สำนักความมั่นคงและสาธารณสุขแห่งชาติของกินีระบุว่า กินีได้ประกาศการระบาดของโรคอีโบลา ณ หนึ่งในภูมิภาคของประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังพบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 7 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย
โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเมืองเอ็นเซเรโคเร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศระบุว่า มีบุคคล 7 คนที่มีผลตรวจเชื้ออีโบลาเป็นบวก รวมถึงมีอาการ เช่น ท้องเสีย อาเจียน และมีเลือดออก ซึ่งก่อนหน้านั้นบุคคลเหล่านี้ได้เดินทางไปร่วมงานศพของพยาบาลรายหนึ่ง และ 3 จาก 7 คนดังกล่าวเสียชีวิตหลังงานศพดังกล่าว แต่ไม่แน่ชัดว่าพยาบาลคนดังกล่าวซึ่งทำงานอยู่ที่ศูนย์สุขภาพท้องถิ่นนั้นเสียชีวิตจากอีโบลาด้วยหรือไม่
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะช่วยเหลือกินีในการจัดหาวัคซีนอีโบลา ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ วัคซีนดังกล่าวได้ช่วยควบคุมการระบาดของโรคในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นอกจากนี้ ทีมของ WHO ยังได้ลงพื้นที่แล้วในขณะนี้ เพื่อช่วยดูแลการป้องกันและควบคุมการติดต่อของโรคในสถานบริการสุขภาพ สถานที่สำคัญอื่น รวมถึงยังเข้าไปในชุมชนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดศูนย์รักษาโรคอีโบลาในพื้นที่กูเอกเคของเมืองเอ็นเซเรโคเร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศการระบาดด้วย
ส่วนสภากาชาดก็ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า มีเครือข่ายอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมมากกว่า 700 คน ซึ่งได้ “เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือระลอกแรก และรัฐบาลได้เรียกร้องให้ประชาชนเคารพมาตรการด้านสุขอนามัยและการป้องกันโรค ตลอดจนรายงานสัญญาณของโรคต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข”
การระบาดของอีโบลาครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาของโลกเริ่มต้นในปี 2014 ที่กินี และยาวนานต่อเนื่องจนถึงปี 2016 รวมถึงแพร่ระบาดไปในประเทศไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 28,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 11,000 คน ส่วนการระบาดครั้งปัจจุบันได้เริ่มต้นขึ้นในพื้นที่ชายแดนของกินี ซึ่ง WHO ระบุว่า กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพในไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน เพื่อเพิ่มการเฝ้าระวังในเขตชายแดน รวมทั้งปรับปรุงขีดความสามารถในการทดสอบการติดเชื้อ
“เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากที่ได้เห็นการกลับมาอีกครั้งของอีโบลาในกินี ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคนี้มามากแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่ออาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สร้างขึ้นในระหว่างการระบาดครั้งก่อน คณะทำงานด้านสุขภาพในกินีจึงกำลังอยู่ระหว่างการติดตามเส้นทางของไวรัสอย่างรวดเร็ว และควบคุมการติดเชื้อเพิ่มเติม” ดร.มัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาของ WHO ระบุผ่านแถลงการณ์
“WHO กำลังสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการสร้างกระบวนการทดสอบ การติดตามการสัมผัส และโครงสร้างการรักษา ตลอดจนสนับสนุนเพื่อทำให้การรับมือโดยรวมเป็นไปอย่างรวดเร็ว”
ส่วน เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการของ WHO ทวีตข้อความว่า “#กินี มีประสบการณ์หลายปีในการต่อสู้กับ #อีโบลา โดยมีผู้จัดการเหตุการณ์และผู้ฉีดวัคซีนที่เชี่ยวชาญ…รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ หนึ่งในหลายขั้นตอนแรกคือการสร้างความมั่นใจว่า ชุมชนเข้าใจถึงความเสี่ยง และจะเข้าร่วมในการรับมือ บทบาทของพวกเขาสำคัญมาก”
ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาตะวันตกกำลังเตรียมพร้อมรับมือ ส่วนไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา ก็ระบุว่ากำลังติดตามสถานการณ์ และจะออกคำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อจัดการกับข้อกังวลภายในประเทศ
โรคไวรัสอีโบลา ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ไพรเมตอื่น เช่น ลิง กอริลลา และชิมแปนซีนั้น ถือเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรง ซึ่งในครั้งแรกนั้นแพร่กระจายจากสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์ และมนุษย์สามารถติดเชื้อจากมนุษย์คนอื่นได้หากสัมผัสกับของเหลวในร่างกายจากผู้ติดเชื้อ หรือวัตถุที่ปนเปื้อนจากผู้ติดเชื้อ อีกกรณีหนึ่งที่มนุษย์อาจสัมผัสไวรัสได้คือ การฆ่าสัตว์ที่ติดเชื้อเพื่อเตรียมเป็นอาหาร จากข้อมูลของ WHO ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ป่วยจากเชื้ออีโบลาราวครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิต แม้อัตราการตายจะผันแปรระหว่าง 25-90% จากการระบาดในอดีตก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยอีโบลารายใหม่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่ง WHO ประกาศว่ าพบผู้ติดเชื้ออีโบลารายใหม่ที่เมืองบูเต็มโบในจังหวัดนอร์ท คิวู และสำนักงานภูมิภาคแอฟริกาของ WHO ยังเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่า มีผู้ติดเชื้ออีโบลาที่ยืนยันแล้วเป็นรายที่ 3 ในเมืองคาตาวา ใกล้กับเมืองบูเต็มโบด้วย
หน่วยงานด้านสาธารณสุขในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกระบุว่า กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรในการจัดหาเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และยังจะมีการฉีดวัคซีนในภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มต้นในวันจันทร์ด้วย
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ในเดือนมิถุนายน 2020 สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมีรายงานการระบาดของโรคอีโบลาเป็นครั้งที่ 11 มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน และผู้ป่วยที่น่าจะติดเชื้อจำนวน 130 ราย รวมถึงผู้เสียชีวิตอีก 55 ราย
ภาพ: IMAGE POINT FR/NIH/NIAID/BSIP / Universal Images Group via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: