×

14 ปีที่ สมชาย นีละไพจิตร หายไป 14 ปีที่ไร้หลุมศพให้รำลึก

12.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ครบรอบ 14 ปีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้หายไป นางอังคณา นีละไพจิตร และลูกๆ ของเธอยังคงตามหาความจริงเกี่ยวกับสามีและพ่อของพวกเขา
  • แม้จะมีการยุติเรื่องการสอบสวนโดยดีเอสไอและจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัว แต่นางอังคณาบอกว่าหลักประกันที่สำคัญคือการผลักดันกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพราะยังมีอีกหลายชีวิตที่มีชะตากรรมเดียวกัน และต้องการทราบความจริงของคนที่พวกเขารัก
  • ตลอด 14 ปีที่นางอังคณาต่อสู้คดีนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าจากอาชญากรรมโดยรัฐ ได้เปลี่ยนมาเป็น ‘การไม่ได้รับความเป็นธรรมและการละเลยเพิกเฉยในการอำนวยความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทย’ โดยขาดเจตจำนงทางการเมือง

เช้าวันนี้ที่ลานกิจกรรมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาพของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกประคองถือไว้ด้วยมือของ นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เป็นภรรยาและคู่ชีวิตอย่างหนักแน่น ผ่านแววตาที่ยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่ นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวของสมชาย เอ่ยถึงการทำกิจกรรมในวันนี้เพื่อต้องการรำลึกถึงพ่อผู้จากไป เธอบอกว่าจนถึงวันนี้ “ไม่มีแม้แต่เศษซากของพ่อให้ได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา”

 

นับเนื่องจนถึงวันนี้ 14 ปีแล้วที่ครอบครัวนีละไพจิตรยังคงตามหาความชัดเจนและความยุติธรรมให้ทนายสมชาย ผู้ซึ่งถูกทำให้เป็นบุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ขณะเดียวกันก็ต้องการเรียกร้องไปยังรัฐไทยให้ใส่ใจต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับสมาชิกของครอบครัวที่เป็นเหยื่อจากการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน

 

 

เย็นวันนั้นที่สมชายหายไป จนถึงวันนี้ยังหาความจริงไม่ได้

12 มีนาคม 2561 ครบรอบ 14 ปี การบังคับให้สูญหาย นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจากภาคใต้ของไทย

 

ครอบครัวนีละไพจิตรยังคงตามหาความจริงว่า ในเย็นวันที่ 12 มีนาคม 2547 เกิดอะไรขึ้นกับ ‘พ่อ’ และ ‘สามี’ ของพวกเขา หลังจากที่มีประจักษ์พยานเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์บังคับให้ทนายสมชายขึ้นรถบนถนนรามคำแหง ซึ่งเป็นบริเวณที่คนพลุกพล่านแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

 

ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายกำลังเดินทางไปพบเพื่อนย่านลาดพร้าว แต่เพื่อนไม่มาตามเวลาที่ตกลงกันไว้ จึงขอตัวกลับก่อน

 

พอทนายสมชายออกจากโรงแรมของเพื่อน โดยจุดมุ่งหมายคือไปอาศัยนอนพักที่บ้านของเพื่อนอีกคน ระหว่างที่เดินทาง ทนายสมชายใช้เส้นทางถนนรามคำแหง มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คนขับรถยนต์ตามมาในระยะประชิด ก่อนที่จะเร่งเครื่องพุ่งชนเข้าที่รถของทนายสมชายอย่างเต็มแรง ทนายสมชายจึงลงมาเพื่อที่จะพูดคุยกับคู่กรณี แต่กลุ่มชายฉกรรจ์นั้นเข้ามาทำร้ายและพยายามผลักทนายสมชายเข้าไปที่รถของพวกเขา โดยหนึ่งในคนร้ายก็แยกตัวเข้าไปขับรถของทนายสมชายเพื่อหลบหนีทันที และไม่มีใครรู้ว่าจะมุ่งหน้าไปทางไหน

 

นับจากนั้นมาก็ไม่มีใครเห็นเขาอีกเลย…

 

“ไม่มีหลุมศพให้รำลึกถึง วันนี้ดิฉันจึงขอวางช่อดอกไม้เพื่อรำลึกถึง สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนไว้ข้างถนน เพื่อให้คนผ่านไปมาที่อาจมีโอกาสได้พบเขาได้โปรดฝากความรักและความระลึกถึงจากครอบครัวไปยังเขาด้วย” คือถ้อยคำที่นางอังคณาฝากถึงทุกคนในวันนี้

 

มีพยานหลักฐานแวดล้อมหนักแน่นว่าทนายสมชายได้เสียชีวิตและถูกฆ่าโดยการกระทำหรือละเว้นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ครอบครัวและมิตรสหายเชื่อว่าทนายสมชายถูกฆาตกรรม และสิ่งที่ต้องการคือการหาความจริง การนำผู้กระทำผิดและมีส่วนเกี่ยวมาลงโทษ รวมถึงการเยียวยาชดเชยอย่างเหมาะสม

 

 

จากทนายสมชายสู่การต่อสู้เพื่อทุกชีวิตที่ถูกบังคับสูญหาย

การหายตัวไปของทนายสมชายไม่ใช่เพียงคดีเดียว แต่ยังมีอีกหลายคดีที่คนโดนบังคับให้สูญหายซึ่งจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ทราบชะตากรรม

 

“อันที่จริงหลังศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ดิฉันตั้งใจว่าจะเลิกทวงถามการดำเนินการติดตามหาตัวทนายสมชายจากรัฐ แต่ในฐานะพลเมืองที่ถูกละเมิดสิทธิ ดิฉันจะเฝ้ามองการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ทนายสมชายและครอบครัว”

 

นางอังคณาบอกว่า ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวได้เดินหน้าหาความยุติธรรมพร้อมผลักดันกฎหมายและร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมาตลอด

 

เธอยังมีความหวังว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาคนหาย แต่เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งทำให้ผิดหวังเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ สนช. จะไม่รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนมาแล้ว

 

“ที่ผ่านมาการเยียวยาของภาครัฐในลักษณะของการสงเคราะห์ไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์ เพราะเราไม่ได้ทราบความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น”

 

 

ที่ผ่านมา นางอังคณามองว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อาจจะไม่มีความเต็มใจในการสอบสวน เพราะผู้ต้องสงสัยล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงตนก็ยังไม่เคยเห็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีของทนายสมชาย อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้ภาคประชาชนช่วยกันผลักดันให้มีกฎหมายหรือสิ่งที่คุ้มครองบุคคลสูญหาย เพราะหากทุกวันนี้ยังไม่มีกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ในอนาคตอาจจะส่งผลให้มีบุคคลสูญหายได้อีกโดยที่ไม่ได้มีกลไกในการคุ้มครอง ทั้งนี้รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นมาตรการขั้นต้นในการเป็นหลักประกันให้พลเมืองไทยมั่นใจว่าจะไม่โดนอุ้มหาย

 

“รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญให้รัฐบาลและ สนช. มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดกลไกที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แท้จริง เมื่อรัฐบาลทหารเข้ามาโดยมีเหตุผลว่าจะเข้ามาคลี่คลายความไม่ถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นว่าประชาชนจะมีความเสมอภาคทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือผู้มีอิทธิพลได้ หากรัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจในสิ่งที่ได้สัญญาไว้ก่อนเข้ามานั้น รัฐบาลก็ต้องผลักดันให้เกิดเจตนารมณ์ทางการเมือง ให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลเพื่อป้องกันการสูญหาย และต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาต่างประเทศของสหประชาชาติด้วย พร้อมทั้งดำเนินการคลี่คลายคดีคนหายทุกคดีโดยที่ต้องไม่ยุติการสืบสวนสอบสวนในระหว่างทางจนกว่าจะทราบถึงชะตากรรมผู้สูญหาย”

 

 

บทเรียน 14 ปีที่ต่อสู้ คนรอบข้างหายไปเพราะ ‘กลัว’

ตลอด 14 ปีที่นางอังคณาได้ต่อสู้คดีนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่า อาชญากรรมโดยรัฐมันได้เปลี่ยนมาเป็น ‘การไม่ได้รับความเป็นธรรมและการละเลยเพิกเฉยในการอำนวยความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทย’ โดยขาดเจตจำนงทางการเมือง

 

“สิ่งหนึ่งซึ่งดิฉันอยากจะเล่าให้ทุกท่านฟัง ซึ่งคิดว่าดิฉันน่าจะเป็นตัวแทนของครอบครัวผู้สูญหายและสามารถที่จะบอกเล่าความให้ถึงกันได้ ดิฉันพบว่าสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดกับครอบครัวไม่ต่างกันเลย วันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายไป ญาติพี่น้อง หายไปจากครอบครัวของเราหมด ทุกคนกลัว เพื่อนทนายความของทนายสมชายที่ทำคดีมาด้วยกันหายหน้าไปหมด บางคนหลบไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนที่เป็นนักการเมืองในฝั่งรัฐบาลมาที่บ้านและบอกว่าทำอะไรไม่ได้หรอก”

 

นางอังคณาบอกว่า ขนาดสิ่งที่เกิดขึ้นกับทนายความที่เป็นที่รู้จักยังเป็นแบบนี้ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับประชาชนธรรมดา ความหวาดกลัวอาจทำให้เหยื่อไม่สามารถที่จะออกมาพูดอะไรใดๆ ได้เลย สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำก็คือปกป้อง ต้องทำหน้าที่ ต้องปกป้องเหยื่อ ต้องไม่ให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว ต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจและใช้อำนาจตามอำเภอใจ

 

“ดิฉันเห็นว่ามันผ่านมา 14 ปี เราน่าที่จะแสดงความจริงใจต่อกัน เราน่าที่จะพูดความจริงต่อกัน เราคงไม่ต้องปิดบังอะไรกันอีก สำหรับดิฉันก็คงเหมือนเหยื่อรายอื่นๆ ที่จนชั่วชีวิตก็อาจจะไม่ได้พบกับความยุติธรรม แต่ดิฉันก็เชื่อมั่นว่าในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ทุกสิ่งที่ดิฉันได้ทำมานับตั้งแต่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงวันนี้ 14 ปีเต็ม จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน และดิฉันก็เชื่อมั่นว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกับเรามากขึ้น เพื่อที่จะบอกกับรัฐว่าต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจอีกต่อไป”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising