×

สมชายชี้ ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ ม.272 จะปิดสวิตช์ สว. ไม่ง่าย พร้อมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ แนะก้าวไกลยุติแนวคิดนี้เพื่อลดความขัดแย้ง

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2023
  • LOADING...

วันนี้ (4 สิงหาคม) สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว. ว่าหากเรื่องนี้เข้าสู่วาระที่ 1 ตนจะขอยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเงื่อนไขตามมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่เกิดขึ้นจากการทำประชามติที่ตั้งคำถามพ่วงเข้ามา ว่าการแก้ไขจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะมาตราดังกล่าวผ่านการทำประชามติมาแล้ว 

 

ถ้าย้อนกลับไปดูให้ดีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนว่ารัฐสภามีหน้าที่ทำได้ ในเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ถ้าแก้ไขก็ใช้มาตรา 256 อนุ 8 แต่ทำไมมาตรา 272 ถึงไม่อยู่ในมาตรา 256 อนุ 8 เพราะมาตรา 272 ถูกแยกทำประชามติ 

 

สมชายกล่าวต่อว่า การทำประชามติตอนนั้น คำถามแรกคือ รับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ มีผู้เห็นด้วยถึง 16 ล้านเสียง ส่วนคำถามที่ 2 แยกมาตรา 272 ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก ที่ให้รัฐสภาเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนลงประชามติเห็นชอบ 15 ล้าน 2 แสนเสียง เพราะฉะนั้นประเด็นข้อกฎหมายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ต่อเนื่องมาตลอด ว่าองค์มติที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกิดภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือรัฐสภา 

 

เพราะฉะนั้นถ้าสภารับหลักการแก้ไขในวาระ 1 แล้วผ่านไปสู่วาระ 2 แล้วไปโหวตวาระ 3 ไม่ว่ากระบวนการจะอยู่ขั้นใดก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีประชามติรับรองไว้ ดังนั้นถ้าจะแก้มาตรา 272 โดยให้ยกเลิก ต้องกลับไปถามประชามติ และถ้าทำประชามติก็ต้องใช้เงินประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท

 

สมชายกล่าวว่า ถ้าไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้วยังมีประเด็นค้างอีกว่า ตกลงสภาจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าข้อบังคับที่ 41 ที่สภาลงมติตามข้อบังคับ 151 แล้วไม่ขัดหรือแย้งก็เดินหน้าในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะได้วันที่ 20 กว่าๆ ถ้าไม่มีเหตุสะดุด แต่ถ้าสภารับหลักการไปในวันนี้ ตนต้องคัดค้าน ก็ต้องมีคำถามว่าตกลงสภาจะเอาอย่างไร จะใช้หรือไม่ใช้มาตรา 272 ก็ต้องไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ต้องขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกของ สว. ไม่อย่างนั้นจะเกิดความสับสน ว่าเดินหน้าแก้มาตรา 272 ไปแล้ว เกิดวาระ 3 สภาเห็นชอบกันขึ้นมา 

 

แล้วการที่บอกว่าให้กลับไปใช้หลักตามมาตรา 159 ที่สภาผู้แทนฯเลือก แล้วที่จะเลือกนายกฯ ในมาตรา 272 จะทำอย่างไร อันนี้ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งตนทักท้วงด้วยข้อกฎหมาย ไม่ได้จะไปขัดแย้งในเรื่อง 272 แต่เห็นว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย และเห็นว่าหมดความจำเป็นที่จะใช้มาตรา 272 ต่อไปแล้ว เพราะการโหวตนายกฯ คนที่ 30 อันใกล้นี้ น่าจะได้ในระยะเวลาไม่นานนี้ และคงไม่มีการมาใช้เสียง สว. ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาร่วมในการโหวตนายกฯ คนถัดไปอีก เพราะเราไม่ได้เลือกนายกฯ รายเดือน อย่างน้อยคนหนึ่งก็ต้องอยู่ 3-4 ปีตามวาระ 

 

ดังนั้นวุฒิสภาชุดนี้ก็หมดวาระแล้ว อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาตามประชามติมาตรา 272 ก็หมดวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งบทเฉพาะกาลมีในรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่มาตรานี้พิเศษเพราะมีการถามประชามติที่ชัดเจน

 

ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมาย พ.ร.บ.อื่น ที่มีบทเฉพาะกาล ก็ให้ใช้เฉพาะชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่าน บางฉบับก็มีบทเฉพาะกาล 180 วันบ้าง 1 ปีบ้าง 2 ปีบ้าง อันนี้ก็แบบเดียวกัน เพราะหากผ่านระยะเวลาไปแล้วบทเฉพาะกาลนั้นก็ไม่ใช้ ให้กลับไปใช้บทหลัก ดังนั้นรัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ก็กลับไปใช้บทหลัก ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 การเลือกนายกฯ ก็ไปเข้ากระบวนการตามมาตรา 88, 89, 159 โดยสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันต่อไป บทเฉพาะกาลเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากช่วงรัฐธรรมนูญ 2560

 

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 40 และ 50 มา ก็มีวิกฤตการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งการชุมนุม การรัฐประหาร เกิดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นการเดินหน้าประเทศไปก็มีบทเฉพาะกาลที่ประชาชนให้ความเห็นชอบ ว่าให้รัฐสภาร่วมให้ความเห็นชอบ หมายความว่า สส. เป็นผู้เสนอ สว. เป็นผู้ร่วมพิจารณาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะให้ยกเลิกมาตรา 272 ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง เพราะในที่สุดมาตรานี้ก็จะสิ้นผลไปตามอายุของมัน โดยปกติไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising