วันนี้ (14 มกราคม) สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีมีพรรคการเมืองที่มีรายการกู้เงินในเอกสารงบการเงินรวม 18 พรรคการเมืองว่ารายการเงินกู้ปรากฏอยู่ในหมวดหนี้สินของพรรคการเมือง ไม่ใช่รายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแบบนี้ตลอด ถ้าไปเปิดดูเอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งให้กับ กกต. ไม่ว่าจะปีไหนก็มีปรากฏรายการเงินกู้ในหมวดหนี้สิน
ดังนั้นเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้ จนกระทั่งตีความหมายว่าเงินกู้เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในรายการของรายได้ ดังนั้นการกู้เงินนั้นกู้ไม่ได้ จนไปตีความว่าการกู้เงินไม่สามารถทำได้ ขัดกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเป็นการได้มาซึ่งผลประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ
และเมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในปี 2561 เมื่อพรรคการเมืองทำบัญชีเสร็จแล้วต้องให้ผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาตรับรองและนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองภายในเดือนเมษายนของปีถัดไป และเมื่อผ่านที่ประชุมใหญ่แล้วก็ต้องส่งให้ภายใน 30 วัน เท่ากับว่า กกต. จะได้เอกสารจากทุกพรรคการเมืองภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 และต้องเอางบการเงินไปประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งข้อมูลที่เอาออกมาเปิดเผยจึงไม่ได้มีความพิเศษอะไร ไม่ได้เป็นความลับ ทุกคนสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ กกต.
สมชัยขยายความละเอียดของหลักฐานที่สืบค้นว่าเอกสารมีทั้งหมด 609 หน้า โดย จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นผู้เซ็นรับรองในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เท่ากับว่าสิ่งที่ประกาศนี้ กกต. รับทราบแล้ว ดังนั้นถ้าจะมองว่าเงินกู้เป็นเงินที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นเงินที่เป็นผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาโดยมิชอบ ต้องถือว่านายทะเบียนพรรคการเมืองรู้เรื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้วว่ามีถึง 18 พรรคการเมืองที่มีการกู้ยืมเงิน ซึ่งนายทะเบียนต้องนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อ กกต. เพื่อให้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งว่าผิดหรือไม่ผิด ซึ่งหากนายทะเบียนบอกว่าผิดจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการยุบพรรคเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ จึงตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายทะเบียนรู้อยู่แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมก็ถือว่านานพอสมควร จึงต้องมีการชี้แจงว่าเหตุใดจึงดำเนินคดีพรรคอนาคตใหม่เพียงพรรคเดียว ถ้าจะให้ถูกต้องครบถ้วนก็ต้องดำเนินคดีกับทุกพรรคที่มีเงินกู้เหมือนกันเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนที่ดำเนินการล่าช้า กกต. ต้องไปกำกับนายทะเบียนพรรคการเมืองเอาเอง
ส่วนจะเข้าข่ายว่า กกต. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ สมชัยกล่าวว่าขอให้ข้อมูลแต่เพียงเท่านี้ก่อน ไม่ขอชี้นำในประเด็นนี้ แต่ย้ำว่าเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ต้องรายงานต่อที่ประชุม กกต. หากถือว่าเงินกู้เป็นรายการที่เข้าข่ายผลประโยชน์อื่นใดซึ่งได้มาโดยไม่ชอบ โดยเอาหลักเกณฑ์ของกฎหมายพรรคการเมืองมาเป็นตัวตั้ง
ส่วนเรื่องวงเงินเกิน 10 ล้านบาทที่เป็นปัญหานั้น สมชัยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน หากตีความว่าเป็นผลประโยชน์อื่นใดซึ่งมาโดยมิชอบตามหลักเกณฑ์กฎหมายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเงิน 1 บาท 10 บาท หรือเท่าใดก็แล้วแต่ พร้อมยกตัวอย่างว่าหากความหมายของเนื้อหานี้ ถ้าเงินกู้เข้าข่ายผิดจริง เงินที่มีที่มานอกเหนือจากนั้น หากนำไปสนับสนุนพรรคการเมืองโดยที่รู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบก็ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองทั้งหมด
สมชัยเปิดเผยว่าจากการสืบค้นข้อมูลงบการเงิน พบว่านอกจาก 18 พรรคการเมืองที่ระบุว่ามีเงินกู้แล้ว ยังมีอีก 17 พรรคการเมืองที่ระบุว่าเป็นเงินยืม ซึ่งเทียบแล้วถือว่าเงินยืมผิดมากกว่า เพราะเงินกู้มีสัญญา มีดอกเบี้ย มีการใช้คืนตามกำหนด แต่เงินยืมนั้นบางพรรคการเมืองมีวงเงินถึง 30 ล้านบาทโดยไม่มีดอกเบี้ยและกำหนดใช้คืน หากมองว่าเป็นการครอบงำพรรคการเมืองโดยบุคคล ประเด็นเงินยืมก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ และหลังจากนี้จะออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อไปว่ามีพรรคการเมืองใดบ้าง แต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งจะออกมาเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากได้ความชัดเจนจาก กกต. กรณีเงินกู้แล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์