ในสังคมเกาหลีใต้มีความเชื่อฝังรากลึกว่าคนที่มีส่วนสูงมากกว่ามีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า ทำให้พ่อแม่จำนวนมากหันมาพึ่งพาการรักษาด้วยฮอร์โมน อาหารเสริม และวิธีการต่างๆ เพื่อให้ลูกๆ ของพวกเขามีส่วนสูงตามที่ต้องการ แต่ความพยายามนี้นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับการหมกมุ่นกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป
ป้ายโฆษณาที่สวนแทรมโพลีนแห่งหนึ่งนอกกรุงโซล สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่าการกระโดดจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กีฬาอย่างบาสเกตบอลและวอลเลย์บอลได้รับความนิยมในเกาหลีใต้
Nikkei Asia รายงานว่า คุณแม่ท่านหนึ่งในเมืองอุลซานกล่าวว่า อีก 3 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลา ‘สำคัญ’ ที่จะทำให้ลูกชายของเธอซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เติบโตได้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เนื่องจากสามีของเธอมีส่วนสูงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ครอบครัวของเธอจึงกดดันให้เธอกินอาหารที่มีประโยชน์ในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อให้ลูกสูง “ฉันกังวลว่าในฐานะแม่ ฉันจะถูกตำหนิตลอดไปถ้าเขาตัวเตี้ย” เธอกล่าว
พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากต่างพยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับตารางการนอนหลับที่ดีที่สุดและอาหารที่มีโปรตีนสูงสำหรับลูกๆ โฆษณาอาหารเสริมที่อ้างว่าช่วยเพิ่มส่วนสูงของเด็กมีอยู่ทั่วไปตามคลินิกเด็ก ร้านขายยา และธุรกิจการศึกษา
อีกหนึ่งทางเลือกยอดนิยมคือการฉีดฮอร์โมน แม้ว่าการรักษานี้จะครอบคลุมโดยประกันสุขภาพสำหรับเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติในการเจริญเติบโตเท่านั้น แต่พ่อแม่บางคนก็ยอมจ่ายเงินเองเพื่อให้ลูกได้รับการฉีดฮอร์โมนทุกวัน โดยเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 วอนต่อครั้ง (ประมาณ 2,500 บาท)
การตรวจเพื่อทำนายส่วนสูงของเด็กในวัยผู้ใหญ่ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน คุณแม่ท่านหนึ่งในกรุงโซลกล่าวว่า เธอต้องรอเป็นปีเพื่อพาลูกสาวซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไปตรวจ หลังจากที่ลูกสาวบอกว่าอยากสูงเหมือนไอดอล K-Pop ที่เธอเห็นใน YouTube
ความกดดันให้เด็กตัวสูง ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดด้านส่วนสูงที่เคยเป็นเรื่องปกติในหลายอาชีพ แม้ว่าปัจจุบันข้อจำกัดเหล่านี้จะลดลง แต่ความเชื่อที่ว่าคนสูงมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าก็ยังคงฝังรากลึกในสังคมเกาหลีใต้
ความหมกมุ่นกับรูปลักษณ์ภายนอกนำไปสู่ปัญหาสังคมต่างๆ เช่น การโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มส่วนสูง และการออกกฎหมายสนับสนุนการตรวจวัดส่วนสูงของเด็ก ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่งเสริมการให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป
ภาพ: TEAM PRE-LIGHT / Shutterstock
อ้างอิง: