×

Sounds of The 10s: โสตอัตลักษณ์แห่งยุค 10

07.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ
  • พูดได้ว่าซาวด์ดนตรีของยุค 10 มีสุ้มเสียงแห่งเทคโนโลยีอยู่ในทุกวลี หากแต่มันถูกใช้ด้วยวิถีแบบละมุนละม่อม เข้าอกเข้าใจ ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ 
  • ต่างจากยุค 00 ที่ประกาศตนชัดเจนว่าข้าคือเทคโนโลยี อัตตาแห่งการครอบครองเทคโนโลยีได้ถูกนำเสนอในเชิงโอ้อวดมากกว่าความกลมกล่อมของรสชาติ นี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการจาก 00s ไปยัง 10s เราได้ที่ดินผืนใหม่ที่เรียกว่าเทคโนโลยีมา และใช้เวลาคราดไถเตรียมพื้นที่อยู่ราวๆ หนึ่งทศวรรษ กว่าจะสามารถปลูกต้นดนตรีที่เริ่มงอกงามในทศวรรษต่อมา

เมื่อลูบไถลไปบนไทม์ไลน์ของโซเชียลมีเดียในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2019 ก็ได้พบว่าเหล่าเพื่อนฝูงทั้งที่หน้าแปลกและแปลกหน้าก็เริ่มเขียนสเตตัสสรุปสรรพคุณของสิ่งที่พบพานมาในปีนี้ให้เห็นกันอย่างล้นทะลักแล้วเช่นเคย ไม่ว่าเราจะอยากรู้หรือไม่   แต่สิ่งที่พิเศษสุดสำหรับสิ้นปี 2019 นี้คือ มันเป็นการเปลี่ยนผ่านจากทศวรรษที่ 10 ไปยังทศวรรษที่ 20 ซึ่งยังไม่เห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กคนไหนตั้งสเตตัสสรุปชีวิตในช่วงหนึ่งทศวรรษของตัวเองเลย …แต่นั่นก็แสดงว่าทุกคนยังอาการปกติดีอยู่

 

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดยมีเสียงเพลงจากเพลย์ลิสต์ที่ชื่อ ‘Most Streamed songs of the Decade’ เปิดคลอเป็นแบ็กกราวด์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เรียกได้ว่ามีความวุ่นวายหลากหลายสายพันธุ์อย่างแทบปรับอารมณ์ไม่ทัน จาก Drake ไปยัง Adele ต่อด้วย Post Malone ข้ามมาที่ Gotye แล้วหย่อนคลายลงด้วย Ed Sheeran และถูกเหวี่ยงกลับขึ้นไปที่ Calvin Harris ช่างเป็นเพลย์ลิสต์ที่เหมาะกับการฟังบนรถทัวร์พิชิต 752 โค้งขึ้นไปปายเสียนี่กระไร

 

ในแง่ของศิลปะวัฒนธรรมในระดับมหภาคนั้น การจำแนกอัตลักษณ์ตามรายทศวรรษเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความชัดเจนของวิวัฒนาการ การต่อยอด หรือการหยิบยืมองค์ประกอบที่มีอยู่ในอดีตมาดัดแปลงสร้างสรรค์เป็นอนาคตขึ้นใหม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดนตรีป๊อป ปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างชัดเจนถึงคุณลักษณะเด่นของดนตรีในแต่ละทศวรรษ และความเกี่ยวเนื่องสืบต่อกันมาเมื่อมองย้อนกลับไปถึงรากฐาน จนกระทั่งแตกกิ่งก้านพันกันไปมา ยาวมาถึงปัจจุบันอันซับซ้อนราวกับความสัมพันธ์ของอาณาจักรทั้ง 7 แห่งแคว้นเวสเทอรอส

 

 

Recap เหตุการณ์ในช่วง 5 ทศวรรษภายใน 1 นาที

กล่าวแบบสั้นที่สุดประหนึ่งเหมือน Recap เรื่องราวจากซีซันที่แล้วภายใน 1 นาทีได้ดังนี้ เริ่ม! ยุค 50 เป็นช่วงที่ดนตรี Blues เริ่มกลายพันธุ์แยกออกไปเป็น Rock ‘n’ Roll และ Rhythm & Blues ที่มีส่วนผสมของ Gospel เข้าไปหลายหยาดหยด และดนตรีร็อกได้เริ่มลงหลักปักฐานที่มั่นในยุค 60 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ R&B ได้ลงเสาหลักเช่นกัน อันสืบเนื่องจากการกำเนิดค่ายเพลงในตำนานอย่าง Motown Records 

 

มาถึงยุค 70 แนวดนตรีเหล่านี้ได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้น Rock ถูกนำพามาสู่ Heavy Metal, Progressive Rock และ Punk ส่วนดนตรีของชาวผิวสีนั้น R&B ยังคงยั่งยืนอยู่ยาว และเริ่มเสริมทัพด้วยดนตรีเต้นรำอย่าง Disco, Funk 

 

จนกระทั่งยุค 80 เป็นยุคของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สีสันฉูดฉาด กับร็อกผมยาวเป้าตึงที่เน้นภาพลักษณ์ 

 

ต่อเนื่องสู่ยุค 90 เป็นไพรม์ไทม์ของ Alternative ในขณะเดียวกัน พวกบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปก็ลดทอนรายละเอียดจากยุคก่อนลง หันมาแต่งองค์แบบที่พอใส่ไปเดินตลาดได้ ไม่ถูกแม่ค้าเขม่น พอเข้าสู่ยุค 00 อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดการทดลองดนตรีข้ามสายพันธุ์อย่าง Nu-Metal หรือ Rap Rock และดนตรี Electronica ที่ถูกซอยหมวดหมู่ลงไปอย่างละเอียดยิบยับไปหมดตั้งแต่ Break Beat, Big Beat, Trip-Hop, Electroclash และที่มีชื่อเรียกแปลกๆ อีกมากมาย จบ!

 

 

ย้อนรอยลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลกับการก่อรูปขึ้นร่างของสุ้มเสียงแห่งทศวรรษ

ในทุกยุคทุกสมัย สภาพสังคมและวัฒนธรรมมีผลชัดเจนอย่างยิ่งกับแนวดนตรี ไม่ว่าเหตุการณ์จะร้ายหรือดีล้วนสามารถถูกแปลงเป็นพลังงานทางตัวโน้ตได้ทั้งสิ้น เช่นในช่วงกลางยุค 60 ที่อุดมคติทางการเมืองของโลกมีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างขั้วประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ส่งให้เกิดภาวะสงครามเย็นขึ้น เหล่าหนุ่มสาวอเมริกันชนได้เริ่มตะหนักถึงความสูญเสียชีวิตอันเปล่าประโยชน์จากการส่งคนในชาติไปเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นที่มาของการหยิบวิถีแห่งบุปผาชน (Hippie Culture) ออกมาเชิดชู โดยมีแนวคิดหลักคือการธำรงสันติภาพ ต่อต้านสงครามและความรุนแรง ทำให้เกิดแฟชั่น ศิลปะ และแนวดนตรีอย่างไซคีเดลิกและโฟล์กร็อกที่เริ่มผลิบานในช่วงปลายยุค 60 และเปล่งประกายชูชันในช่วงต้นยุค 70 ศิลปินอย่าง Jimi Hendrix, Bob Dylan, The Doors, The Who จึงได้มีพื้นที่ออกมาบรรเลงสีสันจนกลายเป็นตำนาน รวมไปถึงเบอร์ยักษ์อย่าง The Beatles ก็เล่นกับเขาด้วยในอัลบั้มคลาสสิกที่ชื่อ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band

 

 

แล้วองค์ประกอบทางสังคมและวัฒนธรรมอะไรในยุค 10 ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางของดนตรี

ถ้าตอบแบบตื้นๆ ตามที่พวกเราถนัด ก็คงได้แค่คำว่า ‘เทคโนโลยี’ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าลองมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว ยังมีอะไรอีกมากมายที่ถูกพัดพามาตามกระแสของเทคโนโลยีอันเชี่ยวกรากนี้ เราอาจต้องเท้าความกลับไปที่ยุค 00 ที่เทคโนโลยีการสื่อสารเริ่มมีบทบาทอย่างจริงจังกับวงการเพลง 

 

การลงหลักปักฐานของอินเทอร์เน็ตทำให้ดนตรีในยุคนั้นมีการผสมผสานข้ามสายพันธุ์มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหมือนเป็นทศวรรษแห่งการทดลอง ภาพรวมของอัตลักษณ์จึงดูไม่แข็งแรงเท่ายุคก่อนๆ จนกระทั่งมาถึงยุค 10 เมื่อความตื่นเทคโนโลยีจางหายไป ความเข้มข้นของดนตรีลูกผสมจึงกลมกล่อมขึ้นเหมือนซุปเนื้อตุ๋นที่ถูกเคี่ยวกรำมานานจนพร้อมเสิร์ฟให้กลืนกิน

 

พูดได้ว่าซาวด์ดนตรีของยุค 10 มีสุ้มเสียงแห่งเทคโนโลยีอยู่ในทุกวลี หากแต่มันถูกใช้ด้วยวิถีแบบละมุนละม่อม เข้าอกเข้าใจ ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ ต่างจากยุค 00 ที่ประกาศตนชัดเจนว่าข้าคือเทคโนโลยี อัตตาแห่งการครอบครองเทคโนโลยีได้ถูกนำเสนอในเชิงโอ้อวดมากกว่าความกลมกล่อมของรสชาติ นี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการจาก 00s ไปยัง 10s เราได้ที่ดินผืนใหม่ที่เรียกว่าเทคโนโลยีมา และใช้เวลาคราดไถเตรียมพื้นที่อยู่ราวๆ หนึ่งทศวรรษกว่าจะสามารถปลูกต้นดนตรีที่เริ่มงอกงามในทศวรรษต่อมา

 

ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยจัดเต็มไปด้วยรายละเอียดยุบยับในยุคก่อน กลับถูกคลี่คลายลงสู่ความกลมกล่อม หรือเข้าขั้นมินิมัลสำหรับบางศิลปิน เช่น The XX, Billie Eilish, Thom Yorke

 

 

 

 

 

 

เก่าไปใหม่มา

สัจธรรมข้อนี้เป็นความจริงเสมอเหนือกาลเวลากับทุกแวดวง มีดนตรีหลากหลายแนวที่ได้ล้มหายตายจากไป และก็แนวใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่ได้ตายไปแล้วได้ฝากเมล็ดพันธุ์อะไรไว้บนโลกบ้างเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา

 

ดนตรีแนว Nu-Metal ที่เคยพีกสุดๆ ในยุค 00 ได้ล้มหายไปอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งศิลปินหัวหอกของแนวนี้อย่าง Linkin Park ก็ได้เซอร์ไพรส์วงการด้วยการออกอัลบั้ม One More Light ในปี 2017 ที่แทบจะลบล้างสไตล์ดั้งเดิมของตนในยุคก่อนออกไปทั้งหมดแบบไม่เหลือกลิ่น แล้วเลือกที่จะมูฟออนไปสร้างผลงานที่มีส่วนผสมของ EDM และ Trap อย่างกล้าหาญและน่าชื่นชม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เหล่าแฟนๆ กลุ่มดั้งเดิมของพวกเขากลับออกมาบ่นอุบถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไม่พอใจ การเปลี่ยนแนวทางแบบพลิกตลบ 180 องศาอาจทำให้คนบางกลุ่มทำใจรับไม่ทัน แต่นั่นอาจเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยเตือนใจให้เรารับกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ และแล้วมันก็เกิดขึ้นจริงในช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากที่อัลบั้มนี้ได้ถูกปล่อยออกมา เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำของวง ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงด้วยสาเหตุจากโรคซึมเศร้า ทำให้ One More Light กลายเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาอย่างน่าเศร้าซึม

 

 

 

ส่วนอีกวงที่เคยโด่งดังตีคู่กันมาในยุค 00 อย่าง Limp Bizkit กลับกลายเป็นเรื่องขำขันแห่งยุค 10 เมื่อโลกหมุนไวขึ้น ความเชยจึงมาเยือนอย่างรวดเร็วเกินคาดสำหรับนักกีฬาที่วิ่งไม่ทัน ท้ายที่สุดทั้งชื่อวงและใบหน้าของ เฟรด เดิร์สท์ นักร้องนำของวงได้กลายเป็น Meme มุขตลกร้ายหลายร้อยมุขที่แพร่กระจายอยู่ทั่วโลกออนไลน์อย่างน่าสงสาร ถึงแม้ว่ายุค 10 นี้จะไม่มีที่ยืนสำหรับ Nu-Metal แต่ใครจะไปรู้ว่าสักวันหนึ่งมันอาจจะกลับมาฮิตก็ได้นะ แต่สำหรับนาทีนี้ คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเองไปก่อน

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าด้วยการเปลี่ยนแนวเพลงของศิลปิน บางวงเลือกที่จะทำโดยละม่อม ค่อยเป็นค่อยไปแบบไม่ช็อกแฟนเพลงนัก ซึ่งก็ได้ผลในกรณีของ Coldplay ที่เริ่มต้นจากการเป็นวง Britpop จ๋าๆ ตั้งแต่อัลบั้มแรก Parachutes ในปี 2000 ก่อนจะมีผลงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

 

Coldplay ค่อยๆ ผสมเครื่องดนตรีสังเคราะห์เข้ามา แล้วกระเถิบไปใส่กลิ่นอายของ World Music และ EDM ตื๊ดๆ จนสามารถขยายฐานแฟนเพลงไปได้มากมาย นับว่าทุกวันนี้ Coldplay เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็ดูเหมือนจะไม่เกินจริงนัก และล่าสุดทางวงก็ได้ปล่อยอัลบั้ม Everyday Life ออกมาส่งท้ายยุค 10 ด้วยสีสันของดนตรีสดอีกครั้ง บวกด้วยผิวสัมผัสละมุนของวงเครื่องสาย และเครื่องดนตรีพื้นบ้านแบบอารบิก คล้ายๆ กับว่า คริส มาร์ติน ต้องการจะส่งสารมาบอกว่าต่อไปนี้เราจะพาพวกนายจะเข้าสู่ยุคของจิตวิญญาณแล้วนะ

 

 

80s Revival: การกลับมาของซินธ์ป๊อปแบบ 80s

ซาวด์อิเล็กทรอนิกส์แข็งๆ จากเครื่องดนตรีสังเคราะห์ในยุคตั้งไข่ กลองไฟฟ้าลูกใหญ่เท่าบ้าน แฟชั่นสีลูกกวาดที่มากับมิวสิกวิดีโอแบบเซอร์เรียล นั่นแหละคือภาพจำของยุค 80 ที่ทำเอาเหล่าแม่ๆ ต้องเอารูปตัวเองสมัยยังสาวที่เคยแต่งตัวตาม Madonna ในยุค Lucky Star ไปซ่อนไม่ให้ลูกหลานเห็น เหตุการณ์ที่มีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ของยุค 80 อย่างยิ่งยวดคือ การเริ่มเปิดตัวของ MTV ในปี 1981โทรทัศน์ดนตรี 24 ชั่วโมงช่องแรกของโลก นับเป็นปรากฏการณ์ที่พลิกผันวงการดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ โดยที่นับจากนั้นเป็นต้นมาศิลปินที่ออกผลงานต้องจัดเต็มทั้งภาพและเสียง เมื่อ MTV เปิดพื้นที่ให้ศิลปินแสดงได้ตัวตนด้านกายภาพที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตาเนื้อ ภาพที่ออกมาจึงมีลักษณะ Overdo ไปหน่อย จนทำให้เสื้อผ้า หน้าผม และเสียงเพลงเหล่านั้นถูกเก็บซ่อนเข้ากรุอย่างรวดเร็วด้วยความขวยเขิน พร้อมกับเพลย์ลิสต์ลับที่มีชื่อว่า Guilty Pleasure ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่กล้าบอกใครว่าจริงๆ แล้วฉันก็ชอบเพลงเหล่านี้นะ แต่จะเก็บไว้เปิดฟังตอนอยู่คนเดียวเท่านั้น

 

และแล้วเมื่อเวลาผ่านไป ใครจะไปหยั่งรู้ว่าสีสันของซินธ์ป๊อปแบบ 80s จะถูกดึงกลับมาใช้อย่างสง่าผ่าเผยในยุค 10 นี้ ใครที่เคยปรามาสว่าเฉิ่มว่าเชยเป็นอันต้องกลืนน้ำลายตัวเองอึกใหญ่ เพราะศิลปินที่ดึงเอาองค์ประกอบของยุค 80 มาใช้นั้น หลายๆ คนเรียกได้ว่าเป็นเบอร์ใหญ่แห่งยุคเลยทีเดียว เช่น Bruno Mars กับอัลบั้ม 24K Magic ที่แทบจะเป็นตัวตายตัวแทนสืบสานตำนานเพลงป๊อปให้เกรียงไกรต่อจาก Michael Jackson อย่างไรอย่างนั้น พิสูจน์ได้จากรางวัล Grammy Award 6 สาขาในปี 2016 ที่เป็นเครื่องการันตี นอกจากนี้ก็ยังมีวง The 1975 ที่ใส่ความ 80s เข้าไปหลายช้อนโต๊ะ ในอัลบั้มชื่อยาวๆในปี 2016 อันนั้นแหละ และยังกระเด็นมาใส่อัลบั้มถัดมาอีกหลายเหยาะ (A Brief Enquiry into Online Relationships – 2018) ทำให้ช่วงเวลาแห่ง 10s กลมกล่อมไปด้วยซอสเผ็ดรส 80s

 

หรืออีกตัวอย่างที่เซอร์ไพรส์สุดๆ คือวงร็อกปังๆ อย่าง Paramore ก็แวะเวียนมาใช้บริการเครื่องปรุงจาก 80s ในอัลบั้มล่าสุดอย่าง After Laughter (2017) จนทำให้ซาวด์ของวงฉีกออกไปจากทุกอัลบั้มที่เคยทำมา และ Muse ที่มากับธีมซาวด์แทร็กไซไฟย้อนยุคสุดเท่ในอัลบั้ม Simulation Theory (2017) กลิ่นอายของ 80s ยังหาฟังได้จากผลงานของ Arcade Fire, Foals, Two Door Cinema Club, The Killers ซึ่งล้วนเป็นศิลปินที่เราไม่คาดคิดว่าจะหยิบความ 80s นี้มาเล่น แสดงว่าต่างคนต่างก็มี Guilty Pleasure ในแนวเพลงเหล่านี้ที่รอวันจะเปิดเผยธาตุแท้ คล้ายๆ กับที่โลกยุคปัจจุบันมีการเปิดเผยและให้การยอมรับกับบุคคลข้ามเพศมากขึ้นอย่างไรอย่างนั้น

 

มาถึงขั้นนี้แล้ว ว่าด้วยเหตุการณ์การอวตารของความ 80s ในยุค 10 นี้คงขาดความสมบูรณ์ไปไม่น้อย หากไม่ได้กล่าวถึงซีรีส์เรื่อง Stranger Things และภาพยนตร์อย่าง Ready Player One ซึ่งทำเอาผู้ใหญ่หัวใจเด็กอย่างเราๆ ถึงกับกรีดร้อง รีบไปค้นหาอัลบั้มซาวด์แทร็กมาฟังโดยพลัน เพราะมันคือ 80s ล้วนๆ

 

และแล้วเพลย์ลิสต์ที่ชื่อ ‘Guilty Pleasure’ ของเราที่อุดมไปด้วยเพลงจากยุค 80 ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Proudly Pleasure’ ในที่สุด แต่ต้องขอเอาพวกเพลงร็อก Hair Band นักร้องนำหนุ่มหน้าสวยออกจากลิสต์ก่อนนะ เพราะมันยังไม่กลับมา

 

 

 

 

 

 

Asian Invasion

คำจั่วหัวที่ฟังดูยิ่งใหญ่อันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงยุค 60 ที่มีชื่อว่า ‘British Invasion’ เมื่อกองทัพศิลปินจากฝั่งอังกฤษได้พาผลงานของตัวเองมาถึงจุดที่โด่งดังสุดๆ ในอเมริกา โดยหัวขบวนคือวง The Beatles และตามมาติดๆ ด้วย The Rolling Stones, The Kinks, The Hollies, The Animals, The Yardbirds และทัพเสริมอีกมากมาย

 

มาถึงยุค 10 นี้ เริ่มฉายแววแห่งโอกาสของศิลปินชาวเอเชียแล้ว เรียกว่านับเป็นครั้งแรกที่ผลงานของศิลปินเชื้อชาติเอเชียได้รับความนิยมในระดับโลก เริ่มจากการเปิดทศวรรษด้วยคุณน้า Psy กับเพลง Gangnum Style ที่สามารถพาตัวเองขึ้นไปอยู่ในอันดับ 2 ในชาร์ต Billboard Hot 100 ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2012 และไม่ได้เป็น One Hit Wonder เสียด้วย เมื่อเพลง Gentleman ได้ขึ้นสู่อันดับ 5 ในปีถัดมา และถึงแม้เพลงต่อๆ มาของคุณน้าคนนี้จะไปได้ไม่ไกลเท่าเดิมนัก แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับพวกเราชาวหัวดำ

 

จนกระทั่งมาถึงช่วงปลายทศวรรษที่มีศิลปินอย่าง BTS และ BLACKPINK มาช่วยรับช่วงต่อ โดยเฉพาะเบอร์แรกนั้นสามารถพาอัลบั้มของตนเข้าสู่อันดับ 1 ในชาร์ต Billboard 200 ได้สำเร็จ

 

อย่างไรก็ตาม เราอาจยังไม่สามารถใช้คำว่า ‘Asian Invasion’ ได้เต็มปากเต็มคำนักสำหรับยุค 10 นี้ แต่ก็เรียกได้ว่าประตูสู่โลกสากลได้เริ่มเปิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่น่าจับตามองสำหรับทศวรรษต่อไปว่าศิลปินชาวเอเชียจะพาตัวเองไปสู่ระดับโลกได้มากแค่ไหน และจะเสริมสร้างและนำพาสุ้มเสียงที่เป็นเอกลักษณ์จริงๆ ของตนให้เป็นที่ประจักษ์แก่เวทีโลกได้อย่างไร เรายังร่วมลุ้นและรอที่จะใช้คำว่า ‘Asian Invasion’ ในทศวรรษต่อไปอยู่นะ

 

 

 

 

 

Death of Mainstream

เมื่อยุคนี้เป็นยุคแห่งอัตตาอันมีที่มาจากโซเชียลมีเดีย เราต่างพยายามหันด้านที่อยากให้โลกรู้ออกข้างนอก และเอาซอกสีคล้ำเก็บงำไว้ภายใน ทุกคนต้องการการยอมรับและถูกมองเห็นจากสังคม เราจึงต่างพยายามสร้างความเป็นปัจเจกให้กับตนเองด้วยวิธีการต่างๆ นานา ซึ่งในวงการเพลงก็เช่นกัน เพราะแน่นอนศิลปินที่ประสบความสำเร็จย่อมมีตัวตนที่โดดเด่นออกมาจากฝูงชน เราสามารถตั้งข้อสังเกตง่ายๆ กับเรื่องใกล้ตัวอย่างวงการเพลงบ้านเรา ที่สมัยนี้เรียกได้ว่าวัฒนธรรมการก๊อบปี้เพลงสากลมาใช้หากินนั้นได้หายไปแล้วแทบจะหมดสิ้น ซึ่งต่างกับยุคก่อนมาก ไม่ใช่เพราะว่ากลัวดราม่าอะไรหรอก หากแต่เป็นเพราะยุคนี้เป็นยุคที่เราให้เกียรติและให้ความเคารพตัวเองมากกว่าที่จะไปหยิบของของคนอื่นมาสวมใส่อย่างทึกทัก

 

เมื่อทุกคนต่างก็ต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง และตัวตนของแต่ละคนก็ย่อมต่างไซส์ต่างทรงกัน จึงทำให้เกิดกลุ่มย่อยๆ ของแนวดนตรีต่างๆ มากมายตามรสนิยมอันแตกต่าง เมื่อ ‘Fashion’ ไม่สำคัญเท่า ‘Passion’ กลุ่มย่อยๆ เหล่านั้นจึงมีความเหนียวแน่นและแข็งแรงมากกว่าสมัยก่อน และมากพอที่จะขับเคลื่อนให้กลุ่มของตนดำรงอยู่ได้และแพร่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

 

วงการเพลงเคยอาศัยอยู่ได้ด้วยวิถีของแฟชั่นมาหลายทศวรรษ ซึ่งคุณลักษณะสำคัญของแฟชั่นคือ การเป็นที่นิยมแบบผิวเผินในคนหมู่มาก และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนผ่านไปได้อย่างรวดเร็วราวกับความสัมพันธ์แบบ One Night Stand ซึ่งดนตรีกระแสหลักหรือที่เราเรียกว่า Mainstream นั้นก็คือแฟชั่นทางโสตประสาทนั่นเอง  

 

แต่พอมาถึงยุคนี้ที่การฟังเพลงไม่ใช่แฟชั่นอีกต่อไป ดนตรีแบบ Mainstream จ๋าๆ จึงลดน้อยถอยลง เปิดพื้นที่ให้กลุ่มย่อยๆ ของแนวดนตรีต่างๆ ออกมาจับจองหัวหาดของตนเอง เพราะการฟังเพลงในยุค 10 นับเป็นเรื่องของรสนิยม และการนำเพลงที่ตนชอบออกมาแชร์ในโซเชียลมีเดียก็มีนัยแห่งการ Personalize ตัวเองให้โลกได้รับรู้ ยอมรับ และชื่นชมรสนิยมของตนในที่สุด ยิ่งสื่อสตรีมมิงในยุคนี้ก็เอื้อให้เกิดการแชร์รสนิยมมากขึ้นโดยเราสามารถสร้างเพลย์ลิสต์ของตัวเองออกมาเผยแพร่ หลังจากนั้นก็จะมีกลุ่มคนที่เข้ามาติดตามเพลย์ลิสต์ของเราหากเขารู้สึกถูกหู หลายๆ เพลย์ลิสต์ไม่ได้ถูกสร้างโดยเซเลบหรือผู้มีต้นทุนทางด้านหน้าตาในสังคมเลย แต่ก็สามารถมีผู้ติดตามเป็นหลักแสนหลักล้านได้

 

 

 

สื่อสตรีมมิง ทางออกของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อันยืดเยื้อ

หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานในการแก้ปัญหาการฟังเพลงแบบละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่ครั้งที่เราเริ่มมีอินเทอร์เน็ตบ้านในช่วงปลายยุค 90 การจัดงานรณรงค์แถลงข่าวใหญ่โตโดยเอารถแทรกเตอร์มาไถทับทำลายเทปผีซีดีเถื่อนลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งในครานั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลยสักนิด จนกระทั่งมาถึงจุดหนึ่งที่เราตระหนักได้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่จิตสำนึกผิดชอบชั่วดีของผู้ฟังหรอก แต่สื่อลิขสิทธิ์แบบเดิมๆ มันไม่ตอบโจทย์การบริโภคในยุคใหม่ต่างหาก การเข้าถึงเพลงที่อยากฟังได้รวดเร็วตามใจนึกเป็นสิ่งที่สื่อแข็งรุ่นเก่าอย่างเทปและซีดีไม่สามารถให้ได้ สื่อละเมิดลิขสิทธิ์จึงเป็นทางเลือกของผู้ฟัง ณ เวลานั้น

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์มการฟังเพลงรูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์อย่างถูกกฎหมาย เช่น Apple Music, Spotify, Tidal, Joox, Deezer และล่าสุด YouTube Music บางแพลตฟอร์มได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายยุค 00 แล้ว เช่น Spotify ได้เริ่มเปิดตัวในปี 2008 และตามมาด้วย Tidal ในปี 2014, Apple Music ในปี 2015 เป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมการฟังเพลงของชาวโลกที่เปลี่ยนไปอย่างชาญฉลาด และนำไปสู่วัฒนธรรมการฟังเพลงแบบใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยสักทีในที่สุด

 

 

The Artists Strike Back

ความเปลี่ยนแปลงของวงการดนตรีในทศวรรษนี้มีมากมายหลายด้านเหลือเกิน อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงทางบทบาทหน้าที่ในระดับองค์กรของค่ายเพลง ที่เรียกว่าแทบจะต้อง Re-organize ใหม่ ไม่ว่าบุคลากรในองค์กรเหล่านั้นจะตระหนักหรือไม่และหรือยัง แม้แต่ในโลกตะวันตกที่ระบบดั้งเดิมนั้นแข็งแรงและมีความเป็นมืออาชีพสูง ยังต้องถูกสั่นคลอนในยุคนี้

 

เมื่อเสียงของศิลปินดังขึ้น และดังมากพอที่จะไปกระทบหูของกลุ่มผู้ฟังโดยตรง จากเดิมที่ค่ายเพลงต้องเป็นผู้คัดกรอง และวางแผนตลอดทุกฝีก้าว มาถึงวันนี้ที่ค่ายเพลงต้องพยายามหาที่ยืนใหม่ให้กับตนเองเพื่อหาทางสนับสนุนศิลปินในสังกัดด้วยวิธีที่ทันสมัยขึ้น และยังคงบทบาทของตนให้ดำรงความสำคัญอยู่ในสายพานการผลิตและการประชาสัมพันธ์อยู่ มิฉะนั้นค่ายที่วิ่งตามไม่ทันก็จะถูกลดสถานะกลายเป็นเพียงพ่อค้าคนกลางที่สุดท้ายแล้วจะถูกเขี่ยออกจากสมการเมื่อถึงวันที่ศิลปินกับผู้บริโภคสามารถสื่อสารกันเองได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อสัญญาเดิมๆ ที่ค่ายกับศิลปินเคยเซ็นกันไว้ก็เริ่มทยอยหมดอายุลงไป ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินไตร่ตรองมากขึ้นว่าจะเซ็นเพื่ออยู่ต่อ หรือออกไปผจญภัยในโลกอินดี้เสียดีกว่า

 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการนำเสนอผลงานในเชิงปัจเจกนิยม ศิลปินได้รับโอกาสในการแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองมากกว่ายุคไหนๆ ศิลปินเกือบทั้งหมดเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นเพียงตุ๊กตาเหมือนในยุคก่อน ขนาดเด็กน้อยที่มีอายุเพิ่งถึงเกณฑ์เข้าผับได้อย่าง Billie Eilish ยังสามารถนำพาเพลงที่เธอและพี่ชายทำเองในห้องนอนทั้งหมดออกมาให้ชาวโลกฟังได้อย่างน่าทึ่ง หน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองในฐานะศิลปินนั้น เป็นเรื่องที่เป็นที่ตระหนักและพยายามทำกันมาโดยตลอดอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีใบสั่ง เพราะศิลปินใดๆ ต่างก็อยากอัพเลเวลของตัวเองขึ้นไปสู่จุดที่สูงขึ้น โดยมีต้นทุนคือกำลังสมอง กำลังกาย และกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาศักยภาพขององค์กรค่ายเพลงให้อยู่ในจุดที่แฟร์กับมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ศิลปินได้ลงแรงไปยังเป็นคำถามที่ยังคงรอคำตอบ และหลายศิลปินก็เลือกที่จะไม่อยู่รออีกต่อไป ในเมื่อตนมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีกำลังทรัพย์หรือสปอนเซอร์ที่มากพอสำหรับทำโปรดักชัน การออกมาเป็นศิลปินอิสระจึงเป็นทางออกสำหรับพวกเขา โลกนี้ช่างตลกร้ายนัก ที่กาลครั้งหนึ่งในอดีต การได้เซ็นสัญญาเพื่อออกผลงานกับค่ายเพลงเคยเป็นเรื่องสุดแรงปรารถนาของศิลปินทุกคน ตามที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์อัตชีวประวัติของศิลปินในอดีต แต่ในปัจจุบันโลกกลับพลิกผันไปอีกด้านเหมือนนาฬิกาทราย เมื่อศิลปินหลายคนกลับเลือกที่จะออกมาเป็นศิลปินอิสระ

 

 

 

 

ประกอบกับการสนับสนุนของดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง Spotify และ Apple Music ที่จงใจให้ศิลปินอิสระมีพื้นที่ในการปล่อยของมากขึ้นในเชิงนโยบาย จนเรียกได้ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้กลายเป็นที่ทั้งรักทั้งชังสำหรับค่ายเพลงเลยทีเดียว เพราะถึงแม้มันจะเป็นสื่อในการนำเสนอเพลงได้กว้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นแรงกระตุ้นให้ศิลปินละทิ้งค่ายเพลงมาอัปโหลดเพลงกับแพลตฟอร์มโดยตรง รายได้จากการสตรีมมิงก็จะถูกยิงตรงเข้ากระเป๋าศิลปิน โดยไม่ต้องโดนหักเปอร์เซ็นต์จากค่ายเพลง และในช่วงปีหลังๆ ของทศวรรษ ดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ขยับตัวเองขึ้นมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงในฐานะดิสทริบิวเตอร์ให้ศิลปินอินดี้อย่างชัดเจน ความมันในการห้ำหั่นในโลกธุรกิจดนตรีจึงเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศอังกฤษ ทั้ง Spotify และ Apple Music เลือกที่จะนำเสนอ Aaron Smith ศิลปินไร้สังกัดขึ้นมาเป็น New Music Friday และ Best of the Week ตามลำดับพร้อมกันทั้งสองแพลตฟอร์มในวันเดียวกัน ราวกับเป็นความตั้งใจในการลงสนามทดลองตลาด เหตุการณ์นี้สร้างบรรยากาศความอึมครึมระหว่างค่ายเพลงกับดิจิทัลแพลตฟอร์มได้ไม่น้อย กลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับแวดวงดนตรีเลยทีเดียว

 

 

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน คำกล่าวนี้ของพระพุทธเจ้าเป็นความจริงที่เหนือกาลเวลาเสมอ เพียงแต่เราอาจไม่ทันคาดคิดว่าความเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษนี้มันช่างรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าที่พวกเราจะตั้งตัวได้ทัน คำศัพท์เท่ๆ ที่ถูกนำมาใช้บ่อยที่สุดในทศวรรษที่ 10 นี้คงไม่พ้นคำว่า ‘Disruption’ ที่แปลตรงตัวว่า ‘การแตกกระเจิง’ ซึ่งในบริบทนี้คงหมายถึง การที่มีสิ่งใหม่, วิถีใหม่ หรือทางเลือกใหม่เข้ามากวาดเอาธรรมเนียมเดิมๆ ที่เคยมีอยู่เนิ่นนานให้แตกกระจายออกไปจนราบคาบอย่างรวดเร็ว คำนี้อาจจะเท่พอๆ กับคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ ที่ใช้กันในปี 1994 ก็ได้ แต่เมื่อใช้มันบ่อยๆ ในหลายๆ อิริยาบท สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นคำพร่ำเพรื่อในที่สุด 

 

ในทศวรรษที่ 20 อันใกล้นี้เราน่าจะชินกับการ Disruption มากขึ้นแล้วนะ เพราะมันเกิดขึ้นทุกวัน สุดท้ายผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่สามารถปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์ หวังว่าเราคงได้พบกันอีกครั้งในอีก 10 ปีข้างหน้า กับบทความที่ชื่อ Sound of The 20s: อัตลักษณ์แห่งยุค 20s

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising