×

โซจู 101: จากอาหรับถึงแดนโสม ประวัติศาสตร์ของเหล้าใสในขวดเขียว สู่เครื่องดื่มประจำชาติที่รุกตลาดโลก

01.11.2020
  • LOADING...
โซจู คือ soju

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • รู้กันไหมว่า ‘โซจู’ เหล้ายอดนิยมจากแดนโสม จริงๆ แล้วมีรากกำเนิดมาจากเหล้าโบราณแถบอาหรับ อันเป็นที่รู้จักในนาม ‘อารัค’ ซึ่งได้รับการนำเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีผ่านผู้รุกรานชาวมองโกล แต่เหล้าโซจูในแบบดั้งเดิมกับโซจูสมัยใหม่นั้นก็มีความแตกต่างกันที่ควรทำความรู้จักเอาไว้ 
  • ตลาดสุราของเกาหลีใต้นั้นถูกโซจูครองพื้นที่อยู่ถึง 97% เลยทีเดียว ยอดขายของโซจูทั่วโลกเติบโตขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล่าสุดในปี 2020 ตลาดโซจูทั่วโลกมีมูลค่า 3,025.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก

 

เหล้าใสในขวดเขียวขวัญใจของใครต่อใคร ทั้งโอปป้า, นูน่า, อาปา, ออมมา, อาจุมม่า ฯลฯ ‘โซจู’ เป็นสุราประจำชาติของชาวเกาหลีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยช่วงศตวรรษที่ 13 และตอนนี้กำลังได้รับความนิยมมากนอกประเทศบ้านเกิด ความน่าสนใจของสุราชนิดนี้นอกจากความ ‘ป๊อป’ ผ่านสื่อซอฟต์พาวเวอร์อุตสาหกรรมบันเทิงอย่างหนังหรือละครซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกรวมถึงในบ้านเรา แต่รู้ไหมว่ายอดขายของโซจูนั้นสูงลิ่ว จนเรียกได้ว่าเป็นสุราชนิดหนึ่งที่มียอดขายมากที่สุดในโลก นอกจากนี้โซจูยังเป็นเหล้าที่มีบทบาทในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ว่ากันว่านักดื่มชาวเกาหลีหลีใต้แต่ละคนบริโภคสุรากลั่นกันเฉลี่ยประมาณ 13.7 ช็อตต่อสัปดาห์ (ซึ่งมากกว่าชาวรัสเซียที่เป็นนักเลงวอดก้าถึง 2 เท่า!) และในจำนวนนั้นส่วนใหญ่ต้องเป็นโซจูแน่นอน ทั้งนี้ในตลาดสุราเกาหลีใต้ ถูกโซจูครองพื้นที่อยู่ถึง 97% เลยทีเดียว

 

จากอาหรับสู่แดนโสม…ต้นกำเนิดที่แท้จริงของโซจู

 

เหล้ายอดนิยมจากแดนโสมนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้มีรากกำเนิดมาจากเกาหลีแต่ดั้งเดิม หากมาจากเหล้าโบราณแถบอาหรับ (บริเวณอิรัก, จอร์แดน, อิสราเอล และเลบานอน) อันเป็นที่รู้จักในนาม ‘อารัค’ (Araq) ซึ่งได้รับการนำเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีผ่านผู้รุกรานชาวมองโกลในยุคของกุบไลข่าน หรือตรงกับช่วงราชวงศ์โครยอของเกาหลี เมื่อชาวเกาหลีได้เรียนรู้เทคนิคการกลั่นเหล้าชนิดนี้ จึงนำไปปรับใช้เสริมความแรงให้กับ ‘มักกอลลี’ (Makgeolli-สาโทพื้นเมืองชนิดหนึ่งของเกาหลี) โซจูจึงถือกำเนิดขึ้นนับแต่นั้น 

 

จากความอุดมสมบูรณ์สู่ความอดอยาก…โซจูที่แท้นั้นคืออะไร

 

วิธีการทำ โซจู วัตถุดิบ

‘โซจูโกริ’ หม้อต้มกลั่นโซจูแบบดั้งเดิม 

 

คำว่า ‘โซจู’ (소주) มีความหมายถึงเหล้าเผา (Burned Liquor) เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ต้องกลั่นด้วยอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง โซจูในแบบดั้งเดิมเริ่มจากการหมักของเหลวจากข้าวหรือแป้งด้วย ‘นูรุก’ (Nuruk) หัวเชื้อสำหรับหมัก ซึ่งเป็นยีสต์ธรรมชาติ เป็นเวลาประมาณ 15 วัน จนได้ของเหลวปริมาณแอลกอฮอล์ไม่แรงมาก แล้วจึงนำไปกลั่นใน ‘โซจูโกริ’ (Soju Gori) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดั้งเดิมสำหรับการกลั่นในเกาหลี (แต่ปัจจุบันปรับมาใช้หม้อต้มกลั่นสมัยใหม่แล้ว) จนได้ออกมาเป็นเหล้าโซจู โดยทั่วไปโซจูมักมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ระหว่าง 20-40 ดีกรี และมีรสขมอมหวาน

 

ในสมัยเริ่มแรกนั้น โซจูแบบดั้งเดิมเป็นเหล้าใสดีกรีค่อนข้างสูงที่กลั่นจากข้าวขาวบริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นส่วนผสมที่มีราคาแพงและเป็นที่ต้องการ ดังนั้นโซจูจึงถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โซจูได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ชนชั้นสูงผู้ร่ำรวยซึ่งชื่นชอบโซจูมากเสียจนติดเหล้าอย่างหนัก ส่งผลให้รัฐบาลสั่งห้ามผลิตโซจูในปี 1375 แต่กระนั้นการบริโภคและการผลิตเหล้าโซจูก็ยังดำเนินต่อไปอย่างลับๆ ภายในครัวเรือน รวมถึงธุรกิจเหล้าเถื่อน

 

วิธีการทำ โซจู เครื่องมือ

วัตถุดิบผลิตโซจูแบบดั้งเดิม 

 

โซจูแบบดั้งเดิมเป็นเหล้าใสที่กลั่นจากข้าวเพียงอย่างเดียว จนเมื่อญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 1910 การปันส่วนข้าวและเก็บภาษีทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากข้าว ยิ่งเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนข้าวในช่วงสงครามเกาหลี จึงทำให้รัฐบาลมีคำสั่งห้ามผลิตเหล้าจากข้าวอย่างเป็นทางการในปี 1965 นั่นเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ผลิตโซจูหันไปใช้วัตถุดิบทางเลือกอย่างแป้ง, ธัญพืช, ข้าวสาลี, มันเทศ หรือแม้กระทั่งมันสำปะหลังแทน รวมถึงปรับกระบวนการผลิต ทำให้โซจูเจือจางและมีดีกรีต่ำลง ส่งผลให้โซจูมีบุคลิกรสชาติที่แตกต่างหลากหลายกันไปตามวัตถุดิบและกรรมวิธีผลิต ซึ่งในที่สุดคำสั่งห้ามของรัฐบาลที่ห้ามผลิตโซจูจากข้าวก็ถูกยกเลิกในปี 1999 แต่เมื่อนักดื่มมีความคุ้นเคยกับเหล้าแบบใหม่นี้กันแล้ว และผู้ผลิตเองก็พอใจกับกรรมวิธีซึ่งช่วยประหยัดต้นทุน ก็ได้มีการปรับสูตรโดยหันมาใช้ข้าวเป็นส่วนผสมเพียงบางส่วน จนกลายมาเป็นมาตรฐานของโซจูสมัยใหม่ดังที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ในเชิงกฎหมายนั้นโซจูไม่ได้มีข้อกำหนดควบคุมการผลิตที่ชัดเจนและเคร่งครัดเหมือนอย่างสุราตะวันตก ว่าจะต้องผลิตจากอะไร ในพื้นที่เฉพาะไหน ผ่านกระบวนการที่ชัดเจนอย่างไร จึงทำให้โซจูนั้นมีความหลากหลายอยู่พอสมควร และยังเป็นที่ถกเถียงของทั้งคนทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญว่า แท้จริงแล้วโซจูนั้นมีคำจำกัดความว่าอย่างไรกันแน่

 

ดื่มโซจูกับอะไรดี

โซจูมักจะดื่มในวงสังสรรค์ และดื่มคู่กับอาหาร

 

อย่างไรก็ตาม โซจูมักจะดื่มคู่กับการรับประทานอาหารเช่นเดียวกับไวน์ แต่ก็ยังสามารถนำไปผสมค็อกเทลได้เช่นเดียวกับสปิริตชนิดอื่น ด้วยความที่มันมีรสชาติเป็นกลางคล้ายๆ กับวอดก้า แต่มักจะมีความหนืดและหวานกว่าเล็กน้อย ที่น่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือ โซจูยังเป็นเหล้าที่ขายดีที่สุดในโลก (โดยวัดจากจำนวน) แต่ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ดี เพราะในกฎหมายของบางพื้นที่ จำหน่ายโซจูชนิดที่ดีกรีต่ำๆ มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทหมัก เช่นเดียวกันกับเบียร์หรือไวน์ ในเชิงการออกใบอนุญาตขาย ไม่ได้ถือว่าเป็นสปิริต ในขณะเดียวกันก็ยังมีโซจูที่มีดีกรีสูงๆ และควรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับสปิริตอยู่ ดังนั้นในแง่หนึ่งจึงเป็นการวัดได้ยากว่าโซจูเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ขายดีที่สุดจริงๆ หรือเปล่า

 

สู่การเป็นเครื่องดื่มประจำชาติ 

 

วิธีการดื่ม ริน เท โซจู

การดื่มโซจูเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของสังคมเกาหลี 

 

ในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ โซจูหาได้เป็นเพียงแค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ใช้แรงงาน และเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยปลอบประโลมยามเหนื่อยล้า ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้ความนิยมของโซจูแซงหน้ามักกอลลีอย่างรวดเร็ว การบริโภคโซจูเติบโตขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมเกาหลีสมัยใหม่ จนได้รับการยอมรับให้เป็นเครื่องดื่มประจำชาติ แต่เดิมนั้นโซจูมักได้รับความนิยมในหมู่นักดื่มชายวัย 40-50 ปีเป็นหลัก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีนักดื่มหญิงและคนรุ่นใหม่นิยมดื่มเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก สาเหตุสำคัญก็อาจเป็นได้ว่าเกิดจากการที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในโซจูที่ลดและเจือจางลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ตามกระแสโลกที่หันมานิยมดื่มเหล้าที่มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยลง เพราะผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับมุมมองภาครัฐของเกาหลีใต้ที่ไม่ได้มองว่าการดื่มสุราเป็นบาปหนาเลวทรามเหมือนอย่างบ้านเรา ดังจะเห็นผ่านภาพยนตร์และซีรีส์ได้ว่า การดื่มเป็นเครื่องมือในการเข้าสังคม เป็นเรื่องปกติ เป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวเกาหลี รวมถึงการผลิตโซจูแอลกอฮอล์ต่ำรสผลไม้และรสชาติใหม่ๆ เพื่อเจาะกลุ่มนักดื่มผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้การบริโภคโซจูได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางขึ้นด้วยเช่นกัน

 

การรุกของโซจูในตลาดโลก และกำเนิดใหม่ของโซจูในแบบดั้งเดิม 

 

โรงงานโซจู

โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล้าโซจู

 

โซจูเป็นที่นิยมในระดับสากลได้อย่างไร ทุกวันนี้เราจะเห็นโซจูวางขายกันอย่างแพร่หลาย ทั้งตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และตามผับบาร์ชื่อดังตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก หากจะพูดกันจริงๆ แล้วโซจูเองก็คล้ายๆ กับ ‘ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม’ อื่นๆ ของเกาหลีที่กำลังฮิตติดลม ได้รับความนิยมอย่างมากนอกประเทศบ้านเกิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ BTS วงบอยแบนด์ที่สร้างประวัติศาสตร์ในปี 2018 ด้วยการชนะรางวัล American Music Awards ตามมาด้วยรางวัลมากมายจากงานประกาศรางวัลทั่วโลก, BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปที่สร้างปรากฏการณ์ยอดวิวถล่มทลายจนศิลปินดังระดับอินเตอร์ต้องคว้าโอกาสที่จะร่วมฟีเจอริง, ภาพยนตร์อย่าง Parasite ที่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก เช่นเดียวกับโซจู

 

ซีรีย์ ดื่มโซจู พระเอก นางเอก

ตอบได้ให้ 10 คะแนน ซีรีส์เรื่องไหนที่ไม่มีฉากดื่มโซจู

 

เหตุผลที่ทำให้เหล้าขาวใสในขวดเขียวนี้แพร่หลายและได้รับความนิยมในระดับสากล ส่วนหนึ่งนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเพราะความสำเร็จมาจากซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านสื่อบันเทิงที่นำเสนอภาพวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์เกาหลี ซึ่งคอซีรีส์สายเกาต่างก็คุ้นเคยกับฉากกินดื่มของชาวเกาหลีกันเป็นอย่างดี ละครโทรทัศน์ของเกาหลีสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายโซจูได้อย่างมาก โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2015 ผลกำไรของแบรนด์โซจูยักษ์ใหญ่ Hite Jinro ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 4.9 ล้านดอลลาร์ และขยับเพิ่มขึ้นทุกปีจนแตะที่ 8.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2017

 

นอกจากนี้ ด้วยความพยายามผลักดันและกลยุทธ์ขยายเครือข่ายทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จในฝั่งสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยิ่งทำให้โซจูชิงส่วนแบ่งตลาดและเจิดจรัสขึ้นบนเวทีโลก อ้างอิงจาก Market Watch ตลาดโซจูทั่วโลกมีมูลค่า 3,025.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 คาดว่าจะสูงถึง 3,553.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี 2026

 

ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีความพยายามเคลื่อนไหวอย่างหนักที่จะนำโซจูกลั่นในแบบดั้งเดิมที่ผลิตจากข้าวเน้นๆ กลับมา โดยบางเมืองของเกาหลีใต้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการผลิตเหล้า เช่น อันดง ก็มีผู้ผลิตสายคราฟต์กำลังรณรงค์กันอย่างจริงจัง เพื่อฟื้นฟูประเพณีการดื่มโซจูในแบบดั้งเดิมที่เกือบจะสูญหายไปของเกาหลี ให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising