×

หมอเลี้ยบ กับยุทธศาสตร์เปิดเมือง ‘เมื่อผีเศรษฐกิจน่ากลัวกว่าผีโควิด-19’ ไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร

11.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • หากเอ่ยชื่อ ‘หมอเลี้ยบ’ หลายคนน่าจะนึกภาพย้อนไปถึงบทบาทของการมีส่วนร่วมในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน 
  • ขณะที่บทบาทในปัจจุบันคือการนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล ในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงในมิติของโครงการ 30 บาทฯ และได้เข้ามามีบทบาทในการให้คำแนะนำในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย
  • หมอเลี้ยบบอกว่า วิกฤตโควิด-19 วันนี้เราคุมได้ดีแล้ว แต่ปัญหาคือมันทำให้หลายสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้ จึงจำเป็นต้องไม่ประมาทเรื่องเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาด 

THE STANDARD สนทนากับ หมอเลี้ยบ หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอย่างไม่เป็นทางการ 

 

 

หมอเลี้ยบถือว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเบื้องหลังยุทธศาสตร์สาธารณสุขในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการโรคระบาด การล็อกดาวน์ และการผ่อนปรน ซึ่งวันนี้ยังมีอีกหลายโจทย์ที่ต้องทำต่อ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเปิดเมือง ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น

 

หมอเลี้ยบเล่าที่มาที่ไปถึงการได้เข้ามาให้คำปรึกษาแก่อนุทินว่า เพราะได้รู้จักกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ต่อมาเมื่ออนุทินเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทีมงานก็ได้ต่อสายมาถึงตนเองว่าอนุทินอยากจะคุยด้วยในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร อยากให้โครงการ 30 บาทฯ เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง เพราะโครงการ 30 บาทฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 จนถึงตุลาคม 2545 ก่อนที่ตนเองจะย้ายไปทำงานในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

​“ผมได้เรียนคุณอนุทินตรงๆ ว่าโครงการ 30 บาทฯ มีหลายเรื่องที่ต้องทำ เพราะว่าผ่านมาถึงวันนี้ 18 ปีแล้ว หลายเรื่องเราคิดตั้งแต่ยุคแรกๆ ว่าต้องทำหลายต่อ แต่มันชะงักงันอยู่อย่างนั้น พอเล่าให้ฟังเขาก็จดทุกอย่างที่ผมพูด แล้วบอกว่าถ้ามีโอกาสจะให้ไปพูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบ จนเกิดเป็นการประชุมย่อยที่มีท่านรัฐมนตรี มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผม นั่งคุยกันว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร”

 

และต่อจากนี้ไปคือบทสัมภาษณ์ถึงภาพรวมและบทเรียนของการจัดการต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นว่าเรามีจุดบกพร่องอย่างไรในการรับมือกับโควิด-19 อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี แล้วต่อจากนี้เราจะเผชิญกับอะไรต่อ 

 

 

การทำงานล่าสุดที่เวลานี้คุณหมอมีส่วนในการให้คำแนะนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หน้าที่นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

ต้องเรียนตรงๆ ว่าเรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องที่ผมไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรขนาดนั้น เพราะถือเป็นเรื่องที่ระบบภายในของกระทรวงน่าจะรับมือไหว ด้วยประสบการณ์ที่ได้เห็นในการรับมือโรคซาร์สและไข้หวัดนก

 

​แต่ก็ได้เรียนคุณอนุทินว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคที่รับมือได้ทั่วๆ ไป เพราะเป็นโคโรนาไวรัส ซึ่งซาร์สก็เป็นโคโรนาไวรัส ผมก็เรียนไปว่าเรื่องนี้ต้องระวังนะว่ามันอาจกลับไปเหมือนซาร์ส ผมเริ่มรู้สึกว่าปัญหานี้รุนแรงมากขึ้นคือเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งที่จริงเราก็เริ่มไปตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนกันก่อนหน้านั้นแล้ว ก็ได้ย้ำกับคุณอนุทินอีกทีว่าเราต้องตั้งวอร์รูมแล้ว ต้องมีการพูดคุยสม่ำเสมอ อาจจะต้องทุกวันด้วย แต่สถานการณ์ตอนนั้นประเทศไทยยังมีเคสประปราย ทำให้วอร์รูมตอนนั้นยังเป็นขนาดใหญ่ที่นั่งพูดคุยกันเหมือนระบบราชการปกติ

 

เริ่มมาจริงจังก็สักเดือนมีนาคมที่ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มมีสถานการณ์มากขึ้น แล้วประเทศไทยก็มาเริ่มปรากฏจากเหตุจัดมวยที่สนามมวยลุมพินี กลายเป็นจุดเปลี่ยนของการมองสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย จะเรียกว่าเป็น ‘Super Spreader’ ก็ไม่ผิด (คนที่มีความสามารถในการแพร่โรคติดต่อไปยังผู้อื่นเป็นจำนวนมาก)

 

​มองย้อนกลับไป การรับมืออาจไม่ทันการณ์ เพราะอาจต้องเริ่มตั้งแต่การตรวจหาโรค ซึ่ง ณ วันนี้เรามีศักยภาพตรวจวันละ 20,000 ตัวอย่าง แต่ย้อนไปเดือนมีนาคม เราตรวจได้วันละไม่เกิน 2,000 ตัวอย่าง ก็เป็นจุดหักเหว่าต้องมีการขยายศักยภาพการตรวจครั้งใหญ่ กระทั่งเรื่องห้องไอซียูก็ต้องเร่งฟื้นฟู เป็นมิติการรับมือที่อาจไม่ทันการณ์ จึงมีข้อเสนอเรื่องการกึ่งปิดเมือง Semi Lockdown ที่เริ่มพูดกันกลางเดือนมีนาคม เพื่อซื้อเวลาให้เราทำ 3 เรื่อง หนึ่ง การป้องกันโรค สอง การควบคุมโรค สาม การรักษา

 

​ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงเรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉินเลย เพราะคิดว่า พ.ร.บ. โรคติดต่อก็น่าจะเอาอยู่ ซึ่งกลไกผู้ว่าฯ กลไกสาธารณสุขจังหวัด ก็สามารถทำทุกอย่างที่ทำได้ในทุกวันนี้อยู่แล้ว แต่มีอย่างเดียวที่ไม่สามารถทำได้คือเรื่องเคอร์ฟิว วันนี้ผมก็ยังยืนยันว่าเคอร์ฟิวไม่ได้ช่วยอะไรหรอก มันไม่ได้ช่วยลดการระบาดเลย เพราะกลางวันมันก็ระบาดได้ การห้ามออกนอกสถานที่คงเป็นเรื่องไม่อยากให้คนไปสังสรรค์กัน แต่เมื่อปิดผับ ปิดสถานที่ต่างๆ แล้ว มันก็สามารถหยุดได้แล้ว

 

 

จากที่คุณหมอพูดเรื่องการมองสถานการณ์ที่เรามองช้าเกินไป อยากให้คุณหมอถอดบทเรียนตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อมองไปข้างหน้า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถรับมือกับมันได้ แม้ช่วงแรกเราจะละเลยไปมาก

จริงๆ แล้วพื้นฐานของระบบควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเราทำได้ดี ถ้าไม่มีเรื่องของการระบาดจากเวทีมวย ผมคิดว่าเราไปได้เรื่อยๆ ตอนนั้นมีคนถามผมว่าปกปิดข้อมูลหรือเปล่า เพราะเห็นมีผู้ติดเชื้อไม่กี่คนเอง ไม่ใช่อะไรเลย ระบบควบคุมโรคของเราดี นักระบาดวิทยาเราเป็นมืออาชีพ ทำงานร่วมกันมาเป็น 40 ปี วงการระบาดวิทยาของเราได้รับคำชื่นชมจากระดับโลกว่าเราทำงานต่อเนื่อง มีนักระบาดวิทยาในทุกจังหวัด และที่สำคัญคือ อสม.

 

​ผมว่าประเทศอื่นไม่มีใครเอาจริงเอาจังเหมือนเรา ผมว่าเรามี อสม. มา 40 กว่าปีแล้ว สมัยผมออกไปทำงานต่างจังหวัดก็มีแล้ว ตอนนี้เรามี 1.04 ล้านคนที่เรียกว่า อสม. จริงๆ ดูจากตัวอย่างหลายๆ เคส เพื่อนที่รู้จักกันไปต่างจังหวัดวันนี้ วันรุ่งขึ้น อสม. มาเยี่ยมบ้านแล้ว ถือว่าเขาทำได้จริงจัง

 

​ช่วงแรกเราดูเบาปัญหาเกินไป แล้วพอเข้าใจปัญหาก็มีการบูรณาการกัน เราก็มาทำ Task Force มาคุยกันเลย ตัดความเป็นราชการทิ้ง ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องอยากเห็น อยากให้มีอยู่แล้ว แล้วมีทำ Dashboard กันเพื่อที่จะรู้ข้อมูล เห็นลงไปถึงระดับจังหวัด อำเภอ น้องๆ ร่วมกับแพทย์สายไอทีในกรมควบคุมโรค เขาทำกันจนถึงขั้นดูว่าจะเอาข้อมูลผู้ป่วย ผู้ป่วยใหม่ ข้อมูลของเตียงมารวมกัน มาดูพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนมีโอกาสเสี่ยงมากกว่ากัน

 

 

มีตัวอย่างที่จะต้องถอดบทเรียนเพิ่มเติมอีกไหม

เรื่องการตรวจ มีคนถามอยู่เสมอว่าเราตรวจน้อยไปไหม ช่วงแรกตัวเลขอยู่ที่ 25,000 ผมถามไปก็มีคำตอบว่าเราตรวจไป 70,000 แล้ว แต่ไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ละฝ่ายตรวจก็เก็บข้อมูลเอง อย่างมหาวิทยาลัย อย่างรามาฯ ก็ตรวจเยอะมาก เอกชนก็มีการตรวจ เพราะ สปสช. ให้นโยบายว่าถ้ามีเหตุต้องตรวจหรือเข้าข่ายก็ได้รายละ 3,000 บาท ผมก็ขอสต๊อกข้อมูลที่เก็บไว้มา ก็ได้ข้อมูลมาว่าเราตรวจมา 71,000 แล้ว ตอนนี้อัปเดตมาทุกสัปดาห์ วันนี้เราตรวจไป 2 แสนกว่าตัวอย่างแล้ว

 

​คือคนทำงานก็ทำไป แต่ไม่มีโอกาสได้มาแชร์ข้อมูลกับสาธารณะ ก็คือไม่มีคนมองภาพรวมเพื่อที่จะเอามาพูดให้คนเข้าใจว่าไม่ได้หลอก แต่ได้ทำจริงๆ

 

 

คุณหมอยืนยันว่าประสิทธิภาพการตรวจของเราดี

ยืนยัน เรามีแล็บทุกจังหวัด มีงบประมาณพอที่จะรองรับการตรวจได้ ผมตั้งไว้ว่าพร้อมตรวจได้ประมาณ 1 ล้านราย กำลังในการตรวจคือ 20,000 ตัวอย่างต่อวัน แต่วันนี้ทุกวันที่ตรวจก็อยู่ที่ 3,000-4,000 ตัวอย่าง ตอนนี้มีเรื่องการเรียกร้องให้เปิดเมือง ซึ่งคุณหมอเคยให้ความเห็นว่าเหมือนเราให้เคมีบำบัดไป เราเปิดเมืองได้มากกว่านี้ไหม

 

ผมว่าควรเปิดเร็วกว่านี้ และอีกหลายอย่างควรเริ่มเตรียมการเปิดได้แล้ว เช่น ถ้าอะไรจะเปิดในวันที่ 17 พฤษภาคม วันนี้ก็ควรเตรียมประกาศได้แล้ว ต้องทำให้คนที่เปิดได้เตรียมการเปิดธุรกิจของเขา และควรมีคนไปตรวจสอบ ต้องบอกล่วงหน้าสัก 7 วัน มีคู่มือให้คนไปเตรียมทำ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปดูว่าทำตามคู่มือไหม ถ้าไม่ทำก็ไปบอกให้ปรับปรุง

 

​เรียนว่าเราพร้อมแล้วตั้งแต่กลางเดือนเมษายน เรามีศักยภาพที่จะรองรับได้ มีไอซียูในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 200 เตียง รับมือผู้ป่วยที่จะเป็นโควิด-19 ชนิดรุนแรงได้ 720 คนต่อสัปดาห์ หรือวันละ 100 คน ดังนั้นถ้ามีผู้ป่วยวันละ 100 คน เรารับได้อยู่แล้ว เรื่องของการทดสอบเราก็รับมือได้

 

​แต่ที่สำคัญคือการป้องกันโรค เรารู้ว่าเชื้อโรคเข้าทางตา จมูก ปาก ตราบใดที่เชื้อโรคไม่เข้า เราก็ไม่ควรเป็นโควิด-19 เลย ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของโรคแล้วจะกลัวทำไม

 

ก็เหมือน HIV ที่เกิดใหม่ๆ ทุกคนกลัวมาก แล้วบอกว่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ เพราะจะไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว เราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นบ้าง ตอนนั้นก็บอกว่าไม่มีเพศสัมพันธ์ นั่นคือ Physical Distancing แล้วจะทดสอบให้ได้มากที่สุดทำอย่างไร ผู้หญิงที่ให้บริการทางเพศต้องตรวจทุกสัปดาห์ นั่นคือทดสอบแล้ว สุดท้ายเราใช้สองวิธีนั้นไหม ไม่

 

​วิธีที่ทำให้เราป้องกัน HIV ได้จนกระทั่งวันนี้เราอยู่กับมันได้โดยไม่กลัวคือการใช้ถุงยางอนามัย เมื่อใช้แล้ว คุณก็ไม่ต้องตรวจว่าพาร์ตเนอร์ของคุณเป็น HIV หรือเปล่า หรือไม่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์เลย

 

​ฉันใดฉันนั้น วันนี้ไม่ใช่บอกว่าห้ามมีการพูดคุยกัน ถ้าไม่มี Droplet มาถึงตา ถึงปาก ขณะพูดคุยกันผมก็ไม่กลัว แล้วถ้าผมจะหยิบขนมเข้าปาก ผมก็ล้างแอลกอฮอล์ ผมจะกลัวอะไร

 

 

เหตุผลที่ยังไม่เปิดเต็มที่เพราะอะไร

อาจเป็นความกลัว เหมือนกับกลัวผี พอมีใครมาบอกว่าโควิด-19 น่ากลัวมาก คนตัดสินใจก็จะเพลย์เซฟไว้ก่อน ไม่อยากทำอะไรที่ต้องมาถูกด่าทีหลัง แต่ทุกวันนี้สิ่งที่คนด่าคือวันนี้คนจะตายอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Disruption ที่อีก 1-2 ปีจะมา วันนี้มาทันที ดังนั้นคนที่รับผิดชอบไม่ต้องกลัวผีโควิด-19 กลัวผีเศรษฐกิจดีกว่า กลัวให้เยอะๆ ด้วย แล้วที่ผมเห็นมีออกมาพูดว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ 6-9 เดือน ผมว่าท่านกลัวผีเศรษฐกิจน้อยเกินไป ไม่ใช่ 6-9 เดือน งานนี้หนักกว่าต้มยำกุ้ง บวกแฮมเบอร์เกอร์ บวกน้ำท่วมด้วย มันมาวันนี้ ท่านเตรียมไว้ดีๆ เมื่อต้นปีท่านประมาทโควิด-19 วันนี้อย่าประมาทเศรษฐกิจ

 

 

ถ้ารัฐบาลยังประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจแบบนี้อยู่ ความเดือดร้อนจะเป็นอย่างไรต่อ

วันนี้เห็นชัดแล้วคืออย่ามองคนที่มาหน้ากระทรวงการคลังเรื่องไม่ได้รับสิทธิ์ 5,000 บาทเป็นปัญหาเล่นๆ นั่นเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง คนที่ลำบากมากๆ เป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสมาแสดงความเห็น ถามว่าเขาจะอยู่อย่างไร ผมเคยเป็นหมออยู่ต่างจังหวัด คนจนจริงๆ เขาทอดอาลัย และท้ายที่สุดคือยอมจำนนตามยถากรรม

 

​ปัญหาเศรษฐกิจต่อไปนี้ คนข้างล่างเริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงคนหาเช้ากินค่ำ แม้แต่คนชั้นกลางที่หาเงินเดือนชนเดือนแล้วมีหนี้พอสมควร ต่อไปนี้ก็คงไม่รู้จะทำอะไร ซึ่งต่างจากสมัยต้มยำกุ้ง ปัญหาอยู่ที่ข้างบนคือสถาบันการเงิน นักการเงิน ส่วนเรามีหลังพิงกันคือด้านเกษตร ส่งออก และยังมีนักท่องเที่ยว แต่วันนี้กลับกัน รัฐบาลอย่าดูเบาปัญหา การช่วยชั่วคราวให้คนพอไปได้ ถึงเวลาผมว่ามันอาจจะเป็นแรงปะทุทางการเมือง เทียบกับตอนเราแก้ไข้หวัดนก รัฐบาลสั่งฆ่าสัตว์ปีกไป 30 ล้านกว่าตัว ผลที่ตามมาคือผู้เลี้ยงไก่ล่มจม รัฐบาลทำอย่างไร อุดหนุน 5,000 ล้านบาทเพื่อให้สามารถชดเชยความเสียหายของเขา 

 

​มาวันนี้เราสั่งปิดเมืองเหมือนกับการสั่งฆ่าไก่ ทำให้คนไม่มีเงิน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือให้เงินมาช่วยคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจจะสามารถอยู่ได้อีกช่วงหนึ่ง

 

 

ถ้าคุณหมอให้คำปรึกษาได้ ยุทธศาสตร์หลังจากนี้ทั้งในช่วงระยะสั้นและระยะยาว เรามีทางออกไหม เพราะถ้าเราต้องบาลานซ์ทั้งสาธารณสุขและเศรษฐกิจด้วย จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี

วันนี้เรื่องสาธารณสุขไม่ต้องกังวลแล้ว ความกลัวเรื่องคลื่นลูกที่สอง ลูกที่สาม ผมกลัวน้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ความกลัวเรื่องนี้มาจากสมัยไข้หวัดสเปนเมื่อปี 1918 ซึ่งเกิดคลื่นลูกที่สอง มันเกิดเพราะคนไม่เข้าใจว่าคลื่นลูกที่หนึ่งมันหยุดเพราะอะไร หลังจากที่มีการสิ้นสุดคลื่นลูกที่หนึ่งก็ถอดหน้ากากกัน แล้วเปิดรับให้ทหารกลับจากสงครามเข้ามาแล้วแพร่เชื้อต่อ ตรงนั้นทำให้เกิดคลื่นลูกที่สอง แต่วันนี้เราหยุดคลื่นลูกที่หนึ่งแล้วยังป้องกันตัวตลอด ใส่หน้ากาก ล้างมือ ถามว่าจะมีคลื่นลูกที่สองไหม ผมว่าไม่ ดังนั้นเบาใจได้ แต่หนักใจเรื่องเศรษฐกิจเยอะๆ เถอะ

 

​ผมยังไม่เห็นว่ามีวอร์รูมเศรษฐกิจหรือยัง ทุกวันนี้ปล่อยให้กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องนี้แล้ว และถ้าจะตรึงให้อยู่ต้องมี Universal Basic Income (UBI) ต้องมีเงินจำนวนหนึ่งที่จะดำรงชีวิตได้ ให้ทุกๆ คนสามารถดำรงชีวิตได้ อย่าไปตั้งเงื่อนไขมากมาย ถ้าตั้งเงื่อนไขมาก สุดท้ายระบบราชการจะทำให้การทำงานไม่สำเร็จ

 

​ตอนทำ 30 บาทฯ ก็เคยพูดกันว่าอย่าไปสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนเยอะ เหมือนก่อนหน้าที่มีบัตรรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อยก็เป็นเงื่อนไขว่าถ้าคุณไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ์รักษา คนจนจริงๆ หาบัตรจากไหน ยากมาก ตอนเราทำ 30 บาทฯ เราตั้งหลักว่าถ้วนหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ ทำให้เหมือนกับทีวี ทีวีหนึ่งเครื่อง ประชาชนควรรู้แค่ว่าจะเปิดหรือปิดอย่างไร จะกดปุ่มเพิ่มเสียงอย่างไร เปลี่ยนช่องอย่างไร แค่นี้พอ เรื่องวงจรข้างหลังเป็นเรื่องของเรา เราจัดการได้

 

​ดังนั้นเรื่องแจกเงิน 5,000 บาทก็เหมือนกัน อย่าให้ยุ่งยากมาก ถามว่าจ่ายไป 20-30 ล้านคน คุณใช้เงินเท่าไรในการทำให้คนยังอยู่ได้ เหมือนที่ฆ่าไก่ยังจ่าย 5,000 ล้าน แล้วนี่คน 20-30 ล้านคน ถามว่าเงินเอาไปทำอะไร ก็เอาไปบริโภค ก็กลับมาเป็นภาษี ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจยังเดินไปได้ แล้วค่อยมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หลายๆ ธุรกิจอยู่ไม่ได้ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยแล้ว

 

​ต้องเรียนตรงๆ ด้วยฝีมือทีมงานที่มีขณะนี้ผมว่าไม่มากพอ ต่อจากนี้ต้องระดมทุกภาคส่วนเข้ามา เพราะที่ปรึกษาที่ตั้งล่าสุด กลุ่มก้อนก็ยังเป็นนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งก็ได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องมากกว่านี้เยอะ เพราะคนที่ลำบากที่สุดและต้องการที่จะให้ข้อมูลมากที่สุดก็คือคนที่เผชิญอยู่หน้างาน คนจน คนที่เป็นสตาร์ทอัพ คนที่ถูกผลกระทบ ท่องเที่ยว ภาคส่งออก

 

​ต้องบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขเราดี แต่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเรามีปัญหา มีความเหลื่อมล้ำ มีเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน แล้วถ้าแก้ปัญหาอย่างนี้ ทำงานอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาไม่ได้หรอก

 

 

มองในกรอบของสาธารณสุข หลายคนชมว่าเราทำได้ดี ซึ่งในวิกฤตก็มีโอกาสอยู่ New Normal หลังจากนี้ในมุมสาธารณสุขเราน่าจะมีจุดเด่นได้ ถ้าจะชูมาเป็นจุดขาย Health Industry, Well Being ต่างๆ ที่จะเติบโต คุณหมอมองอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นต้องบอกว่าต่างชาติชื่นชม เราอย่าเหลิง เราทำได้ดีกว่านี้ สำหรับตอนนี้เราจะเห็น New Normal เช่นกัน เช่น ที่หมอบอกว่าไม่ต้องมารับยาที่โรงพยาบาล แต่ให้รับที่ร้านขายยา หรือรับยาโดยที่ให้ อสม. เป็นแกร็บส่งไปให้ที่บ้านได้เลย เป็นสิ่งที่เราปูไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

 

​แต่เรื่องสำคัญคือจะใช้ไอทีอย่างไรให้เราทำงานได้ดีขึ้น ทำอย่างไรที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งในการให้ อสม. ควบคุมโรค ดูโรค รวมถึงเรื่อง Telemedicine, Telehealth ตอนนี้หมอที่เชี่ยวชาญด้านไอที เรามีคนเก่งๆ อย่างนี้อยู่ตามโรงพยาบาลและตามกรม ซึ่งที่ผ่านมาต่างคนต่างพัฒนากันเอง ดังนั้นเราต้องมาบูรณาการ ผมขอให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการไอทีของกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามคุยหลายรอบแล้ว แต่ว่ามาครั้งนี้คงมีตัวกระตุ้นให้เร็วขึ้น

 

​กลับมาก็คือว่าเราจะใช้สาธารณสุขเป็นเครื่องมือสร้างการแข่งขันให้ประเทศได้ไหม ได้ แต่ว่าจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้หลายๆ ประเทศที่ถามว่าประเทศไทยของจริงหรือเปล่า พิสูจน์แล้วว่าจริง แต่เรื่องพวกนี้ต้องเอาจริง ผมกลัวเป็นเพียงไฟไหม้ฟาง

 

 

อนาคตของประเทศไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร

วิกฤตโควิด-19 ผมว่า ณ วันนี้เราคุมได้ดีแล้ว แต่ปัญหาคือมันทำให้หลายสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้ ตลาดส่งออกหลายประเทศก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ต้องดูต่อไป แต่ประเทศไทยโควิด-19 ก็เริ่มคลายตัว โอกาสเกิดระบาดรอบสองผมว่าน้อยมาก มันเคยเกิดแบบนี้สมัยซาร์ส อยู่ๆ เดือนกรกฎาคม ปี 2003 ซาร์สก็หายไปจากโลกนี้ มีคนที่พยายามทำวัคซีนซาร์ส ปรากฏว่าทำไม่สำเร็จ เพราะไม่มีซาร์สให้พิสูจน์ว่าได้ผล แล้ววันนี้เราก็ไม่เจออีก

 

​ดังนั้นเรื่องของโควิด-19 ถ้าทุกประเทศควบคุมโรคจนผู้ป่วยรายสุดท้ายจบ โควิด-19 ก็อาจจะหายไป ที่ผมหวังตอนนี้ไม่ใช่วัคซีนที่อาจรออีก 1-2 ปี แต่หวังให้ทุกประเทศควบคุมโรคให้ดีที่สุดจนกระทั่งไม่มีผู้ป่วยเหลือแล้วในประเทศนั้น แล้วกลับมาสู่โลกที่โควิด-19 เซฟ การเดินทางท่องเที่ยวก็อาจกลับมาเหมือนเดิม คนเที่ยวได้ปกติ การบริโภคก็จะดีขึ้น แม้ไม่เร็วนัก หลายสิ่งที่เรากลัวก็อาจไม่เป็นอย่างนั้น เช่น เรื่อง Co-working Space หลายคนบอกว่าจะไม่มีแล้ว คนจะไม่อยู่คอนโดฯ แล้ว ไปอยู่บ้านเดี่ยว อาจไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนตอนสึนามิ หลายคนพูดว่าภูเก็ตจบแล้ว หลังจากนี้จะกลายเป็นเกาะร้าง ก็ไม่จริง 2-3 ปีผ่านไปก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

 

 

สิ่งที่อยากจะบอกผู้นำมากที่สุด 

ขอยกคำของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อฝากไว้ว่า ผู้นำที่ดีต้องเป็นนักสื่อสารที่ดีด้วย ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีโอกาสรับฟังความเห็นต่างๆ ให้มากที่สุด แล้วยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และในแง่ของการแสดงความเห็น คนที่เป็นผู้นำ ทุกคำพูด ทุกคนเฝ้ารอว่าจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร พล.อ. ชาติชาย เคยบอกว่าก่อนจะพูด เราเป็นนายของคำพูด หลังจากพูดแล้ว คำพูดเป็นนายเรา ทุกคำพูดสำคัญเสมอ

 

 

ท้ายสุด บทเรียนจากโควิด-19 ที่สำคัญสุดสำหรับคุณหมอคืออะไร

ทุกอย่างคืออนิจจัง ไม่มีอะไรยั่งยืนได้ตลอด เรื่องเศรษฐกิจ ผมเคยคุยกับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เขาคิดว่าปี 2020 ต้องมีวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไม่คิดว่าจะขนาดนี้ ต้องเรียนว่าอะไรมันก็เกิดขึ้นได้

 

​ดังนั้นวันนี้ทำตัวเบาๆ ไว้เถอะ หนี้สินอย่ามีเยอะแยะ อย่ามีอะไรมากมาย อย่าใฝ่ฝันอยากเป็นโน่นนี่นั่น เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่อยากได้ อยากเป็น อยากมี มันไม่เคยที่จะอยู่กับเราไปตลอด ดังนั้นบอกกับตัวเอง จริงๆ ก็บอกไว้นานแล้วว่าใช้ชีวิตอย่างมีสติ แล้วรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา แล้วเราก็จะมีความสุข

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X