ชาวเกาหลีใต้นับแสนคนพร้อมใจกันลงนามในคำร้อง เพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการลงโทษต่อผู้ที่กระทำการไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) ภายหลังการเสียชีวิตของ โชจางมี ยูทูเบอร์ชื่อดัง และ คิมอินฮยอก นักวอลเลย์บอลชาย ที่ตัดสินใจจบชีวิต หลังตกเป็นเป้าจากการแสดงความเห็นเกลียดชังทางออนไลน์
โดยกรณีการไซเบอร์บูลลี่บุคคลที่มีชื่อเสียงในเกาหลีใต้ถือเป็นประเด็นใหญ่ และมีบุคคลมีชื่อเสียงหลายคนตัดสินใจจบชีวิตของตนหลังถูกบูลลี่ด้วยการแสดงความเห็นเกลียดชังอย่างรุนแรงทางออนไลน์
คำร้องดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในหน้าร้องเรียนของเว็บไซต์ทางการของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ภายหลังการเสียชีวิตของโช วัย 27 ปี ซึ่งถูกพบเสียชีวิตในบ้านพักเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าว Yonhap รายงานว่า เธอตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังเผชิญการแสดงความเห็นเกลียดชังทางออนไลน์
ขณะที่โช ซึ่งเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ว่า BJ Jammi ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากการกระทำที่แสดงความเป็นเฟมินิสม์หรือสตรีนิยม โดยเธอถูกกล่าวหาเมื่อปี 2019 ว่า ทำท่าทางในวิดีโอที่บ่งบอกเป็นนัยว่าเกลียดผู้ชาย ขณะที่แม่ของเธอที่คอยติดตามคอมเมนต์แง่ลบเกี่ยวกับลูกสาวในโลกออนไลน์ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองไปเมื่อปี 2020 หลังจากนั้นโชพยายามขอร้องให้หยุดการบูลลี่ และการกล่าวหาว่าเธอเป็น ‘พวกเกลียดชังผู้ชาย’
ซึ่งข้อความในคำร้องนั้น ขอให้รัฐบาลดำเนินการลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ที่เผยแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับโช และล่าสุดมีผู้ลงนามในคำร้องแล้วมากกว่า 155,000 คน
การเสียชีวิตของโชเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวัน หลังจากที่ คิมอินฮยอก นักวอลเลย์บอลชายวัย 28 ปี ถูกพบเสียชีวิตหลังเผชิญการบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตาในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยเขาพยายามขอให้ผู้คนหยุดส่งความคิดเห็นที่แสดงความเกลียดชัง และเผยแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องเพศและรูปลักษณ์ของเขาทางออนไลน์
“คนที่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วฉันเป็นใคร ส่งข้อความโดยตรงจำนวนนับไม่ถ้วนและโพสต์ความคิดเห็นที่น่ารังเกียจทุกครั้งที่ฉันเล่นเกม มันยากมากที่จะทนได้ทั้งหมด กรุณาหยุด” เขาเขียนข้อความในอินสตาแกรม
กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกที่การฆ่าตัวตายของบุคคลมีชื่อเสียงในเกาหลีใต้ ส่งผลให้ประเด็นการบูลลี่ทางออนไลน์ได้รับความสนใจจากสังคม โดยในปี 2019 ซอลลี่ นักแสดงและนักร้องชื่อดังตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง หลังถูกคุกคามทางออนไลน์มานานหลายปี และเผชิญอาการป่วยจากโรคซึมเศร้า ซึ่งการเสียชีวิตของเธอทำให้บุคคลมีชื่อเสียงอีกหลายคนออกมาเรียกร้องให้มีการสนับสนุน และลดการกดดันต่อบุคคลในอุตสาหกรรม K-Pop
อ้างอิง: