×

ประวัติศาตร์และการบุกตลาดโลกของรามยอน ด้วยประโยค “ไปกินตับ…เอ๊ย รามยอนกันไหม” ในซีรีส์เกาหลี

05.02.2021
  • LOADING...
รามยอน

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รายงานในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาระบุว่า เกาหลีใต้ส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นถึงกว่า 28% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 ทั้งนี้ยอดการจัดส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปยังต่างประเทศอยู่ที่ 549.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 28.4% จากปีก่อนหน้า
  • อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดส่งออกนอกประเทศของรามยอนเกาหลีสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยส่วนสำคัญอีกอย่างเป็นเพราะอิทธิพลของสื่อบันเทิง โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลีหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งเรามักจะเห็นฉากที่ตัวละครกินรามยอนกันอย่างออกรส หรือถามชวนกันว่า “คุณอยากกินรามยอนกับ ผม/ฉัน ไหม” ซึ่งเป็นมุกที่มีนัยว่าชวนกันไปกินอะไรอย่างอื่นในแบบผู้ใหญ่ๆ

‘รามยอน’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในปัจจุบัน จนสามารถซื้อหาได้ง่ายในประเทศแม่อย่างเกาหลีนั้น ปริมาณการบริโภครามยอนสูงมาก ว่ากันว่าชาวเกาหลีรับประทานรามยอนกันเป็นของโปรด เฉลี่ยแต่ละคนประมาณ 70-90 ครั้งต่อปีเลยทีเดียว และประชากรชาวเกาหลีทั้งประเทศบริโภครามยอนสูงถึง 3.3 ล้านหน่วยในแต่ละปี

 

อิมชุนเอ นักกีฬาประเภทลู่และลานที่เคยคว้า 3 เหรียญรางวัลในเอเชียนเกมส์ 1986 ถึงกับระบุว่า เธอมักจะกินรามยอนเพียงอย่างเดียวในช่วงฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน แม้ประชาชนชาวโลกจะมองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างรามยอนเป็นอาหารที่เน้นความสะดวกไม่ดีต่อสุขภาพ แต่มันก็ประทังให้เธอคว้าเหรียญรางวัลมาได้ อย่างไรก็ตาม รามยอนก็เป็นที่นิยมของชาวเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวัฒนธรรมเกาหลีได้รับความนิยมผ่านอิทธิพลสื่อบันเทิงที่เป็น Soft Power ก็ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เสพสื่อวัฒนธรรมบันเทิงเกาหลีโดยเฉพาะซีรีส์ที่ตีตลาดให้ผู้ชมในหลายประเทศหันมานิยมรับประทานอาหารเกาหลีและบริโภครามยอนตามๆ กันไปด้วย เราลองมาสำรวจดูกันดีกว่าว่า การเดินทางและแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากแดนโสมที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกนั้นจะมีอะไรกันบ้าง ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็น่าจะทำให้เรากินรามยอนได้ออกรสขึ้นอีกไม่น้อย  

 

รามยอน

 

ประวัติศาสตร์น่ารู้: ความเป็นมาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ดแห่งแดนโสม

ประวัติความเป็นมาของรามยอนเกาหลีนั้นน่าจะเริ่มขึ้นราวปี ค.ศ. 1963 (ถัดจากที่ อันโด โมโมฟุกุ ชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัทนิชชินคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นมาเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1958 ได้เพียง 5 ปีเท่านั้น) โดยเป็นอาหารราคาถูกในช่วงหลังสงครามเกาหลี ซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องประสบกับความหิวโหย รัฐบาลเกาหลีพยายามเอาชนะปัญหาการขาดแคลนอาหาร ซึ่งประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสงครามเกาหลีในทศวรรษ 1960 และเกาหลียังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการขาดแคลนข้าวในช่วงปี 1963-1977 จึงมีการส่งออกแป้งสาลีจำนวนมากจากสหรัฐอเมริกาไปยังเกาหลี ภายใต้กฎหมายมหาชนของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้โครงการอาหารเพื่อสันติภาพนำไปสู่การดำเนินนโยบายอาหารผสมและแป้ง (Policy of Mixed & Flour Foods) ในทศวรรษที่ 1960 การบริโภครามยอนจึงได้รับการส่งเสริมโดยนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์แป้ง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของนโยบายรัฐในปี 1970 ต่อความนิยมและการบริโภครามยอนจำนวนมากในเกาหลีใต้

 

‘Samyang Food’ บริษัทผู้ผลิตอาหารที่มีชื่อเสียงของเกาหลี ก่อตั้งเมื่อปี 1961 คือผู้ผลิตรามยอนรายแรกของประเทศ ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปน้ำซุปสีแดงรสจัดอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยเครื่องจักรนำเข้าจากญี่ปุ่น หลังจากนั้นอุตสาหกรรมผลิตรามยอนก็เติบโต เมื่อคู่แข่งอย่างบริษัท Nongshim (ชื่อเก่า Lotte Food Industrial Company) เปิดตัวแบรนด์รามยอนต่างๆ ของตัวเองเมื่อราวทศวรรษที่ 1980 เรื่อยมาเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงแบรนด์ยอดนิยมอย่าง Shin Ramyun ที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี 1986 และในปัจจุบันมีวางจำหน่ายอยู่ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก ถัดมาก็เกิดการแข่งขันกันในตลาด ทำให้บริษัทต่างๆ ขยันผลิตรามยอนรสชาติใหม่ๆ ที่มีลักษณะเป็นฟิวชันออกมาเพื่อมอบรสชาติแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันรามยอนได้ตีตลาดโลกจนมีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามซูเปอร์มาเก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วโลก นับเป็นสินค้าส่งออกที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่ง และแสดงให้เห็นถึงดีเอ็นเอของวัฒนธรรมเกาหลีได้เป็นอย่างดี จนมีคำกล่าวที่ว่า 

 

“รามยอนเปรียบเสมือนกิมจิสำหรับชาวเกาหลี 

เพราะมีกลิ่นและรสชาติที่ทำให้รู้สึกเหมือนกับอยู่บ้าน” 

 

รามยอน

 

ในด้านความนิยมนั้นบริษัท Nongshim ถือเป็นบริษัทที่ได้รับการตอบรับขายดิบขายดีที่สุด โดยมี Shin Ramyun เป็นสินค้าหลักยอดนิยมอันดับ 1 ที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดรามยอนทุกปี ไม่เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่มักจะมีลำดับขึ้นๆ ลงๆ สลับกันไป ซึ่งสิ่งที่ทำให้รามยอนของ Nongshim ได้รับความนิยมจนติดอยู่ในระดับท็อปเสมอๆ นั้น นอกจากคุณภาพและรสชาติที่ถูกอก ไม่ว่าจะเป็นเส้นที่เหนียวนุ่ม หรือน้ำซุปที่ได้รสชาติเผ็ดแซ่บกำลังดีถูกใจมหาชน ก็น่าจะเป็นเรื่องของการทำการตลาดที่โดนใจเสมอมา 

 

กินรามยอนกับอะไร?

ด้วยความที่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำได้ง่ายแสนง่าย จึงสามารถกินรามยอนเปล่าๆ ก็ได้ หรือจะต้มใส่กับไข่และผัก กิมจิเป็นเครื่องเคียงที่คนเกาหลีนิยมรับประทานในอาหารทุกมื้อ ไม่เว้นแม้แต่รามยอน เพื่อให้อยู่ท้องมากขึ้น บางคนอาจจะกินรามยอนคู่กับ ‘คิมบับ’ ข้าวปั้นห่อสาหร่ายเกาหลี หรือจะใส่แป้งต๊อกกับเนื้อสัตว์ที่ชอบเข้าไปเพิ่ม ฯลฯ และถ้าหากกินหมดแล้วยังไม่อิ่ม ก็นิยมตักข้าวลงไปใส่ในน้ำซุปก็ไม่ว่ากัน 

 

ชวนกันไปกินรามยอน…หรือกินอะไรอย่างอื่น อิทธิพลจากสื่อบันเทิงเกาหลีที่ช่วยหนุนการส่งออก 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รายงานในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาระบุว่า เกาหลีใต้ส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นกว่า 28% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 การจัดส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในต่างประเทศอยู่ที่ 549.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 28.4% จากปีก่อนหน้า ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเกาหลีและผู้เล่นในอุตสาหกรรม

 

นอกจากสถานการณ์ของโรคระบาดทำให้ผู้คนหลายแห่งทั่วโลกหันมาพึ่งพาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมากขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดส่งออกนอกประเทศของรามยอนเกาหลีสูงขึ้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนสำคัญอีกอย่างเป็นเพราะอิทธิพลของสื่อบันเทิงโดยเฉพาะซีรีส์เกาหลีหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งเรามักจะเห็นฉากที่ตัวละครกินรามยอนกันอย่างออกรส หรือถามชวนกันว่า “คุณอยากกินรามยอนกับ ผม/ฉัน ไหม” ซึ่งเป็นมุกที่มีนัยว่าชวนกันไปกินอะไรอย่างอื่นในแบบผู้ใหญ่ๆ 

 

ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของการชวนกันไปกินตับ…เอ๊ย รามยอน แบบนี้เริ่มต้นจาก ภาพยนตร์เรื่อง One Fine Spring Day ที่ตัวละครซึ่งรับบทโดย อียองเอ ชวนพระเอกซึ่งรับบทโดย ยูจีแท ให้ไปกินรามยอนกัน และหลังจากหม่ำรามยอนกันจนอิ่ม พวกเขาก็ได้กินอย่างอื่นกันต่อ (ซึ่งก็น่าจะอร่อยดี) หลังจากนั้นประโยคชวนกันไปกินรามยอนก็เริ่มถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย บางก็เพื่อเป็นแค่มุก แต่ก็ย่อมมีบ้างที่คนใช้ประโยคนี้สื่อความนัยกันจริงๆ แต่ก็ไม่ใช้ในทุกกรณีที่คนเกาหลีจะใช้ประโยคนี้ชวนไปหม่ำอย่างอื่นกันจริงๆ หรอก

 

รามยอน

 

“เมื่อไรเราจะกินรามยอนกันครับ”

ฉากที่โอมีจูชวนคีซอนกยอมไปกินรามยอนที่บ้าน ในวันที่ทางสะดวกใน Run On

ไหนว่าชวนกันไปกินรามยอนไงคะ มีอาหารเสริมอะไรด้วยเหรอคะ? – เอียงคอถาม  

เห็นหน้าใสๆ ซื่อๆ โอมีจูเธอก็ร้ายอยู่

 

อย่างไรก็ตาม ประโยคชวนกันไปหม่ำรามยอนก็ถูกผลิตซ้ำในสื่อบันเทิงและซีรีส์เกาหลีอีกหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ Because This is My First Life, Descendants of the Sun, What’s Wrong With Secretary Kim, Crash Landing on You หรือแม้กระทั่งซีรีส์สองเรื่องล่าสุดที่กำลังออนแอร์และได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้อย่าง Run On และ Mr. Queen ก็มีฉากชวนกันหม่ำรามยอนด้วยเช่นกัน

 

รามยอน

 

“รสชาติรามยอนมันเสพติดง่ายเวอร์”

ใน Mr. Queen หลังจากที่เชฟหนุ่มเพลย์บอยสุดแมนในร่างพระมเหสีได้บังเอิญตกล่องปล่องชิ้นกับพระราชาไปครั้งหนึ่งแล้ว ก็ดันฟินติดใจขึ้นมา จึงสับสนในตัวเองและลุกขึ้นมาทำรามยอนไปชวนพระราชากินกัน นี่ตกลงอยากกินรามยอนหรืออยากกินอะไรกันแน่

 

รายชื่อซีรีส์ที่ยกมาทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีฉากชวนกันกินรามยอนในตำนาน ซึ่งเราจะเห็นได้เลยว่าอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีนั้นมีผลไม่น้อยในการช่วยส่งเสริมการส่งออกให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลเกาหลี นับเป็นการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมได้อย่างชาญฉลาด จนเมื่อมองที่นโยบายของรัฐบาลลุงๆ บ้านเราและอุตสาหกรรมบันเทิงไทยแล้ว…ก็ได้แต่อิจฉาตาละห้อย 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

FYI
  • ความแตกต่างระหว่างรามยอนของเกาหลีและราเมนของญี่ปุ่นนั้น ในแง่ของรสชาติ รามยอนมีรสเผ็ดกว่า โดยทั่วไปแล้วน้ำซุปราเมนจะทำจากเนื้อไก่ อาหารทะเล หรือเนื้อหมู ในขณะที่น้ำซุปของรามยอนทำจากเครื่องปรุงรส นอกจากนี้รามยอนยังหมายถึงแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้มในถ้วยหรือหม้อน้ำร้อนเท่านั้น ซึ่งต่างจากราเมนของญี่ปุ่นตรงที่อาจปรุงในแบบดั้งเดิมหรือเป็นแบบสำเร็จรูปก็ได้ทั้งนั้น 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X