วันนี้ (20 พฤษภาคม) ที่ ทำเนียบรัฐบาล สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีแพทยสภามีมติลงโทษ 3 แพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยระบุว่า ตนได้รับหนังสือมติดังกล่าวแล้ว และกำลังรอเอกสารเพิ่มเติมจากแพทยสภาก่อนพิจารณาภายในกรอบเวลา 15 วัน ยืนยันจะดำเนินการตามกฎหมาย และยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะยับยั้งมติหรือไม่
สมศักดิ์ ชี้แจงว่า ได้รับข้อมูลจากคณะกรรมการเสนอความเห็นให้สภานายกพิเศษ เพื่อพิจารณาตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพและเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตนตั้งขึ้น โดยการพิจารณาจะต้องผ่านคณะกรรมการทั้งหมด 4 ชุดของแพทยสภา ได้แก่ คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดเฉพาะกิจ, คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ, คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง และคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ที่มีกรรมการ 70 คน ซึ่งเป็นผู้พิจารณาเรื่องโทษ
“ผมได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมไปยังแพทยสภาเป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คำตอบ หากได้ข้อมูลครบถ้วน คณะกรรมการชุดที่ผมตั้งขึ้นก็จะสามารถพิจารณาได้ทันที” สมศักดิ์กล่าว
พร้อมระบุว่าข้อมูลที่ขอเพิ่มเติมเป็นข้อมูลในช่วงท้ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานตามมาตรา 25 และต้องการฟังคำปรึกษาจากคณะกรรมการชุดที่ตนตั้งขึ้นว่าสภานายกพิเศษมีอำนาจในการยับยั้งมติได้หรือไม่
เมื่อถามว่านายกสภาพิเศษควรมีอำนาจในการยับยั้งมติของแพทยสภาในอนาคตหรือไม่ สมศักดิ์ย้ำว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ เพราะตนต้องทำตามกฎหมาย หากไม่ดำเนินการตามกฎหมายจะมีความผิดมาตรา 157 ได้ เช่นเดียวกับแพทยสภาที่ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องในภายหลัง
ส่วนกรอบระยะเวลา 15 วันในการพิจารณา สมศักดิ์กล่าวว่าจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้รับข้อมูลครบถ้วนจากแพทยสภา และจะพยายามไม่ขอขยายเวลาเพิ่มเติม
สำหรับประเด็นที่แพทยสภาออกมาระบุว่ามีเอกสารบ่งชี้ว่าทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤต สมศักดิ์กล่าวว่าในส่วนนี้แพทยสภาได้พิจารณาไปทั้งหมดแล้ว และยังไม่ได้มีการเสนอมายังคณะกรรมการสภานายกพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 157 ที่คณะกรรมการแต่ละชุดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
สมศักดิ์ยังระบุว่าได้รับทราบคำร้องขอความเป็นธรรมของ 2 แพทย์โรงพยาบาลตำรวจแล้ว และได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากแพทยสภาเพื่อให้ตรงกับคำร้องดังกล่าว ส่วนกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ระบุว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอาจเสี่ยงต่อการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบนั้น สมศักดิ์ยืนยันว่าทุกคนต้องถูกตรวจสอบโดยกฎหมาย และคณะกรรมการแพทยสภาทุกชุดก็ต้องระมัดระวังการดำเนินการไม่ให้ขัดต่อกฎหมายมาตรา 157