×

สมใจ ร้านเครื่องเขียนที่ปรับตัวตลอด 60 ปี กับพันธมิตรหน้าใหม่ BNK48

05.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • โปรเจกต์สมใจ x BNK48 เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของผู้บริหารทั้งสองแบรนด์ที่อยากร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้ใช้และแฟนคลับอายุน้อยให้สามารถจับต้องสินค้าของไอดอลที่พวกเขาหลงรัก
  • แม้จะเปิดเว็บไซต์ขายเครื่องเขียนออนไลน์มาแล้วเกือบ 2 ปี แต่แบรนด์ก็ยังไม่รู้สึกพึงพอใจกับผลลัพธ์ โดยเฉพาะระบบเว็บไซต์ที่ยังไม่เข้าที่ ส่วนยอดขายในปัจจุบันบนออนไลน์แม้จะคิดเป็นสัดส่วน 11% จากรายรับทั้งหมด แต่ผู้บริหารก็เชื่อว่านี่คือทางรอดในโลกอนาคต
  • ปณิธานสำคัญที่สมใจมีคือการผลักดันให้อาร์ตคอมมูนิตี้ในไทยเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาจึงจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้ความรู้เชิงศิลป์โดยวิทยากรมากหน้าหลายตา และทยอยปล่อยคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ออกมาอย่างไม่ขาดสาย

2-3 ปีที่ผ่านมา ร้านขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลป์ ‘สมใจ’ ในเชิงการรับรู้ของผู้บริโภคถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ร้านค้าปลีกรายย่อยในไทยที่โดดเด่นและมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

 

ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 3 เนม-วิธวินทร์ วิทยานนท์, วิภ-วิภวานี วิทยานนท์ และตาล-นพนารี พัวรัตนอรุณกร ได้เนรมิตให้ร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนและอุปกรณ์อายุ 60 กว่าปีแห่งนี้ทันสมัย จับต้องได้ง่าย และใกล้ชิดกับผู้ซื้อมากขึ้น

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการลุยทำเว็บไซต์ขายของออนไลน์อย่างจริงจัง และปล่อยคอนเทนต์เน้นสร้างความรับรู้ (Awareness) ด้วยสไตล์ที่สดใหม่ และดีไซน์การจัดวางสินค้าเพื่อถ่ายภาพโปรโมตสุดสร้างสรรค์ ซึ่งพบเห็นได้น้อยนัก โดยเฉพาะกับวงการเครื่องเขียนในปัจจุบัน

 

หลังผ่านมาเกือบ 1 ปี 7 เดือนของการพาตัวเองเข้าสู่โลกอีคอมเมิร์ซและการเปลี่ยนทิศทางบริหารงาน มีหลายเรื่องที่พวกเขารู้สึกพอใจ เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่องที่ทีมผู้บริหารสายเลือดใหม่ยอมรับว่าตัวเองยังทำได้ ‘ไม่ดีพอ’

 

 

แต่กับโปรเจกต์ล่าสุดที่สมใจและ BNK48 ได้ร่วมงานกันผลิตบ็อกซ์เซตเครื่องเขียนสุดเอ็กซ์คลูซีฟ เราพบว่านี่คือโมเดลที่ประสบความสำเร็จพอสมควรทั้งในแง่ผลตอบรับและกระแสความสนใจ แม้จะยังวัดผลไม่ได้มากนัก เพราะตัวสินค้าจริงๆ ยังไม่เผยโฉมออกมา แต่เราก็ใคร่อยากรู้และสงสัยว่าเบื้องหลังการโคจรมาร่วมงานกันในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

THE STANDARD ชวน ตาล-นพนารี พัวรัตนอรุณกร หนึ่งในทีมผู้บริหารด้านการตลาด มาเปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นโปรเจกต์สมใจ x BNK48 เพื่อบอกเล่าถึงความตั้งใจและความจริงใจที่บรรจุอยู่ในบ็อกซ์เซตทุกใบ พร้อมร่วมอัปเดตแผนการดำเนินงานทางธุรกิจต่างๆ ที่เธอเชื่อว่าร้านขายเครื่องเขียนแห่งนี้ยังดีได้มากกว่าเดิมและไปได้ไกลกว่านี้

 

 

‘สมใจ x BNK48’ การจับคู่ที่แปลกใหม่และเติมช่องว่างในตลาด

ทันทีที่ร้านสมใจอัปโหลดภาพโปรโมตโปรเจกต์สมใจ x BNK48 เป็นครั้งแรก พร้อมคำโปรย ‘เตรียมพบกับ สมใจ x BNK48 เครื่องเขียนที่น่ารักที่สุด เร็วๆ นี้!’ ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โพสต์ดังกล่าวก็ได้รับความสนใจจากผู้ใช้ทั่วไปและกลุ่มโอตะ-โอชิทั่วประเทศเป็นอย่างมาก

 

การขยับตัวในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สมใจตัดสินใจทำไลน์สินค้าเครื่องเขียนทั่วไปขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง (ไม่นับรวมอุปกรณ์ศิลป์ที่เป็นทางถนัดของร้านอยู่แล้ว) ที่สำคัญ พาร์ตเนอร์ก็ยังเป็นกลุ่มศิลปินไอดอลหญิงที่มาแรงสุดๆ ใน พ.ศ. นี้อีกด้วย โปรเจกต์นี้จึงมีความยากในแง่ของการดำเนินงานพอสมควร

 

นพนารีบอกกับเราถึงความตั้งใจแรกของสมใจและบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด ที่อยากร่วมกันผลิตสินค้าอุปกรณ์เครื่องเขียนเพื่อให้แฟนคลับรุ่นเยาว์ที่อาจจะมีกำลังซื้อน้อยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของและได้ใช้งานสินค้าพวกนี้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน ประกอบกับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ของ BNK48 เองก็ยังไม่เคยถูกผลิตมาก่อนด้วย ไม่ว่าจะเป็นปากกา ดินสอ ยางลบ สมุดโน้ต ไม้บรรทัด หรือแม้แต่กล่องดินสอเหล็ก

 

“ออกตัวก่อนว่าเราไม่เคยรู้จัก BNK48 มาก่อน เพราะเป็นคนไม่ค่อยตามข่าว จนเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว พี่โรส-อรพรรณ มนต์พิชิต (รองประธานบริษัท โรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทแม่ของ บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด) ที่เรียนหลักสูตร DEF ด้วยกันกับเราก็เกริ่นว่าสมใจและ BNK48 น่าจะได้ทำอะไรๆ ร่วมกัน โดยมองไปที่ ‘เครื่องเขียน’ เพราะปัจจุบันยังไม่มีสินค้าสำหรับแฟนคลับกลุ่มเด็กๆ ของ BNK48 ที่สามารถเอื้อมถึงและใช้ได้บ่อยๆ เลย

 

 

“หลังจากนั้นก็เริ่มได้พูดคุยและพัฒนาไอเดียร่วมกันอยู่ตลอด เราเองก็ได้ศึกษา BNK48 มากขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมีโอกาสได้ไปชมคอนเสิร์ตเขา ได้เห็นความพยายามและศักยภาพของน้องๆ ในการพัฒนาตัวเอง ก็ทำให้พบว่าโมเดลของศิลปินกลุ่มนี้ไม่ได้ขายรูปลักษณ์ความสวยงามแบบพิมพ์นิยม ความสมบูรณ์แบบ และความเพียบพร้อมของศิลปิน แต่กลับนำเสนอเรื่องราวความตั้งใจในการพัฒนาตัวเองและเสน่ห์ความงดงามที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งทำให้เราประทับใจมาก”

 

ข้อได้เปรียบที่สมใจมีเหนือดีลเลอร์เจ้าอื่นๆ คือการที่พวกเขารู้จักตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างดี รู้ว่าลูกค้ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาจะซื้อเครื่องเขียนชนิดใดเป็นหลัก พวกเขาจึงนำจุดแข็งในส่วนนี้มาช่วยผลักดันให้สินค้าที่ทำร่วมกันกับ BNK48 โดดเด่นและน่าจับจองเป็นเจ้าของ

 

“กว่าจะคลอดออกมาเป็นบ็อกซ์เซตอุปกรณ์เครื่องเขียนสมใจ x BNK48 อย่างที่เห็นก็ยากพอสมควร เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกันว่าปกติแล้วเราคือร้านค้าคนกลาง ไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้า การเลือกตัวแทนผู้ผลิตสินค้าให้จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก แล้วเราเองก็ไม่ใช่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ ช่วงที่คุยกันแรกๆ ตัวแทนผู้ผลิตบางรายยังไม่สนใจที่จะคุยกันกับเราด้วยซ้ำ โดยให้เหตุผลว่ายอดสั่งผลิตไม่มากพอจำนวนขั้นต่ำ

 

“ขณะเดียวกันก็ต้องคุมงบประมาณด้วย เพราะเราไม่อยากขายสินค้าราคาแพง เนื่องจากมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อสมใจคือสินค้าของเราราคาไม่สูงจนเกินไป ขณะเดียวกันมันก็ต้องมีคุณภาพ แล้วแบรนด์สมใจเองก็ต้องรอดและมีสัดส่วนกำไรให้ได้ในเวลาเดียวกัน”

 

ถึงจะวางจำหน่ายในราคา 990 บาท แต่นพนารีก็เชื่อว่าราคานี้ไม่ได้สูงจนเกินจะจับต้องได้ และเป็นราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพสินค้า เพราะแค่ตัวกล่องไปรษณีย์ที่ใช้บรรจุและจัดส่งสินค้า สมใจก็ยังผลิตขึ้นมาใหม่และผ่านกระบวนการทดสอบมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อให้แน่ใจว่าของที่จะส่งถึงมือผู้บริโภคต้องอยู่ในสภาพที่ดี ไม่บุบหรือยับเด็ดขาด

 

 

เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ

นอกจากจะได้ผลิตสินค้าที่โอตะและโอชิรุ่นเยาว์เข้าถึงได้ง่ายแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากในความร่วมมือครั้งนี้คือการที่สมใจจะได้ถือโอกาสเปิดประตูการร่วมงานกับพาร์ตเนอร์เจ้าอื่นๆ และผลิตสินค้าของตัวเองในอนาคตให้มากกว่านี้

 

“เราอยากให้คนรู้จักแบรนด์สมใจมากขึ้นผ่านศิลปินไอดอลกลุ่ม BNK48 อยากให้คนที่ได้ใช้สินค้าของเราชื่นชอบและรักแบรนด์สมใจรู้สึกคุ้มค่า ที่สำคัญ เราอยากให้เขารู้สึกว่าสมใจเป็นแบรนด์ที่ปรับตัวตลอดเวลา ไม่อยากให้เขามองเราเป็นแค่ร้านโชห่วยธรรมดาๆ”

 

สำหรับกระบวนการเตรียมงาน เธอบอกว่าทีมการตลาดของสมใจไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากโปรเจกต์ครั้งนี้ได้เลย ทำให้บางครั้งเธอก็ใช้วิธีขอคำปรึกษาจากโอตะที่เป็นเจ้าของแฟนเพจต่างๆ อยู่เป็นประจำ ถึงขนาดที่ว่าบางครั้งแคปชันที่ใช้โพสต์ก็ต้องผ่านการตรวจทานซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ต่ำกว่า 5 รอบ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อความเหล่านั้นไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อแสร้งเอาใจโอตะหรือแฟนคลับ

 

“เวลาเราทำแผนการตลาดออกมา เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยนะว่าผลลัพธ์มันจะเป็นอย่างไร เราคาดคะเนกันไม่ได้เลยว่านาทีแรกที่เปิดขาย คนจะเข้ามาหน้าเว็บไซต์กี่คน จึงต้องงัดทุกกลยุทธ์มาใช้ รวมถึงการปรึกษากลุ่มโอตะที่เป็นเจ้าของเพจหลายๆ คนเพื่อไม่ให้เราทำสินค้าออกมาแล้วคนที่ไม่ชอบแบรนด์สมใจ แต่ต้องซื้อสินค้าของเราเพราะอยากเก็บ ความตั้งใจของเราคืออยากให้สมใจเป็นมิตรกับเขา เข้าใจจริงๆ ว่าพวกเขาต้องการหรืออยากได้อะไร”

 

ส่วนในแง่ของผลการตอบรับ นพนารีบอกว่า ‘เหนือความคาดหมาย’ ทั้งในด้านยอดสั่งซื้อและการสั่งจอง ที่สำคัญ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าจำนวนไม่น้อยก็ยังเป็นกลุ่มลูกค้าเด็กๆ โดยคิดเป็นสัดส่วน 40:60 (กลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่)

 

“เราดีใจมากที่ลูกค้าของเราไม่ได้มีแค่กลุ่มผู้บริโภคหรือโอตะที่ทำงานหรือเรียนจบไปแล้ว เพราะความตั้งใจของโปรเจกต์นี้คืออยากให้เด็กๆ ได้ใช้เครื่องเขียนของศิลปินที่พวกเขาชอบ แล้วมันก็ได้ผล เราได้เห็นยอดจองสินค้าของคุณพ่อคุณแม่ที่โอนเงินเข้ามาสั่งซื้อสินค้าให้ลูกๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงช่องทางอื่นๆ เช่น ระบบวอลเล็ต”

 

เมื่อถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตข้างหน้าสมใจจะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองผลิตสินค้าใหม่ๆ หรือจับมือกับพาร์ตเนอร์เจ้าอื่นเพื่อสรรสร้างอุปกรณ์เครื่องเขียนออกมา นพนารีไม่ปิดโอกาสดังกล่าว เธอยังบอกอีกด้วยว่าการทำโปรเจกต์นี้ช่วยให้เธอและสมใจได้เรียนรู้หลักสูตรใหม่กับกระบวนการด้านโปรดักชันมากขึ้นเป็นกอง

 

 

1 ปี 7 เดือน ผลลัพธ์คือยังไม่พอใจและควรจะดีได้มากกว่านี้!

หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ทีมบริหารทายาทรุ่นที่ 3 ของสมใจตัดสินใจโกออนไลน์เต็มตัว เนื่องจากมองว่าโซเชียลคอมเมิร์ซนั้นไม่ยั่งยืนในมุมมองของพวกเขา ทั้งยังต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์จมไปกับช่องทางการขายของผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออินสตาแกรมเป็นจำนวนมาก และยังถือเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ร้านใกล้ชิดกับคนซื้อมากขึ้นตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีข้อจำกัดในเชิงการเข้าถึง

 

ในทางกลับกัน ทั้งสามก็อยากให้ผู้บริโภคคนไทยคุ้นชินกับการซื้อ-ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยมีคุณพ่อซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่น 2 ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลหนุนหลัง พร้อมให้คำปรึกษาอยู่ไม่ห่าง

 

จนในที่สุดความตั้งใจทั้งหมดก็หล่อหลอมให้สมใจตัดสินใจเปิดหน้าร้านออนไลน์อย่างเป็นทางการขึ้นมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 และถ้านับจนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน) ก็น่าจะเข้าสู่ช่วง 1 ปี 7 เดือนพอดี โดยปัจจุบันช่องทางรายรับของร้านออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 11% จากช่องทางทั้งหมด

 

“เราไม่ประทับใจเลย” นพนารีบอกกับเราว่าเรื่องที่ทำให้เธอไม่ปลื้มไม่ได้เกี่ยวกับยอดขายแต่อย่างใด เพราะเธอมองว่าวันข้างหน้าออนไลน์ก็จะเติบโตได้มากกว่านี้อีกแน่นอน แต่ปัญหาหลักๆ ที่เธอมองว่าเป็นอุปสรรคกีดขวางการเติบโตของสมใจในโลกออนไลน์คือระบบเว็บไซต์ที่ยังไม่เสถียร

 

“อาจจะเป็นเพราะเราโชคไม่ดีด้วยที่เจอคนทำระบบเว็บไซต์ที่ไม่ถูกใจทั้ง 2 ครั้ง และตอนนี้กำลังคุยกับเจ้าที่ 3 แล้ว ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเราไม่ได้มีความรู้ด้านการเขียนเว็บมากพอหรือเปล่า เลยทำให้หลายๆ ครั้งความต้องการของเราเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายของหน้าเว็บไซต์ที่เราอยากให้มันเป็นเสียที เลยรู้สึกว่ายังมีโจทย์ที่สมใจยังต้องปรับปรุงอีกพอสมควรเลย

 

“นอกจากปัญหาเรื่องระบบเว็บไซต์ เรารู้สึกว่าเราพร้อมกันมากนะ เพราะทีมจัดการระบบหลังบ้านก็เต็มที่กันมาก เรามีสต็อกสินค้าที่เพียงพอ รู้จักลูกค้าว่าเขาคือใครและต้องการจะซื้ออะไร เราเก็บข้อมูลมาโดยตลอด อย่างเดือนนี้ (มิถุนายน) ลูกค้าจะซื้อเครื่องเขียนกันเยอะมาก เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม ร้านค้าที่สั่งออนไลน์ไปขายต่อก็จะซื้ออุปกรณ์การเรียนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนช่วงปลายปีลูกค้ากลุ่มศิลปินก็จะซื้ออุปกรณ์วาดเขียนกันมาก”

 

 

เธอบอกว่าแม้ออนไลน์จะทำให้เธอและทีมผู้บริหารได้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทจะคาดหวังช่องทางรายรับจากแพลตฟอร์มนี้ได้มากเท่าที่ควร แต่สิ่งสำคัญคือการที่สมใจได้ใบเบิกทางของการรู้จัก ‘ชิงปรับตัว’ ให้เร็วเหนือผู้อื่น ซึ่งจุดนี้เองจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ร้านขายเครื่องเขียนแห่งนี้มุ่งไปข้างหน้าได้มากกว่าหยุดนิ่งอยู่กับที่

 

“เราเชื่อว่าถ้าหลังจากนี้หน้าเว็บไซต์และแผนการประชาสัมพันธ์พร้อมมากขึ้น ออนไลน์มันก็น่าจะโตขึ้นได้มากกว่านี้อีกแน่นอน”

 

ในยุคที่อีคอมเมิร์ซเฟื่องฟู หน้าร้าน Physical Store ก็ยังสำคัญ

ถึงสมใจจะเริ่มขยับมาลุยออนไลน์มากขึ้น แต่ร้านเครื่องเขียนแห่งนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับการเปิดหน้าร้านและการขยายสาขาใหม่ๆ ไม่ต่างจากแนวทางหรือนโยบายที่ผู้บริหารรุ่นที่ 1 และ 2 จากครอบครัววิทยานนท์ได้วางเอาไว้ ที่สำคัญ ยอดขายกว่า 89% ของสมใจก็ยังมาจากช่องทางสโตร์ออฟไลน์ทั้ง 13 สาขาอยู่

 

“พอยิ่งทำแคมเปญพรีออร์เดอร์สินค้านี่ทำให้เรายิ่งรู้เลยว่าหน้าร้านยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ ผู้บริโภคในประเทศเรายังติดประสบการณ์การได้จับหรือสัมผัสสินค้าจริงๆ เขายังซื้อของออนไลน์ผ่านระบบที่เต็มรูปแบบกันไม่ค่อยคล่องตัว บางส่วนอาจจะกังวล กลัวข้อผิดพลาดจากการทำธุรกรรม ในความคิดเราเลยรู้สึกว่าร้านค้า Physical Store อีก 20 ปีข้างหน้าก็ยังจำเป็นอยู่ สมใจเองก็จะพยายามเปิดหน้าร้านสาขาใหม่อยู่เรื่อยๆ”

 

ปัจจุบันสมใจมีสาขาในประเทศไทยรวมทั้งหมด 13 แห่ง แบ่งเป็นร้านค้าในโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล 9 แห่ง ได้แก่ พาหุรัด (รวม 3 ร้าน), ดิโอลด์สยาม, อาคารวรรณสรณ์ พญาไท, จามจุรีสแควร์, สยามสแควร์, เซ็นทรัล พระราม 9 และสีลมคอมเพล็กซ์

 

ส่วนอีก 4 สาขาในต่างจังหวัด ได้แก่ หัวหิน มาร์เก็ตวิลเลจ (ประจวบคีรีขันธ์), ศูนย์การค้าเมญ่า (เชียงใหม่), เทอร์มินอล 21 (นครราชสีมา) และเสริมไทยคอมเพล็กซ์ (มหาสารคาม) นอกจากนี้สมใจก็ยังมีรถ Somjai To-Go ตระเวนจอดขายสินค้าตามงานหรือสถานที่ต่างๆ อีกด้วย

 

 

“แผนการขยายสาขาของเราจะดูจากดีล ค่าเช่า และวิสัยทัศน์ความจริงจังของผู้บริหารแต่ละโครงการ เพราะเวลาเราเปิดหน้าร้านขึ้นมาใหม่ เราจะได้กำไรต่อการขายสินค้าแต่ละชิ้นน้อยมาก เนื่องจากคติพจน์ของคุณยายที่มีมาตั้งแต่เปิดร้านสมใจสาขาแรกคือเราจะไม่ขายของแพง ฉะนั้นค่าเช่าสถานที่จะเป็นตัวชี้วัดเดียวว่าเราจะได้กำไรหรือเปล่า”

 

สตอรีและการเอ็นเกจกับคน เครื่องมือเด็ดที่แบรนด์ไม่ควรละเลย

ถ้าเปิดไปที่ช่องทางโซเชียลมีเดียของสมใจ นอกจากจะเห็นว่าพวกเขาจัดวางคอมโพสภาพถ่ายสินค้าเพื่อการขายได้อย่างมีสไตล์และแตกต่างแล้ว สิ่งหนึ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงระยะหลังๆ คือการทำคอนเทนต์ที่เน้นให้ข้อมูลหรือเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องเขียน

 

“โจทย์ในปีนี้ของสมใจคืออยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ศิลป์และเครื่องเขียน เราอยากเป็นศูนย์รวมของอาร์ตคอมมูนิตี้ที่แชร์ความรู้ให้ด้านนี้ให้คนได้ซึมซับ ประกอบกับเห็นว่าคอนเทนต์หน้าเพจส่วนใหญ่ของเราดูจะนำเสนอในด้านการขายเป็นหลัก ซึ่งถ้าเราเป็นผู้บริโภคเองก็คงไม่อ่าน เลยเปลี่ยนแนวมาให้ข้อมูลที่เป็นความรู้เกี่ยวกับเครื่องเขียนมากขึ้น รวบรวมทิปส์ต่างๆ จากซัพพลายเออร์ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่พวกเรารวบรวมกันแล้วถ่ายทอดเป็นคอนเทนต์เล่าเรื่องในแบบสมใจ

 

 

“เราอาจจะไม่เคยเซอร์เวย์ว่าคนอ่านรู้สึกกับคอนเทนต์รูปแบบนี้ในช่วงระยะหลังๆ ของเราอย่างไร แต่ทุกคอนเทนต์ที่เราทำแล้วได้อ่านด้วยตัวเองก็ทำให้รู้สึกว่า เออ มันดีนะ แม้บางโพสต์จะมีคนดูแค่ไม่กี่คน แต่เรามองว่ามันคือคลังที่เราสามารถเก็บเป็นสินทรัพย์ของแบรนด์ได้”

 

นอกจากจะทำคอนเทนต์เชิงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนอ่านหรือผู้บริโภค อีกสิ่งหน่ึงที่สมใจให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการเดินหน้าจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปทางศิลปะต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม

 

“เราอยากให้วงการเครื่องเขียนมันคล้ายกับวงการเครื่องสำอางที่เวลามีลิปสติกหรือพาเลตต์สีใหม่ปล่อยออกมาไม่นานก็มีคนทำรีวิวแล้ว อย่างกิจกรรมเวิร์กช็อป ตอนนี้เราก็พยายามจะจัดให้ได้ทุกๆ 3 เดือน เพราะช่วงแรกเราทำเดือนละครั้ง แต่ก็พบว่าความถี่มีผลต่อคุณภาพของกิจกรรมที่จัดพอสมควร แล้วแต่ละครั้งเราจะเลือกแขกรับเชิญที่มีความถนัดเฉพาะด้านนั้นๆ ไปเลย อย่างล่าสุดเราก็เพิ่งชวน จูลี่ เบเกอร์ ที่เชี่ยวชาญด้านสีน้ำและสีน้ำมันมาเป็นวิทยากร

 

 

“สิ่งที่เราอยากให้ลูกค้าและคนที่เข้าเวิร์กช็อปได้รับคือข้อมูลความรู้ที่มีความเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมเซตผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ศิลป์และบัตรสมาชิกสมใจที่เรามอบให้เขา เราอยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันให้อาร์ตคอมมูนิตี้ในไทยเติบโตได้มากกว่านี้ เพราะในขณะที่ชุมชนศิลปะประเทศเพื่อนบ้านเราเขาเติบโตได้รวดเร็วมาก แต่สมาคมเครื่องเขียนไทยให้ข้อมูลว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดนี้ไม่ได้โตไปมากกว่าเดิมเลย”

 

เมื่อเราเอ่ยปากถามนพนารีว่าเธอคาดหวังให้สมใจเติบโตไปในทิศทางใดในอนาคตข้างหน้า เธอตอบกลับเราแบบไม่ลังเลเลยว่าสิ่งเธออยากเปลี่ยนเป็นลำดับต่อไปคือ ‘mindset’ ของพนักงานและ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ เพราะเธอมองว่าบุคลากรบางส่วนยังมีค่าความเชื่อที่ผิดๆ อยู่ ตัวอย่างเช่น เชื่อว่าคนอยู่มานานต้องได้เงินเดือนสูงกว่าคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้ทำผลงานได้ดีกว่า

 

“ในมุมมองของเรา เราเชื่อว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรได้คือการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ๆ เข้ามาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับบุคลากรคนเก่าๆ ให้เขาได้เข้าใจว่าวัฒนธรรมการทำงานบางอย่างมันไม่ถูกนะ ซึ่งเรื่องพวกนี้เราไม่สามารถเดินเข้าไปบอกเขาได้โดยตรง แต่ต้องให้เขาได้เห็นด้วยตาของตัวเอง”

 

ถามถึงการขยายสาขาไปบุกตลาดต่างประเทศ นพนารีบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะแม้แต่ตัวเธอเองหรือผู้บริหารอีกสองคนก็เคยจินตนาการถึงแนวคิดนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อมองในเชิงปฏิบัติและโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่าความคิดและความต้องการดังกล่าวไม่ง่ายเอาเสียเลย

 

“เราเคยกดดันกันมากตอนที่เพิ่งกลับประเทศไทยมาใหม่ๆ ตอนนี้ก็เลยปรับปรุงให้อะไรๆ ที่มีอยู่มันดีขึ้นกว่าเดิมไปก่อน พยายามทำให้มีสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายได้ แค่เอาวันนี้ให้ไปถึงปีหน้าเราก็มีงานที่ต้องทำเยอะมากๆ แล้ว ก็เลยไม่ไปกดดันกันเองดีกว่า”

 

 

สิ่งที่สมใจพิสูจน์ให้เราเห็นจากโมเดลธุรกิจของพวกเขาคือการไม่เคยหยุดอยู่กับที่ การปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างแนบเนียน รู้จักหยิบจับเทรนด์และกระแสที่เกิดขึ้นมาสวมใส่ให้กลมกลืนเข้ากับแบรนด์ได้อย่างไม่เคอะเขิน  

 

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อได้เปรียบของร้านค้าเครื่องเขียนอายุ 60 กว่าๆ แห่งนี้คือการที่พวกเขารู้จักตัวเองว่าเป็นใคร อะไรคือจุดแข็งที่แบรนด์มี สร้างความสัมพันธ์กับพาร์ตเนอร์เจ้าต่างๆ มาโดยตลอด สำคัญที่สุดยังรู้จักว่ากลุ่มลูกค้าหลักคือใครและยังสามารถรักษาพวกเขาให้อยู่กับแบรนด์ได้อย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X