×

สมจิตร จงจอหอ บทเพลงของฮีโร่ผู้แสนเจ็บปวด ที่ไม่ยอมจำนนให้กับความผิดหวัง

22.03.2019
  • LOADING...
สมจิตร จงจอหอ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สมจิตร จงจอหอ เริ่มฟังเพลงตั้งแต่ 6 ขวบ จากเพลง ดรรชนีไฉไล ของ สุรพล สมบัติเจริญ ก่อนที่จะเริ่มฟังเพลงเพื่อชีวิต และเพลงสตริงในเวลาต่อมา
  • สมจิตรจะต้องเปิดเพลง ผู้ชนะสิบทิศ เวอร์ชันที่วงคาราบาวเอามาร้องใหม่ก่อนขึ้นเวที แต่เมื่อลงเวทีมาแล้ว เขาจะอยากฟังเพลง ศรัทธา ของวงหิน เหล็ก ไฟ
  • ช่วงเวลาที่ทำให้สมจิตรเจ็บปวดมากที่สุดคือ ตอนที่แพ้ในกีฬาโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ แล้วพบว่า ตัวเองแทบไม่มีที่ยืนในสังคม จนเกือบคิดที่จะเลิกชกมวย แต่สุดท้ายเขากลับมาสู้อีกครั้ง จนคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในปี 2008 ได้สำเร็จ
  • สมจิตรเปรียบเทียบตัวเองเป็นหมาล่าเนื้อ ที่เมื่อก่อนเขาล่าเนื้อที่เรียกว่าความสำเร็จเพื่อตัวเอง แต่วันนี้ ในวันที่อายุมากขึ้น จากที่เคยทำเพื่อตัวเอง มาเป็นการแบ่งปันให้คนอื่นๆ กับโครงการบริจาคอุปกรณ์กีฬาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน ที่เขาเริ่มทำมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน

ย้อนกลับไปในปี 2008 ‘สมจิตร จงจอหอ’ กลายเป็นชื่อที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์กีฬาไทย ในฐานะผู้ที่สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครองได้สำเร็จ หลังจากนั้นเขาก็แขวนนวม และหันมาปรากฏตัวผ่านหน้าจอโทรทัศน์ พร้อมกับรอยยิ้มและอารมณ์ขันที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

 

ภายใต้มุกตลกที่เราเห็นจนชินตา สมจิตรได้ซ่อนบาดแผลอันแสนเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่ได้รับจากการตัดสินใจก้าวเท้าเข้าสู่สังเวียนผ้าใบเอาไว้อย่างมิดชิด ถึงแม้ว่าวันนี้บาดแผลต่างๆ จะทุเลาลงไปมากแล้ว แต่บทบาทที่สร้างจากเรื่องราวของเขาจากค่าย LOVEiS และ I AM ในรายการ Melody to Masterpiece ก็ได้ไปสะกิดแผลเป็นที่เริ่มแห้ง และเรียกน้ำตาของฮีโร่ให้กลับมาได้อีกครั้ง

 

แต่ว่านี่เป็นหยาดน้ำตาที่เขายินดีจะหลั่งมันออกมาอีกครั้ง ที่จะได้แบ่งปันประสบการณ์อันแสนเจ็บปวด ที่เขากัดฟันลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง เพื่อแบ่งปันให้กับทุกคนที่กำลังท้อแท้ เพราะสำหรับเขา ความพ่ายแพ้นั้นไม่สำคัญ หากว่าเราได้ลงมือทำสิ่งนั้นด้วยทุกอย่างที่มีอย่างเต็มที่แล้วจริงๆ

 

สมจิตร จงจอหอ

 

การฟังเพลงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตคุณตั้งแต่เมื่อไร

ผมเติบโตมากับเพลงลูกทุ่งของ ครูสุรพล สมบัติเจริญ ฟังมาตั้งแต่ 6 ขวบเลยนะ อย่างเพลง ดรรชนีไฉไล นี่พี่สาวเปิดให้ฟังทุกวัน แล้วก็พยายามจับความหมาย จับเมโลดี้แบบงูๆ ปลาๆ ไม่รู้เรื่องอะไรหรอกว่าถูกหรือผิด รู้แค่ว่าเราชอบที่จะอยู่กับดนตรีแบบนั้น

 

พอโตขึ้นมาหน่อยช่วงเริ่มชกมวยประมาณ 8 ขวบ ก็ไปฟังเพลงเพื่อชีวิต ชอบความตรงไปตรงมาเวลาพูดถึงชีวิต สังคม หรือธรรมชาติ ขุนเขา สัตว์ป่าของศิลปินเพื่อชีวิต แล้วค่อยขยับมาเป็นเพลงสตริงของ ติ๊ก ชิโร่ กับวงพลอย (วงดนตรีที่มีอดีตสมาชิกอย่าง โอม-ชาตรี คงสุวรรณ, จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว ฯลฯ มีเพลงฮิตอย่าง ปลงซะ, จดหมายลาครู และ สูตรรักนักเรียน ฯลฯ)

 

https://www.youtube.com/watch?v=2GTPRzkmF7c

เพลง ดรรชนีไฉไล ของ สุรพล สมบัติเจริญ

 

เพลง จดหมายลาครู ของวงพลอย

 

การฟังเพลงมีความสัมพันธ์กับการชกมวยอย่างไรบ้าง

ที่แน่ๆ คือการปลดปล่อยและผ่อนคลาย โดยเฉพาะช่วงเก็บตัวหนักๆ นะ ผมจะต้องร้องเพลงตอนอาบน้ำทุกวัน ร้องไม่จบหรอก อาบน้ำเสร็จก็พอ แต่สำคัญมากนะ ขาดไม่ได้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาปรับอารมณ์ของเราที่กำลังเครียดๆ ได้ดีมากเลย

 

กับอีกแง่หนึ่งคือ การปลุกใจเราให้ฮึกเหิม ผมว่าทุกคนจะมีเพลงประจำตัวที่ได้ยินแล้วมีกำลังใจ อย่างผมก่อนขึ้นเวทีต้องเปิดเพลง ผู้ชนะสิบทิศ เวอร์ชันที่คาราบาวเอามาร้องใหม่ หรือเพลง We Will Rock You ของวง Queen นี่ก็ไม่ได้เลยนะ ได้ยินแล้วคึกเลย (หัวเราะ) แต่พอชกมวยเสร็จ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ จะรู้สึกอยากฟังเพลง ศรัทธา ของหิน เหล็ก ไฟ เป็นเพลงเนื้อหาอมตะ ที่ฟังเมื่อไรจะรู้สึกมีกำลังใจสู้ต่อไปได้

 

https://www.youtube.com/watch?v=ZbJ22VDDma0

เพลง ผู้ชนะสิบทิศ เวอร์ชันคาราบาว

 

เวลาอกหักฟังเพลงบ้างหรือเปล่า

ไม่เลยครับ ผมไม่ค่อยอินกับเรื่องพวกนี้ด้วยมั้ง เวลาบอกว่าอกหัก มันอาจจะเสียใจครู่หนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้หญิงอีกมากมาย และมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายในชีวิตรอเราอยู่ แต่เวลาฟังเพลงที่พูดถึงชีวิต ชีวิตเราเกิดมาแล้วตายได้แค่ครั้งเดียวนะ บางทีที่ผิดหวังกับชีวิต ไปชกแพ้หรืออะไรก็ตามแล้วเสียใจมากๆ ก็เพราะเรากลัวว่าจะตาย และไม่มีโอกาสได้ทำแบบนั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเพลงอย่าง ศรัทธา เลยทำงานกับผมมากกว่าเพลงรัก เพราะมันบอกให้เราสู้ ถ้าไม่สู้ก็ตาย แล้วข้างหลังไม่ได้มีแค่เราคนเดียว ยังมีอีกหลายชีวิตในครอบครัว ยังมีอีกหลายล้านคนในประเทศที่ฝากไว้กับเราอยู่ เราไม่สู้ไม่ได้

 

สมจิตร จงจอหอ

“ชีวิตเราเกิดมาแล้วตายได้แค่ครั้งเดียวนะ บางทีที่ผิดหวังกับชีวิต ไปชกแพ้หรืออะไรก็ตาม แล้วเสียใจมากๆ ก็เพราะเรากลัวว่าจะตาย และไม่มีโอกาสได้ทำแบบนั้นอีกแล้ว”

คุณเคยพูดถึงช่วงเวลาตอนแพ้ในโอลิมปิกปี 2004 ที่เอเธนส์ จากฮีโร่ที่เคยมีคนคอยเชียร์ กลายเป็นไม่มีใครมารอรับที่สนามบินเมื่อคุณกลับมา แล้วบอกว่า นั่นคือช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิต ในเวลานั้นมีเพลงไหนบ้างไหมที่ช่วยให้คุณผ่านความเจ็บปวดตอนนั้นมาได้

ไม่มี ตอนนั้นผมไม่ฟังเพลงอะไรเลย (หัวเราะ) อยากอยู่กับตัวเองเงียบๆ คิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา จะเอายังไงต่อไปกับชีวิต สร้างสมาธิ สร้างกำลังใจให้ตัวเองก่อน เพลงช่วยไม่ได้เลย ยิ่งฟังยิ่งแย่ด้วยซ้ำ บางทีอยู่เงียบๆ เพลงขึ้นมาแล้วใจมันเสียไปเลยนะ (หัวเราะ) ต่อให้เป็นเพลงที่เคยให้กำลังใจเราได้ก็เถอะ แต่ถ้ามาในเวลานั้น อย่ามาเปิดให้ฟัง อย่าเพิ่งมาย้ำกูตอนนี้

 

พอเปลี่ยนสถานะจากคนฟังมาเป็นคนเล่าเรื่องในรายการ Melody to Masterpiece แล้ว มีทีมงานนำชีวิตของคุณไปแต่งเป็นบทเพลงสร้างแรงบันดาลใจ รู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกว่ามันไม่ใช่เพลงของผมเสียทีเดียวนะ แต่เป็นของหลายๆ คนเลย เพลง เจอะมาเย็บ เจ็บมาเยอะ ก็สนุกสนาน เฮฮา มีหยอกล้อ มีอมยิ้ม อีกเพลงเป็นเรื่องราวของการต่อสู้ พูดถึงชีวิตว่าต้องเจออุปสรรค เจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วพอเราย้อนมองมาที่ตัวเอง ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อใคร แล้วมีกำลังใจกลับไปสู้ต่อ ซึ่งแน่นอนว่า มีหลายคนที่ต้องเจอเรื่องราวแบบที่ผมเจอ

 

เพลง เจอะมาเย็บ เจ็บมาเยอะ ของค่าย I AM

 

ความรู้สึกไหนที่กลับมาแล้วทำให้คุณร้องไห้ ตอนฟังเพลง แลก ของค่าย LOVEiS

ภาพตอนแพ้ที่กรุงเอเธนส์นั่นแหละครับ ภาพตอนที่เราไม่มีแม้แต่สแตนด์ของนักกีฬาให้ยืน ผมเข้าใจว่าชีวิตคนเราก็มีขึ้นมีลงอยู่แค่นี้แหละ แต่กำลังใจคือสิ่งสำคัญที่สุดในตอนที่เรากำลังจม มันมีหลายความรู้สึกจริงๆ ตอนที่ดี ทุกคนก็ต้อนรับเรา แต่ในวันที่เราผิดหวัง ทำไมทุกคนถึงไม่ดูแลเราเหมือนเดิม มันอาจจะเป็นเรื่องปกติของสังคมก็ได้ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคือ อยากให้ทุกคนรักเราเหมือนเดิม อย่าทอดทิ้งเราในวันที่ทำประโยชน์ให้กับใครไม่ได้แล้ว

 

เหมือนผมเป็นหมาล่าเนื้อตัวหนึ่ง วันไหนที่ยังหนุ่ม ล่าเนื้อมาให้นายพรานได้ มันก็จะได้กินเนื้อเยอะ แต่วันไหนที่แก่ตัวลง เขี้ยวฟันผุกร่อน ล่าเนื้อได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วนายพรานก็ไม่ให้อาหารมันกิน ทั้งที่เราก็ล่าเนื้อด้วยกันมาก่อนหน้านั้น ความรู้สึกมันเป็นแบบนั้นเลย

 

แล้วพอเพลงบิลต์มาถึงท่อนของอาจารย์เฉลิมชัย ที่บอกว่า ถ้ากระจอก มึงก็จบ ถ้าเรายอมแพ้วันนี้ เราก็ไม่มีวันถึงจุดหมาย มันก็เห็นภาพที่ตัวเองลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง ทั้งที่อายุผมมากแล้วนะ ทุกคนคิดว่าผมคงชกมวยไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ แต่ผมยังสู้ สู้กับ 4 ปี สุดท้ายอีกครั้ง เปลี่ยนความคิดใหม่ ไม่สำเร็จไม่เป็นไร แต่เราจะทุ่มเทกับมัน พัฒนาตัวเองจนถึงวันสุดท้าย

 

แล้วเชื่อไหม ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปเลย 4 ปีแรก ผมทุ่มเท โฟกัสที่ชัยชนะ พอพลาด ผมเสียใจมาก แต่ 4 ปีต่อมา ผมทุ่มเทเหมือนเดิม แต่คิดว่าไม่เป็นไร กูมาเต็มที่แล้ว ถ้ากูทำขนาดนี้แล้วยังสู้เขาไม่ได้ กูก็สู้เขาไม่ได้จริงๆ ล่ะวะ ยอมรับความจริงไป แต่ผมก็สู้จนสำเร็จจนได้

 

เพลง แลก ของค่าย LOVEiS

 

ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าวันนั้นคุณกลับไปสู้ แล้วแพ้กลับมาอีก คำตอบที่บอกว่าดีใจที่ได้สู้จะเปลี่ยนไปบ้างไหม

คำตอบไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปไหม แต่ที่แน่ๆ ต่อให้รู้ว่าจะแพ้ ผมก็จะกลับไปสู้เหมือนเดิม ต่อให้รู้ว่าไม่มีทางชนะก็สู้ อย่างน้อยสู้ให้รู้ว่าเราสู้ได้แค่ไหน สำหรับผม เมื่อขึ้นไปอยู่บนเวที แล้วได้ใช้ทุกสิ่งที่เราซ้อมมาทั้งหมดไปกับวันนั้น ถึงแม้เราจะแพ้เขาก็ไม่เป็นไร เพราะการได้สู้ การได้ทำเต็มที่ นั่นหมายถึงว่า เราเอาชนะตัวเองอย่างถึงที่สุดได้แล้ว

 

เพราะกว่าจะกลับมาได้ มันต้องใช้พลังใจสูงมากเลยนะ ลองคิดดู ตอนที่ผมกลับมา ผมไม่ทำอะไรเลย เก็บตัวอยู่ในห้อง แล้วเปิดดูวิดีโอแมตช์ที่แพ้ซ้ำไปซ้ำมา ดูแล้วก็เศร้า ดูแล้วก็สมน้ำหน้าตัวเอง ทำไมไม่ชกแบบนี้วะ เออ มึงชกได้แค่นั้นก็สมควรแล้วแหละที่แพ้ มันคิดแค่นั้นเลย จนผ่านไป 3 เดือน ไม่ได้แล้ว ชีวิตไม่ไปไหนเลย ถามตัวเอง มึงจะกลับมาสู้ไหม ถ้าสู้ เอาใหม่ โละกระดานเก่าทิ้ง แล้วลุย

 

สมจิตร จงจอหอ

“ผมเป็นหมาล่าเนื้อตัวหนึ่ง วันไหนที่ยังหนุ่ม ล่าเนื้อมาให้นายพรานได้ มันก็จะได้กินเนื้อเยอะ แต่วันไหนที่แก่ตัวลง เขี้ยวฟันผุกร่อน ล่าเนื้อได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วนายพรานก็ไม่ให้อาหารมันกิน”

ถ้าคุณเปรียบเทียบตัวเองในวันก่อนว่าเป็นหมาที่ออกล่าเนื้อที่เรียกว่า ‘ชัยชนะ’ เพื่อความสำเร็จ ในวันที่อายุ 44 ปี เขี้ยวเล็บไม่คม เรี่ยวแรงก็ไม่เหมือนเดิม คุณยังออกล่าเพื่ออะไรอยู่อีกบ้างหรือเปล่า

ผมล่าเพื่อแบ่งปัน วันนี้ผมมีเนื้อไว้กินสำหรับตัวเองแล้ว ก็อยากส่งต่ออะไรให้คนอื่นต่อไป แล้วมันอาจจะไม่ใช่แค่เนื้อ ที่หมายถึงความสำเร็จหรือชัยชนะ แต่มันอาจจะเป็นน้ำ เป็นผลไม้ เป็นอะไรอีกมากมายที่ยังมีคนต้องการ และผมสามารถแบ่งปันให้เขาได้

 

ที่ผมชอบมากในตอนนี้คือ การบริจาคอุปกรณ์กีฬาให้โรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งมาจากปมของผมในตอน ป.5 ที่ถูกรุ่นพี่ ป.6 แย่งฟุตบอลไปเตะ รู้ว่าความรู้สึกที่ไม่มีอุปกรณ์กีฬานั้นเป็นอย่างไร ก็พยายามไปช่วยเด็กๆ ที่ไม่มีอุปกรณ์แบบนั้น ผมเริ่มทำตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อนแล้วนะ จริงๆ ก็ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ค่อยมีเงินแหละ ทำมาเรื่อยๆ จนตอนนี้น่าจะทำไปได้ประมาณ 200 โรงเรียนแล้ว

 

ความสุขของฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกที่มีคนทั้งประเทศชื่นชม กับความสุขของคนตัวเล็กๆ ที่คอยส่งอุปกรณ์กีฬาไปตามโรงเรียนที่ขาดแคลนต่างกันอย่างไรบ้าง

ต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ แบบแรกคือผมเป็นผู้รับเต็มตัว ผมต้องพยายามอย่างหนัก อดทน ฝึกซ้อม เจ็บปวด มันยากมากกว่าที่จะได้ความสุขแบบนั้นมา แต่พอเปลี่ยนมาเป็นคนให้ โอ้โห เชื่อไหม บางทียังไม่ต้องทำอะไรเลย เราเอาไอศกรีมไปแจก เห็นเด็กๆ จากตอนแรกงงว่าไอ้นี่เป็นใคร แต่พอเขาได้กินอิ่ม แล้วแววตาเขาเปลี่ยน ตาเป็นประกายใสปิ๊ง เห็นแค่นี้มันมีความสุขแล้ว

 

พอแจกอุปกรณ์ เห็นเด็กๆ โยนลูกบอลไปกลางสนาม วิ่งเตะกันอย่างสนุกสนาน เราลงไปเล่นกับเขา โอ้โห มันมีความสุขมากจริงๆ แล้วผมคิดว่าช่วงก่อนหน้านี้ผมเป็นผู้รับมาเยอะ ทั้งชื่อเสียง เงินทอง โอกาสต่างๆ นานา ผมเป็นคนรับมาทั้งหมด ตอนนี้ผมอาจจะทำอะไรได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยก็ปฏิญาณไว้ว่า จะพยายามหาเงินมาซื้ออุปกรณ์กีฬาให้น้องๆ ต่อไปให้ได้มากที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • รายการ Melody to Masterpiece สงครามทำเพลง คือวาไรตี้โชว์ที่มีโจทย์แต่ละสัปดาห์จากแขกรับเชิญ (The Melody) 13 คน ให้ 4 ค่ายเพลงชั้นนำของเมืองไทย อย่าง LOVEiS, SpicyDisc, I AM และ Muzik Move มาร่วมแบตเทิล เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางดนตรี
  • ในแต่ละสัปดาห์ จะมีเพียง 2 ทีม ที่ได้สิทธิ์ในการทำเพลง โดยผ่านการตัดสินของ The Melody และสุดท้ายจะมี 1 บทเพลงเท่านั้นที่จะได้ตำแหน่ง Masterpiece ประจำสัปดาห์ไปครอง
  • รายการ Melody to Masterpiece ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 21.15 น. ทาง True4U ช่อง 24 และแอปพลิเคชัน TrueID
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X