ในที่สุดโลกการเงินก็เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ
ช่วงที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ทรัมป์อยู่ในตำแหน่งไม่ครบสัปดาห์ ตลาดการเงินมีท่าทีตอบรับในเชิงบวก ดอลลาร์อ่อนค่า ยีลด์ปรับตัวลง ส่งให้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P 500 ทำจุดสูงสุดใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อย
แม้ช่วงเวลาสั้นๆ อาจบอกอะไรไม่ได้มาก แต่นักลงทุนเริ่มเห็นแล้วว่าโอกาสจากนโยบายเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่ต้องระวัง และการรับรู้ของตลาด มีทั้งตามคาดและผิดคาด
สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นว่า S&P 500 จะขึ้นต่อหรือไม่ และไปถึงจุดไหน ผมจึงนำตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาวิเคราะห์ และแชร์มุมมองให้นักลงทุนไทยได้คิดไปพร้อมกันเป็นเรื่องแรกของทรัมป์สมัยสอง
เรื่องที่การเข้ามาของทรัมป์ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทันทีในปีนี้คือ เศรษฐกิจปัจจุบันและกำไรของตลาดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2024
ตลาดและผมประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้จะขยายตัวในกรอบ 2.5-3.0% เงินเฟ้อทรงตัวราว 2.0-3.0% และ Fed มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง 2-3 ครั้งช่วงครึ่งหลังของปี
ส่วนกำไรช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2024 คาดว่าจะเติบโตจากปีก่อน 8% นำโดยกลุ่มบริการสื่อสาร เทคโนโลยี และการเงิน ที่มีสัดส่วนสูง สวนทางกับกลุ่มพลังงาน อุตสาหกรรม และสินค้าประจำ ที่กำไรอยู่ในช่วงหดตัว
ในภาพรวมคาดว่ากำไรของ S&P 500 จะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 270 ดอลลาร์ในปี 2025 จากราว 245 ดอลลาร์ในปี 2024 คิดเป็นการเติบโตที่ 10%
ถือว่าทรัมป์เข้ามาในช่วงที่เศรษฐกิจแข็งแกร่ง กำไรของตลาดกำลังเป็นขาขึ้น ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ปี 2025 ควรเป็นปีที่ดัชนี S&P 500 สามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อ
เรื่องที่สองคือ มูลค่า (Valuation) ตลาดอยู่ในช่วงที่หุ้นใหญ่ราคาแพง ทำให้ทั้งตลาดมีโอกาสถูกกดดัน
Valuation สามารถมองได้หลายมุม แต่ในด้านความถูก-แพง ผมมักดู Long-Term P/E (LT P/E) ที่ใช้กำไรเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ปรับเงินเฟ้อเป็นตัวหลัก ปัจจุบัน LT P/E ของ S&P 500 ที่ระดับ 35.5x ถือว่าสูงมาก เป็นรองแค่ช่วงสูงสุดของ COVID Lockdown และ Dot-Com
ส่วนความเสี่ยงการปรับฐานระยะสั้นบน Valuation ผมมองว่ามักเกิดจากสลับกลุ่มจากแพงเกินไปสู่ระดับกลางถึงถูกที่กำไรเติบโตดีขึ้น
การวิเคราะห์ขนาดความเสี่ยง ผมใช้ NTM P/E หรือระดับ P/E จากกำไร 12 เดือนข้างหน้าระหว่าง Market Cap Weight ที่ 22x กับ Equal Weight NTM P/E ที่ 16x คิดเป็นความเสี่ยงขนาด 27% สูงเป็นรองเพียงช่วง Dot-Com เท่านั้น และถ้าเรามองให้ลึกลงไปที่หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 จะพบว่ามี NTM P/E ระดับสูงขึ้นไปอีกที่ 31x หรือแพงกว่าดัชนี S&P 500 ถึงกว่า 30%
มองจาก Valuation ด้านความถูก-แพง ผมเชื่อว่าไม่ง่ายที่ตลาดจะสามารถซื้อ-ขายแพงกว่าระดับนี้ได้ ยกเว้นกำไรของหุ้นใหญ่สูงกว่าปีก่อนมากกว่านี้
ดังนั้นเหตุการณ์ที่ผมคาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุดคือ การปรับการลงทุนสู่หุ้นขนาดกลางในสหรัฐฯ ที่มีกำไรเติบโตใกล้เคียงหุ้นใหญ่ ส่งผลให้ Multiple ของตลาดปรับตัวลงเล็กน้อย
ประเด็นสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ ผมแบ่งออกเป็น 4 เรื่องหลัก เรียงจากนโยบายที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุดไปมากที่สุดในตอนนี้
เรื่องที่ดีที่สุด แต่โอกาสเกิดขึ้นต่ำในปีแรก ผมคาดว่าจะเป็นเรื่องกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจและการลงทุน
ทรัมป์มักพูดถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจอยู่สองเรื่องหลัก ประกอบด้วย การสนับสนุนธุรกิจพลังงานให้ขุดเจาะน้ำมันดิบมากขึ้น ผมเชื่อว่าจุดอ่อนอยู่ที่การตอบรับของภาคเอกชน แม้จะมี Executive Orders แต่ก็ใช่ว่าการลงทุนจะเกิดขึ้นทันที
กลุ่มที่สองที่ทรัมป์มักพูดถึงคือ ภาคการเงินเน้นไปที่กลุ่มการเงินสมัยใหม่ เช่น คริปโตเคอร์เรนซี จุดนี้ผมมองว่าตลาดมีความคาดหวังสูงเกินไป เนื่องจากปัจจุบันแทบไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ดังนั้นกว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมจึงอาจต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี และต่อให้เกิดขึ้นก็คาดว่าตลาดจะตอบรับแบบ Sell on Fact เพราะราคาคริปโตต่างๆ ปรับตัวขึ้นรับข่าวมาตลอดทางแล้ว
นโยบายที่ความน่าจะเป็นลดลงอย่างมาก หลังจากที่ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่ง คือเรื่องการกีดกันทางการค้า
เช่น ล่าสุดเรื่องการเก็บภาษีกับจีนที่ทรัมป์ให้ความเห็นว่าอาจไม่เกิดขึ้นทันทีในปีนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณไปถึงประเทศคู่ค้าทั้งหมดให้รีบเข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ
ตรงกับมุมมองของผมในช่วงก่อนหน้านี้ว่าเป้าหมายของทรัมป์คือ Trade Deals มากกว่า Trade War เป็นไปได้ว่าในปีแรก เราอาจเห็นการเจรจาการค้าเกิดขึ้นทันที และคาดว่าจะเป็นบวกกับกลุ่มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสหรัฐฯ
เรื่องที่สามคือ ประเด็นด้านอพยพ คาดว่าจะเห็นการส่งผู้อพยพผิดกฎหมายบางส่วนกลับประเทศ
ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งเป้าจำนวนผู้อพยพให้ลดลงต่ำกว่า 7.5 แสนคนต่อปี และอาจมีการส่งผู้อพยพผิดกฎหมายบางกลุ่มกลับประเทศ เพราะเป็นประเด็นทางสังคมที่มีผลกับการเมืองมากที่สุด
ผมประเมินว่านโยบายนี้ในระยะกลางอาจเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในด้านการบริโภคที่ลดลงตามจำนวนผู้อยู่อาศัย
สุดท้ายและมีโอกาสเกิดขึ้นสูงยังคงเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาษี
แม้จะไม่ใช่นโยบายที่พูดถึงใน 2-3 วันแรกที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง แต่ผมเชื่อว่าทรัมป์และพรรครีพับลิกันมีความต้องการที่จะยืดอายุมาตรการลดภาษี TCJA ออกไป และอาจเห็นมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมพร้อมกันในปีนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจกับนโยบายนี้มากนัก เพราะต้องใช้เวลาผ่านสภา และอาจไม่ได้ช่วยทำให้กำไรของตลาดปรับตัวขึ้น แต่ผมมองว่าการปรับสมดุลภาษีของสหรัฐฯ รอบนี้ ท้ายที่สุดอาจเป็นความเสี่ยงของตลาด
เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลการคลังมาก ขณะที่บริษัทใหญ่ทำกำไรดีกว่าบริษัทเล็กชัดเจน จึงต้องระวังเรื่องการเก็บภาษีบริษัทใหญ่ภายใต้มาตรการต่างๆ มากขึ้น
โดยสรุป ผมมองว่าดัชนี S&P 500 จะมีแรงหนุนหลักจากกำไร แต่มีแรงต้านหลักจากความแพง ส่งผลหักลบกันไป ส่วนฝั่งนโยบายเศรษฐกิจ คาดว่าแรงหนุนหลักจะมาจากการเจรจาการค้า แต่การปรับสมดุลด้านภาษีอาจเป็นลบกับบริษัทใหญ่
ด้วยโอกาสและความเสี่ยงที่หักลบกันหมด ผมมองว่า 6,000 จุด อาจเป็นระดับดัชนีที่เหมาะสมแล้วในปี 2025 รอตามดูกันครับว่าทรัมป์จะสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดการเงินและ S&P 500 มากแค่ไหนในปีนี้