×

สดร. แนะ 2 วิธีชม ‘สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย’ อย่างถูกต้อง วันที่ 26 ธ.ค. นี้

24.12.2019
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (23 ธันวาคม) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวถึงข้อควรระวังเกี่ยวกับการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.19-13.57 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) ว่า 

 

การสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ วิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม

 

โดยวิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง เป็นวิธีการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า

 

 

การใช้อุปกรณ์อื่นๆ ไม่ควรใช้ฟิล์มเอกซเรย์ (หากใช้ต้องใช้ฟิล์มเอกซเรย์ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานซ้อนกันสองชั้น) ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ แม้จะกรองความเข้มของแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ และไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

ส่วนวิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน ได้แก่ ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป  หรือประดิษฐ์กล้องรูเข็มอย่างง่าย ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ โดยเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดด แสงแดดจะลอดผ่านรูดังกล่าวตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตจากแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง มองเห็นเป็นเงาเสี้ยวของดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ กล่าวย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิทัล โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์กำลังขยายสูง ห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์โดยปราศจากแผ่นกรองแสง และห้ามใช้ตาเล็งจากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างถาวรทันที และอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

 

สำหรับประชาชนที่สนใจ สดร. เตรียมตั้งจุดสังเกตการณ์สุริยุปราคาอย่างปลอดภัย 4 จุดใหญ่  ได้แก่ 

  1. เชียงใหม่ – อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม (08 1885 4353) 
  2. ฉะเชิงเทรา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (08 4088 2264) 
  3. นครราชสีมา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษานครราชสีมา (08 6429 1482) ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  4. สงขลา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา (08 1479 0775) 

 

โดยแต่ละจุดตั้งกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์สังเกตการณ์คุณภาพสูง และอุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์หลากหลายแบบ พร้อมผู้เชี่ยวชาญจาก สดร. คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย 

 

อีกทั้งยังมีเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ (ตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ www.narit.or.th) ร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

 

สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปสังเกตการณ์ หรืออยู่ในทำเลฟ้าปิด สดร. จัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของสถาบันฯ ด้วย ติดตามได้ทางเว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่ www.NARIT.or.th และ Facebook NARITPage

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising