วิกฤตการณ์อัตราการเกิดลดลงทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายประเทศกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งในแง่ของการสูญเสียอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงปัญหาทางการคลังที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
เกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก กำลังพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุนการคลอดบุตรจำนวน 100 ล้านวอน (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกาหลีใต้ถึง 2 เท่า หากดำเนินการตามแผนนี้ อาจต้องใช้งบประมาณมากกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 5.8 แสนล้านบาทต่อปี และหากประสบความสำเร็จก็อาจต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้
แม้ในทางทฤษฎีแล้ว นโยบายนี้อาจดูเหมือนจะคุ้มค่าในระยะยาว เนื่องจากเด็กที่เกิดในวันนี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้เสียภาษีในอนาคต แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะรัฐบาลอาจต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับครอบครัวจำนวนมากที่ตั้งใจจะมีลูกอยู่แล้ว และผลตอบแทนที่ได้รับจากภาษีในอนาคตอาจไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน
อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลอื่นที่อาจทำให้การลงทุนเพื่อเพิ่มจำนวนเด็กเกาหลีคุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น ความสุขของคนในประเทศที่มั่งคั่ง ถึงกระนั้นหากการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของงบประมาณสาธารณะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจของนโยบายนี้ ก็อาจทำให้ปัญหาทางการคลังแย่ลงได้
ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเงินอุดหนุนของเกาหลีจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด เนื่องจากไม่มีตัวอย่างให้ศึกษา แต่ที่ใกล้เคียงที่สุดคือเงินอุดหนุนการคลอดบุตรของฮังการี ซึ่งรวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้และคิดเป็นประมาณ 5% ของ GDP แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผล แต่ก็มีหลักฐานบางอย่างที่บ่งชี้ว่าอัตราการเจริญพันธุ์ในฮังการีเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี หลักฐานจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ผลในเชิงบวก ตัวอย่างเช่น ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกที่มีสวัสดิการในการดูแลเด็กฟรีและสวัสดิการสำหรับพ่อแม่ เช่น การลาทำงานโดยได้รับค่าจ้าง แม้จะใจกว้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เช่นเดียวกับหลักฐานจากสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ว่า ‘การเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญ’ ของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเลือกใช้ชีวิตและบรรทัดฐานทางสังคม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดครอบครัวมากกว่าการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายหรือเงินอุดหนุนในการเลี้ยงดูบุตร
ทั้งนี้ ไม่น่าแปลกใจที่เงินอุดหนุนจำนวนน้อยจะไม่ได้ผล เพราะการมีลูกเป็นการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่คุณทำและวิธีที่คุณทำ หากคุณไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เงินอุดหนุนการคลอดบุตรก็ไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้
อย่างไรก็ตาม การทดลองเงินอุดหนุนการคลอดบุตรของเกาหลีและฮังการีสมควรได้รับทั้งคำชมและการตรวจสอบอย่างละเอียด ถึงแม้ว่าจะแค่ชะลอ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งแนวโน้มของสังคมที่มีขนาดเล็กลงและมีผู้สูงอายุมากขึ้นได้ แต่นั่นก็ยังคุ้มค่าที่จะดำเนินการต่อไป เพราะเราทุกคนจะได้เรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
อ้างอิง: