เกาหลีใต้เล็งสั่งแบงก์เพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (Countercyclical Capital Buffer) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในระบบชำระเงิน ท่ามกลางความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก รวมไปถึงความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และยอดค้างชำระของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
ในรายงานผล Stress Test ของคณะกรรมาธิการบริการทางการเงิน (Financial Services Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของเกาหลีใต้ ซึ่งเปิดเผยในวันนี้ (16 มีนาคม) ระบุว่า เกาหลีใต้กำลัง ‘พิจารณา’ เพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่ม เพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical Capital Buffer) ‘ในปีนี้’ โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว อัตราแลกเปลี่ยน การค้างชำระหนี้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- SVB ล่มเป็นเหตุ ‘Moody’s’ หั่น Outlook ระบบธนาคารสหรัฐฯ เป็นลบ หวั่นเสถียรภาพสั่นคลอน
- ส่อวุ่น! แบงก์ชาติเวียดนามหั่นดอกเบี้ย 1% สวนทางโลก ท่ามกลางวิกฤต SVB ด้าน ECB ยังเมิน เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อ 0.50%
- ธนาคารแห่งชาติสวิส ประกาศอุ้ม ‘Credit Suisse’ หากจำเป็น หวังลดเสี่ยงวิกฤตลาม ล่าสุด กำลังให้เงินกู้ช่วยเหลือ 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส
ทั้งนี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มด้าน Countercyclical Capital Buffer ตั้งแต่ปี 2016 โดยปัจจุบันตั้งไว้ที่ 0%
สำหรับเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (Capital Buffer) คือเงินกองทุนที่สถาบันการเงินดำรงต้องเป็นเงินกองทุนที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความทนทานต่อความเสี่ยงเชิงระบบ
ในรายงานยังกล่าวอีกว่า “ความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy) ค่อนข้างไม่เพียงพอ (Relatively Insufficient) และความเป็นไปได้ที่อัตราส่วนเงินกองทุนในอนาคตจะลดลงนั้นกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวล่าสุดเพื่อเพิ่มการจ่ายเงินปันผล”
โดยแผนดังกล่าวมีกำหนดร่างในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และจะดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเกิดขึ้นขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะปั่นป่วน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเพียงพอของเงินกองทุนของธนาคารจากปัญหาการล่มสลายของ SVB ธนาคารภูมิภาคในสหรัฐฯ และปัญหาราคาหุ้น Credit Suisse ร่วง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับ Outlook ของระบบธนาคารในวงกว้าง
อ้างอิง: