รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศบังคับใช้กฎหมายแบนการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเป็นภาษาที่ 2 ของเด็กนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 เพื่อลดผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเรียนภาษาต่างประเทศเร็วเกินไป
กฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายของรัฐบาลนายมุนแจอิน ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2016 ที่ระบุว่า การสอนภาษาอังกฤษอาจขัดขวางทักษะการเรียนรู้ภาษาเกาหลี และบ่อนทำลายรากเหง้าดั้งเดิมของคนเกาหลี
ควอนจียอง ผู้ดูแลและรับผิดชอบด้านการศึกษาของเด็กในเกาหลีใต้ หนึ่งในหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า “จากคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเผยว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเรียนภาษาที่สองคือช่วงชั้น ป.3 การที่ผู้ปกครองต่างให้บุตรหลานเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ก่อนชั้นอนุบาลมันเร็วเกินไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวควรปลูกฝังทักษะด้านการอยู่ร่วมกันในสังคมและฝึกกระบวนการคิด”
ค่านิยมที่ต้องการจะให้บุตรหลานเรียนภาษาต่างประเทศตั้งแต่เด็กเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดย ceicdata.com เปิดเผยว่า เกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ราว 15,335 เหรียญสหรัฐ (ราว 483,000 บาท) โดยในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษภาษาอังกฤษราว 1,500 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 47,000 บาท)
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้คุณครูกว่า 7,000 คนทั่วประเทศตกงาน อีกทั้งจะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างมากยิ่งขึ้น และทำให้การแข่งขันในตลาดการศึกษาของเกาหลีใต้ยิ่งดุเดือดและกดดันเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
คิมฮีวอน อาจารย์สอนพิเศษภาษาอังกฤษชี้ว่า ถ้าคุณนำเด็กที่จบ ป.2 มาเปรียบเทียบกัน คนหนึ่งได้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัว กับอีกคนหนึ่งยังไม่เคยได้เรียนภาษาอังกฤษเลย แน่นอนว่าคุณจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมาก ในสังคมเกาหลี ยิ่งคุณมีเงินมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้นเท่านั้น
แม้รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว แต่ผู้ปกครองชาวเกาหลีจำนวนมากก็จะยังคงผลักดันให้บุตรหลานของพวกเขาได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการเผชิญหน้ากับตลาดการศึกษาและโอกาสในการทำงานที่ค่อนข้างแข่งขันสูงในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการอิหร่านก็เคยประกาศแบน ห้ามสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กในระดับชั้นประถมศึกษา เนื่องจากมองว่าเป็นการรุกรานทางวัฒนธรรมที่ปลูกฝังแนวคิดและค่านิยมตะวันตกให้แก่บรรดาเยาวชน ซึ่งเป็นความหวังของอิหร่านในอนาคตมาแล้ว
อ้างอิง: