×

ข้อมูลต้องถึงมือประชาชน ตะโกนแผนงานให้ทั่วถึง วิกฤตน้ำท่วมใต้

โดย THE STANDARD TEAM
04.12.2024
  • LOADING...
น้ำท่วม

เช้าวันนี้ (4 ธันวาคม) เป็นอีกวันที่ฝนยังคงตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 3-5 ธันวาคม 2567 มีแนวโน้มจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และสตูล และมีฝนตกหนักมากในพื้นที่จังหวัดสงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส 

 

ในช่วงวันที่ 11-14 ธันวาคม 2567 จะมีมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ซึ่งอาจทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้น้ำท่วมเพิ่มเติมในหลายจุดที่ยังคงท่วมอยู่ 

 

แม้รัฐบาลจะมีมติคณะรัฐมนตรีเยียวยาน้ำท่วมอีก 16 จังหวัด (รวมพื้นที่ภาคใต้) วงเงินกว่า 5 พันล้านบาท ช่วยเหลือ 9,000 บาทต่อครัวเรือน พร้อมย้ำว่ารัฐบาลนี้จ่ายเร็วมาก แต่ในสถานการณ์ที่น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย การเยียวยาอาจยังไม่ใช่คำตอบเท่ากับความช่วยเหลือระหว่างน้ำยังคงท่วม

 

ปัจจัยก่อวิกฤตอุทกภัยภาคใต้

 

ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAM GROUP (TEAMG) และนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ระบุสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ว่า เกิดจากการรวมตัวของ 3 ปัจจัย คือ 

 

1. กลุ่มฝนขนาดใหญ่ที่เป็นกลุ่มหย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนตัวจากมาเลเซียมายังพื้นที่ภาคใต้ของไทย และมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง 99B, 96S และอีกหย่อมหนึ่งเคลื่อนที่อยู่ในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอลมากถึง 3 หย่อม 

 

2. มวลอากาศเย็นจากจีน 

 

3.ความชื้นจากทะเลจีนใต้ทำให้เกิดฝนตกหนักเกินกว่า 300 มิลลิเมตรต่อวัน 

 

อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ปริมาณน้ำทะเลที่เป็นน้ำอุ่นจะมากองรวมกับบริเวณทวีปเอเชีย เมื่อน้ำทะเลระเหยกลายเป็นมวลเมฆที่มีปริมาณไอน้ำจำนวนมาก นำฝนไปตกที่ใดส่วนนั้นก็จะมีปริมาณฝนตกหนักเป็นวงกว้าง 

 

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ฝนตกหนักและตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้การระบายน้ำต้องใช้เวลา คาดว่าจะเริ่มไหลลงทะเลหมดในช่วงวันที่ 10 ธันวาคมนี้ โดยผ่านแม่น้ำ 4 สาย ในฝั่งอ่าวไทยคือ แม่น้ำปัตตานี, แม่น้ำสายบุรี, แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก 

 

ภาครัฐถอดบทเรียนแบบใด

 

ตามข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า อุทกภัยภาคใต้ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2567) มีประชาชนได้รับผลกระทบ 6 จังหวัดภาคใต้ 302,982 ครัวเรือน เสียชีวิต 25 ราย

 

น้ำมาเร็ว มาแรง และมามาก บางพื้นที่เป็นภาวะวิกฤตในรอบหลายสิบปี ทำให้ประชาชนไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ ไม่มีเรือใช้อพยพ ข้าวกล่องไม่พอ มีคนเสียชีวิต ไฟดับในหลายพื้นที่ น้ำท่วมโรงพยาบาลต้องย้ายผู้ป่วยวิกฤต แล้วภาครัฐจัดการอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ในวันที่น้ำท่วมภาคเหนือสิ้นสุด สิ่งหนึ่งที่เป็นคำพูดติดปากของทั้งภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน รวมไปถึงนักวิชาการ คือ ‘การถอดบทเรียนการเตือนภัย’ 

 

ระยะเวลาเดือนกว่าที่ผ่านมา ยังมีนักวิชาการอีกหลายต่อหลายคน หน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วน ออกมาเตือนล่วงหน้าถึงสถานการณ์อุทกภัยที่คนภาคใต้ต้องรับมือ 

 

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมพร้อมการใช้งานของสถานีเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่ม กรมประชาสัมพันธ์เร่งเผยแพร่ข้อมูล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รายงานสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบทุกวัน กรมอุตุนิยมวิทยาให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศ มีการเตรียม SMS แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ฝนตกหนัก ตั้งศูนย์อพยพกว่า 3,000 แห่ง ขุดลอกคลองในพื้นที่ ซ่อมแซมแนวคันดิน ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ 

 

‘ข้อมูลและความพร้อม’ มีแล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์จริง หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนมีความพร้อมแค่ไหน มูลนิธิจิตอาสาที่ลงพื้นที่ไปจะดำเนินการเข้าพื้นที่อย่างไร แบ่งหน้าที่กันแบบไหน เพื่อจัดการให้ความช่วยเหลือเข้าไปช่วยประชาชนได้ทันท่วงที

 

ข้อมูลเชิงลึกที่ประชาชนไม่ได้รับ

 

“น้ำจะมาตอนไหน” (ช่วงเวลาชัดเจน พื้นที่ใดได้รับผลกระทบ)
 

“น้ำมาเท่าไร” (ปริมาณคร่าวๆ ที่เกิด เกิดในพื้นที่ใด)

 

“คนต้องอพยพเมื่อไร อพยพไปไหน” (พื้นที่ที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหน) 


“ความรุนแรงอยู่ในระดับใดและนานเท่าใด” (ฝนกำลังตกหนักระลอกสอง ยังไม่มีรายละเอียดเจาะลึก) 

 

“น้ำจะไหลจากไหนไปไหน” (ลงทะเลในส่วนไหน ผ่านชุมชนใดบ้าง) 

 

“เมื่อเกิดภัยในพื้นที่นี้ต้องติดต่อใคร”

 

ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น และเป็นบทเรียนจากภาคเหนือที่หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชาวบ้านไม่ได้รับการเตือนที่นานพอ และการเตือนมาพร้อมกับน้ำทำให้อพยพไม่ทัน

 

ส่งข้อมูลถึงมือ ตะโกนแผนงานให้ทั่วถึง

 

ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) หน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภาพรวม มีข้อมูลที่แม่นยำ รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รวมศูนย์ได้กลับยังไม่นำบทเรียนจากภาคเหนือมาใช้ 

 

การกระจายข้อมูลให้ถึงมือประชาชน มีหน่วยงานท้องถิ่นคอยประสาน พร้อมประเมินจัดกำลังในจุดเกิดเหตุเพื่อรับมือสถานการณ์ตรงหน้า รวมทั้งปรับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาให้ลงรายละเอียดและทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่ายยังคงไม่เกิด

รัฐบาลแถลงนโยบาย หวังว่าจะทำให้ ‘คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี’ แต่วันนี้คงต้องเพิ่มเติม ‘ความปลอดภัย’ เตือนภัยให้คนไทยอยู่รอด มีบ้าน มีอาหาร ในวันที่น้ำลด พร้อมตะโกนออกไปดังๆ ให้ประชาชนรับทราบ ให้ท้องถิ่นปรับตัว ปรับข้อมูลให้เป็นแนวทางปฏิบัติ มิเช่นนั้นในวันที่สถานการณ์น้ำท่วมวนกลับมา การถอดบทเรียนคงเป็นเพียงข้อมูลในหน้ากระดาษที่ไม่มีเสียงส่งมาถึงประชาชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X