×

ไขข้อข้องใจ ทำไม หุ้น MASTER ถึงกล้าเคาะราคา IPO ต่อหน่วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์

23.01.2023
  • LOADING...

บรรยากาศตลาดหุ้น IPO ปีนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ต้นปี เพราะผ่านมาเพียงแค่ช่วงเดือนแรกของปี 2566 ก็มีหุ้นน้องใหม่ 2 บริษัทที่ประเดิมเข้าซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดาน mai ในช่วงเดือนมกราคมนี้ โดยหนึ่งในนั้นคือ บมจ.มาสเตอร์ สไตล์ (MASTER) ซึ่งล่าสุดได้เคาะราคาจองซื้อหุ้น IPO ที่ระดับ 46 บาทต่อหุ้น และได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 65 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในวันที่ 17-19 มกราคม และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 25 มกราคม 2566 

 

ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองของหุ้น MASTER คือ การกำหนดราคาจองซื้อหุ้น IPO ที่ระดับ 46 บาทต่อหุ้น ซึ่งดันให้ MASTER ขึ้นแท่นหุ้น IPO ที่มีการกำหนดราคาหุ้นต่อหน่วยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย แซงหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่ก่อนหน้าที่เคยเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่เคยกำหนดราคาจองซื้อ IPO ไว้ที่ 45 บาทต่อหุ้น, บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ที่ระดับ 42บาทต่อหุ้น และ บมจ.เบทาโกร (BTG) ที่ 40 บาทต่อหุ้น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยการระดมทุนครั้งนี้ MASTER มีมูลค่าการระดมทุนอยู่ที่ 2,990 ล้านบาท

 

จากข้อสงสัยดังกล่าว THE STANDARD WEALTH จึงได้สอบถามและรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบ ดังนี้ 

 

1. ราคา IPO กำหนดจากการสำรวจความคิดเห็น 

เรื่องนี้จากการสอบถาม นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER ได้ให้คำตอบว่า ในการกำหนดราคาหุ้นนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ได้มีกรอบราคาสูงสุดไว้ที่ 60 บาทต่อหุ้น และช่วงที่ผ่านมาการโรดโชว์ของบริษัทก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักวิเคราะห์ที่ให้ความสนใจในบริษัทอย่างหนาแน่น 

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าระดมทุนของบริษัทอื่นๆ มักจะให้ส่วนลดกับนักลงทุน 20% แต่ MASTER มีมุมมองว่าอยากจะให้ทุกคนร่วมสำเร็จไปกับบริษัท จึงให้ส่วนลดลงไปอีก พร้อมเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

 

2. P/E ต่ำกว่าอุตสาหกรรมความงาม

สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม (Joint Lead Underwriter) ของ MASTER ระบุว่า การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ MASTER นั้นมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio: P/E) เท่ากับ 36.85 เท่า และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมด้านความงามที่มี P/E ระดับ 40 เท่า ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งจุดเด่นของ MASTER มีการเติบโตที่สูง เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์ที่มีการเติบโตได้สูง

 

“ราคาเสนอขายที่หุ้นละ 46 บาท ถือเป็นระดับราคาที่น่าสนใจ สมเหตุสมผล เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท คิดเป็นส่วนลด 25% จากมูลค่ากิจการที่บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งประเมินที่ 60 บาทต่อหุ้น” สมภพกล่าว

 

3. จำนวนหุ้นน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการ

ด้าน ลภัสรดา เลิศภานุโรจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER ย้ำว่าด้านราคาหุ้นนั้นมองว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะจำนวนของหุ้นมีอยู่เพียง 65 ล้านหุ้น และในขณะเดียวกันหุ้นของบริษัทนั้นมีราคาพาร์ (PAR) ที่ 1 บาท 

 

สำหรับหุ้น IPO จำนวนรวมไม่เกิน 65 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.08% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ และ 2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย In Glory Investments Limited จำนวนไม่เกิน 15 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 6.25% 

 

โดยจะเสนอขายให้กับ

  1. บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ประชาชนทั่วไป ไม่น้อยกว่า 48.75 ล้านหุ้น หรือ 75% 
  2. ผู้มีอุปการคุณของบริษัท ไม่เกิน 9.75 ล้านหุ้น หรือ 15% 
  3. กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานของบริษัท ไม่เกิน 6.50 ล้านหุ้น หรือ 10% 

 

4. การเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง

หลังจากเข้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว MASTER มีเป้าหมายจะรักษาการเติบโตในระดับ 40% ต่อปี รวมถึงการเปิดประเทศเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากฐานลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยการเติบโตของรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาลในปี 2562 อยู่ที่ 414.03 ล้านบาท, ปี 2563 อยู่ที่ 611.06 ล้านบาท เติบโตขึ้น 47.59%, ปี 2564 อยู่ที่ 659.51 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.93% และช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 1,011.14 ล้านบาท เติบโตขึ้น 133.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

5. บริการมีความหลากหลาย 

จากข้อมูลที่ระบุในไฟลิ่ง โครงสร้างการให้บริการและขายผลิตภัณฑ์ของ MASTER สามารถแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 

  1. บริการด้านศัลยกรรม (Surgery)
  2. บริการปลูกผมและดูแลเส้นผม (Hair Transplants and Hair Treatment)
  3. บริการดูแลผิวพรรณ (Skin)
  4. ขายผลิตภัณฑ์หรือให้บริการหลังศัลยกรรม (Product Sales and Aftercare)

 

โดยพบว่าจุดเด่นของ MASTER คือ การเป็นผู้ประกอบการกิจการสถานพยาบาลด้านศัลยกรรมความงามครบวงจรภายใต้ชื่อ ‘โรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ’ ซึ่งมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านการศัลยกรรม เช่น ศัลยกรรมเสริมจมูก, ศัลยกรรมยกคิ้วและกรอบหน้า, ศัลยกรรมหน้าอก, ศัลยกรรมดูดไขมันปรับรูปร่าง, ศัลยกรรมตา, ศัลยกรรมปรับโครงสร้างรูปหน้า เป็นต้น รวมถึงการปลูกผม ดูแลเส้นผม และให้บริการดูแลผิวพรรณและเลเซอร์ ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและได้รับมาตรฐานระดับสากล

 

6. เงินระดมทุนส่วนใหญ่ใช้ลงทุนในเครื่องมือและอุปกรณ์

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการช่วงปี 2566-2567 โดยมีแผนที่จะใช้ปรับปรุงอาคารและห้องผ่าตัด รวมถึงจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเป็นเงินลงทุนสำหรับปรับปรุงและขยายพื้นที่ดำเนินงาน รวมถึงนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเติบโตของบริษัทในอนาคต

 

เปิด ‘7 ความเสี่ยง’ สำคัญต้องจับตา

สำหรับความเสี่ยงทางธุรกิจของ MASTER ตามที่เปิดเผยในไฟลิ่ง ประกอบด้วย 

  1. ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม
  2. การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ศัลยกรรมความงาม
  3. การขาดแคลนแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์
  4. คดีฟ้องร้อง
  5. การถูกฟ้องร้องจากการให้บริการ
  6. การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้กับบริษัทในอนาคต 
  7. ผลกระทบของโควิด

 

หุ้นในมือผู้บริหารไม่ติด Silent แต่ถูกจำกัดการขาย

ในไฟลิ่งระบุว่า สัดส่วนหุ้นของ ‘ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร’ ที่ไม่ติด Silent นั้นมีจำนวน 31.125 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 12.97% ของหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ 

 

ทั้งนี้ หุ้นที่ไม่ติด Silent จำนวนดังกล่าวจะถูกจำกัดการขายภายใน 6 เดือน ตามความสมัครใจของระวีวัฒน์ มาศฉมาดล และครอบครัวมาศฉมาดล

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising