในการทดสอบยาน Starship รวมทั้งสิ้น 4 เที่ยวบินในปี 2024 โดยมีกำหนดการทดสอบครั้งถัดไปในวันที่ 11 มกราคม 2025 เพื่อพัฒนายานให้พร้อมสำหรับภารกิจขึ้นบินจริง อาทิ การนำส่งนักบินอวกาศไปลงดวงจันทร์กับภารกิจอาร์ทีมิส 3 ในปี 2027 และภารกิจทดสอบเดินทางไปดาวอังคารแบบไม่มีมนุษย์โดยสารไปด้วย ก่อนเตรียมความพร้อมสำหรับการพามนุษย์เดินทางไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นในอนาคต

 

NASA ส่งยานไปค้นหาชีวิตใต้มหาสมุทรดวงจันทร์ดาวพฤหัสบดี

 

วันที่ 14 ตุลาคม NASA ส่งยานอวกาศ Europa Clipper ขึ้นบินไปกับจรวด Falcon Heavy ของบริษัท SpaceX เพื่อเริ่มต้นการเดินทางนานกว่า 5 ปีครึ่ง ไปสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี

 

นักดาราศาสตร์ค่อนข้างมั่นใจว่าดวงจันทร์ยูโรปามีมหาสมุทรขนาดใหญ่ซ่อนตัวอยู่ใต้เปลือกน้ำแข็ง ที่แม้ว่าตัวดาวจะมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย แต่อาจมีมวลน้ำมากกว่ามหาสมุทรบนโลก ซึ่งภารกิจของ Europa Clipper คือการยืนยันว่ามีน้ำอยู่ใต้พื้นผิวดาวดวงนี้ พร้อมกับตรวจดูว่ามีองค์ประกอบหรือสภาพที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตหรือไม่

 

ยานอวกาศ Europa Clipper จะไม่ได้โคจรรอบดวงจันทร์ยูโรปาโดยตรง เนื่องจากตัวดาวโคจรอยู่ค่อนข้างใกล้กับดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีแถบรังสีที่ส่งผลต่ออุปกรณ์สำรวจบนยานได้ แต่ใช้การโคจรรอบดาวพฤหัสบดีและบินเข้าเฉียดสำรวจในระยะใกล้หลายๆ ครั้งแทน โดยมีกำหนดเดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดีในวันที่ 11 เมษายน 2030 และเริ่มการศึกษาดวงจันทร์ยูโรปาไปจนถึงเดือนกันยายน 2034

 

ถนนทุกสายมุ่งสู่ดวงจันทร์ (อีกครั้ง)

 

ปี 2024 เป็นศักราชที่ภารกิจไปดวงจันทร์เกิดความคึกคักไม่แพ้กับปี 2023 ไม่ว่าจะเป็นภารกิจของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รวมถึงความร่วมมือของไทยกับนานาประเทศ ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

 

ภารกิจการสำรวจดวงจันทร์มีทั้งความพยายามนำส่งยาน Peregrine ของบริษัท Astrobotic ไปในช่วงต้นเดือนมกราคม ก่อนประสบปัญหาเชื้อเพลิงรั่วจนไม่สามารถลงจอดได้ ก่อนที่ยานอวกาศ SLIM ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) จะลงจอดบนพื้นผิวอย่างนุ่มนวลได้สำเร็จเมื่อวันที่ 19 มกราคม ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 5 ที่สามารถส่งยานไปลงดวงจันทร์ได้

 

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ยาน Nova-C ลงจอดบนดวงจันทร์ ส่งผลให้บริษัท Intuitive Machines กลายเป็นบริษัทเอกชนเจ้าแรกที่นำยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

 

นอกจากนี้ ยานอวกาศ Chang’e 6 ของจีน ได้สร้างประวัติศาสตร์เก็บตัวอย่างดินจากด้านไกลดวงจันทร์เดินทางกลับโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก หลังลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน และเดินทางกลับถึงโลกในวันที่ 25 มิถุนายน

 

สำหรับภารกิจ Chang’e 7 ที่มีกำหนดออกเดินทางในปี 2026 จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด ‘สภาพอวกาศ’ ชื่อ Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH) จากการพัฒนาโดยนักวิจัยไทย ร่วมกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) นับเป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ตัวแรกของไทยที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบดวงจันทร์

 

ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมโครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) ภายใต้การนำของจีนและรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 เมษายน เช่นเดียวกับลงนามในข้อตกลงอาร์ทีมิส (Artemis Accords) ภายใต้การนำของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีส่วนร่วมกับสองข้อตกลงดังกล่าว

 

มนุษย์ไปอวกาศได้มากขึ้นกว่าเดิม

 

แม้ภารกิจส่งนักบินอวกาศเดินทางกลับไปดวงจันทร์ในภารกิจอาร์ทีมิส 2 ที่วางแพลนไว้ในเดือนกันยายน 2025 จะถูกเลื่อนกำหนดส่งไปเป็นเดือนเมษายน 2026 เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบความปลอดภัยได้เพิ่มเติม จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในแง่มุมของภารกิจส่งมนุษย์ไปสำรวจอวกาศจากปีนี้

 

แต่ปี 2024 ยานอวกาศ Starliner ของบริษัท Boeing ประสบความสำเร็จในการนำส่ง Butch Wilmore และ Suni Williams สองนักบินอวกาศ NASA เดินทางไปปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สหรัฐฯ มียานอวกาศสำหรับมนุษย์อย่างน้อย 2 ประเภทที่พร้อมให้บริการนำ-ส่งนักบินอวกาศของตนเอง

 

แม้ภารกิจดังกล่าวจะเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับระบบขับดัน ทำให้ NASA ตัดสินใจนำยานกลับโลกโดยไม่มีลูกเรือโดยสารมาด้วย แต่ตัวยาน Starliner ยังสามารถกลับโลกได้อย่างปลอดภัย โดยที่สองนักบินอวกาศ NASA ยังคงปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติได้ตามปกติ พร้อมกับมียาน Crew Dragon เดินทางไปรอรับทั้งคู่กลับโลกในช่วงต้นปี 2025

 

นอกจากนี้ยังมีภารกิจ Polaris Dawn ที่เป็นการปฏิบัติภารกิจภายนอกยานอวกาศ หรือการทำ Spacewalk โดยลูกเรือที่เป็นพลเรือนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กันยายน พร้อมทำสถิติเดินทางไปถึงความสูง 1,700 กิโลเมตรจากพื้นโลก เป็นการส่งมนุษย์เดินทางไกลจากโลกที่สุด นับตั้งแต่ภารกิจอพอลโล 17 ที่ไปสำรวจดวงจันทร์เมื่อเดือนธันวาคม 1972

 

อีกหนึ่งสถิติที่ถูกทำลายลงในปี 2024 ตกเป็นของ Cai Xuzhe และ Song Lingdong สองนักบินอวกาศจีนบนสถานีอวกาศเทียนกง ผู้ออกไปปฏิบัติภารกิจภายนอกยานเป็นเวลานานกว่า 9 ชั่วโมง 6 นาที ทำลายเวลาเดิมที่ James Voss และ Susan Helms สองนักบินอวกาศ NASA ผู้ทำไว้ 8 ชั่วโมง 56 นาที เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2001 ระหว่างการทำภารกิจนำส่งโมดูลไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising