×

โฆษกศาลยุติธรรม แจงคดี ม.112 ‘ลูกเกด ชลธิชา’ ที่ศาลเลื่อนให้เร็วขึ้นเป็นไปตามระเบียบ ไม่เกี่ยวกับเรื่องว่าที่ ส.ส.

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2023
  • LOADING...
สรวิศ ลิมปรังษี

วันนี้ (2 มิถุนายน) สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณี ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อให้ตรวจสอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา ที่เร่งรัดคดีอาญา มาตรา 112 ที่ชลธิชาตกเป็นจำเลย โดยมีการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น จนไม่มีทนายความจำเลยร่วมฟังการสืบพยานโจทก์ เมื่อวานนี้ (1 มิถุนายน) 

 

สรวิศกล่าวว่า คดีนี้แต่เดิมมีการกำหนดนัดสืบพยานไว้เป็นช่วงเดือนมีนาคม 2567 แต่ตอนหลังมีเรื่องของการกำหนดกรอบระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม โดยมีระเบียบของประธานศาลฎีกาออกมาว่า คดีประเภทคดีอาญาสามัญควรจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จตั้งแต่วันรับฟ้อง ซึ่งศาลอาญาเห็นว่าระยะเวลาที่มีการนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2567 น่าจะเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป เลยกรอบไปนาน จึงมีการปรับปรุงวันนัดใหม่ให้กระชั้นขึ้นหรือเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกินกรอบระยะเวลานานเกินไป 

 

เมื่อกำหนดวันนัดใหม่ก็เลยมีประเด็นที่จำเลยโต้แย้งวันนัด ว่าในวันที่ 1-2 มิถุนายน 2566 จำเลยไม่ว่าง เพราะทนายติดว่าความคดีที่ศาลอื่น จึงขอเลื่อนการสืบพยานในวันดังกล่าว แต่องค์คณะผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนคดีนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้จำเลยมีทนาย 2 คนคือ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม และ กฤษฎางค์ นุตจรัส  

 

โดยคนที่แถลงเลื่อน ว่าติดว่าความที่ศาลอื่นคือนรเศรษฐ์ ส่วนกฤษฎางค์ไม่ได้ติดคดีอะไร เพราะฉะนั้น โดยปกติเมื่อมีทนาย 2 คนแบบนี้ หากคนหนึ่งติดว่าความคดีอื่น แต่อีกคนไม่ติดคดีอะไร ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ได้ องค์คณะผู้พิพากษาจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และมีการสืบพยานไป 

 

สรวิศกล่าวต่อในส่วนประเด็นที่ชลธิชาระบุว่า ในการสืบพยานจำเลย เมื่อวานนี้ ไม่มีทนายจำเลยร่วมรับฟังการสืบพยานภายในห้องพิจารณาคดีนั้น ว่าตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กำหนดว่าต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องสืบพยานต่อหน้าทนายจำเลย เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนพิจารณา การที่กฎหมายกำหนดคือเรื่องของจำเลยเป็นหลัก   

 

แต่สิทธิ์ในการที่จะต่อสู้คดีในการถามค้านตรงนี้ก็มี 2 ส่วนคือ ประเด็นแรก ทางศาลถามตัวจำเลยว่าจะซักถามพยานในเชิงถามค้านเองหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ไม่ใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของตัวความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาได้เองอยู่แล้ว เพราะทนายก็เป็นตัวแทนของตัวความก็คือ โจทก์ จำเลย เพราะฉะนั้น สิทธิ์ในการถามก็เป็นสิทธิ์ในตัวความอยู่แล้ว

 

สรวิศกล่าวต่อไปว่า ในการสืบพยานโจทก์เมื่อวานที่ผ่านมา มีการอัดเทปหรือวิดีโอไว้ด้วย ซึ่งศาลก็ได้มีการถามเหมือนกันว่า หากทนายจำเลยไม่ว่างในวันดังกล่าวก็สามารถไปศึกษาจากวิดีโอที่บันทึกไว้เพื่อขอถามค้านในวันอื่นได้  

 

แต่ปรากฏว่าชลธิชาก็โต้แย้งมาโดยตลอดว่า กระบวนการพิจารณาไม่ชอบ จึงแจ้งต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ตรงนี้ ส่วนการยื่นหนังสือถึง ก.ต. เพื่อขอให้ตรวจสอบการพิจารณาคดีขององค์คณะผู้พิพากษานั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และถือเป็นเรื่องปกติ ที่ว่าหากคู่ความคนใดเห็นว่าตนเองอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมก็ยื่นเรื่องให้พิจารณาได้อยู่แล้ว แต่ว่าสุดท้ายการพิจารณาจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น 

 

ส่วนประเด็นเรื่องของการตั้งคำถามว่า ศาลเร่งรัดพิจารณาคดีเฉพาะว่าที่ ส.ส. ของพรรคก้าวไกลนั้น สรวิศกล่าวว่าคงไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นว่าที่ ส.ส. เพราะการเร่งรัดคดีตรงนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้ ซึ่งการปรับปรุงวันนัดก็มีการปรับปรุงในหลายๆ คดีให้เร็วขึ้นตามกฎหมายที่ออกมา และคดีของชลธิชาก็ฟ้องมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งฟ้อง ส่วนคดีที่มีการอ้างถึงว่าพิจารณาคดีล่าช้านั้น เป็นคดีที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้นคงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising