เจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งในจีนปฏิเสธที่จะจ้างชายหนุ่มสองคน อายุ 17 และ 22 ปี เนื่องจากรอยสักของพวกเขา การที่เจ้าของโรงงานกำหนดให้พวกเขาต้องลบรอยสักออกก่อนที่พวกเขาจะสามารถทำงานที่โรงงานของเธอได้ จุดชนวนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากบนโลกออนไลน์
ชายทั้งสองคนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการจ้างงาน เมื่อเจ้าของโรงงานสังเกตเห็นรอยสัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยสักที่มองเห็นได้ชัดเจนบนแขนของชายคนหนึ่ง ระหว่างการตรวจสอบโรงงานตามปกติ
เจ้าของโรงงานได้แจ้งให้ผู้สมัครทั้งสองทราบทันทีว่า บริษัทมีนโยบายที่เข้มงวดในการไม่จ้างผู้ที่มีรอยสัก โดยไม่คำนึงว่ารอยสักเหล่านั้นจะอยู่ตำแหน่งใดของร่างกาย เธอแสดงความเชื่อว่า รอยสักอาจมีนัยเชิงลบต่อโอกาสในอนาคตของแต่ละคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เจ้าของโรงงานอธิบายจุดยืนไม่รับพนักงานที่มีรอยสักเพิ่มเติม โดยระบุว่า “ในขณะที่ฉันคิดว่าคุณทั้งคู่จริงใจและซื่อสัตย์ แต่การมีรอยสักทำให้รู้สึกว่าไม่น่านับถือหรือไม่เชื่อฟัง” เธอเสริมว่า เธอต้องการให้คนหนุ่มสาวในโรงงานของเธอแสดงออกถึงการมองโลกในแง่ดี มีพลัง และมีความกระตือรือร้น แม้ว่ารอยสักจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่องานของพวกเขา แต่เธอเชื่อว่า รอยสักอาจส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมของบริษัทได้
เจ้าของโรงงานมองว่าบทบาทของบริษัทเธอขยายออกไปนอกเหนือแค่การจัดหางาน เธอมองว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในการให้การศึกษาและคำแนะนำแก่เยาวชน เธอประกาศความตั้งใจที่จะฟันฝ่าทุกท่าทีที่อาจยั่วยุ โดยระบุว่า เธอจะพยายามให้ความรู้แก่เยาวชน แม้ว่าความคิดเห็นของเธอจะเป็นที่ถกเถียงก็ตาม
เจ้าของโรงงานยังเสนอด้วยว่า จ้างชายสองคนและออกค่าใช้จ่ายในการลบรอยสักหากพวกเขาตกลงที่จะลบรอยสัก โดยชายทั้งสองคนตกลงตามข้อเสนอของเธอ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการสักในประเทศจีนในเดือนมิถุนายน 2022 กฎระเบียบใหม่ถูกนำมาใช้โดยห้ามไม่ให้ช่างสักให้บริการแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สถานีโทรทัศน์ได้รับคำสั่งไม่ให้นักแสดงที่มีรอยสักที่มองเห็นได้ปรากฏตัวบนหน้าจอ และนักฟุตบอลจำเป็นต้องปกปิดรอยสักของตน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สาธารณชน
การเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเป็นข้อกังวลที่เพิ่มขึ้นในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลที่มีอายุเกิน 35 ปี และผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตร นายจ้างต่างตั้งคำถามถึงความสามารถของบุคคลเหล่านี้ ในการสร้างความสมดุลระหว่างงานและความรับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ
เหตุการณ์รอยสักดังกล่าวสร้างการถกเถียงต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก
“มันเป็นการเลือกปฏิบัติโดยสิ้นเชิง การมีรอยสักแปลว่าคนไม่มีความเป็นมืออาชีพใช่หรือไม่ เรายอมให้เปิดกว้างและยอมรับมากกว่านี้ได้ไหม” ผู้ใช้รายหนึ่งสอบถาม
ผู้ใช้อีกรายระบุประเด็นที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติว่า “เราอยู่ในสังคมที่สนับสนุนความเท่าเทียมกัน และนั่นหมายถึงการปฏิเสธการเลือกปฏิบัติในรูปแบบใดๆ หากเราอนุญาตให้มีการเลือกปฏิบัติต่อรอยสักในวันนี้ พรุ่งนี้อาจเป็นการเลือกปฏิบัติเนื่องจากความสูง รูปร่างหน้าตา สถานภาพการสมรส หรืออายุมากกว่า 35 ปี”
แต่ก็มีผู้ที่เข้าข้างเจ้าของโรงงานเช่นกัน ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าคุณมีอิสระในการสัก ผมก็มีอิสระที่จะเลือกว่าจะจ้างคุณหรือไม่”
เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นความแตกแยกที่ชัดเจนในการรับรู้เกี่ยวกับรอยสักและความหมายของรอยสักของสังคมทั่วไปในแดนมังกร
เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์นี้ได้จุดประกายการถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับการแสดงออกส่วนบุคคล มาตรฐานทางวิชาชีพ และโอกาสในการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
ภาพ: Yeung Kwan / Pacific Press / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: