จากรายงานเกี่ยวกับอากาศโลก State of Global Air (SOGA) 2019 Report พบว่าปัญหามลพิษทางอากาศถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่อาจทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์สั้นลงถึง 20 เดือน โดยวัยเด็กจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกาย
เด็กๆ ในเอเชียใต้จะมีอายุขัยสั้นลงมากที่สุดถึง 30 เดือน ในขณะที่เด็กๆ ในเอเชียตะวันออกจะมีอายุขัยสั้นลงราว 23 เดือน ส่วนลาตินอเมริกาที่มีผืนป่าแอมะซอนซึ่งเป็นปอดของโลก เด็กๆ จะมีอายุขัยสั้นลง 9 เดือน ซึ่งมลพิษทางอากาศนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการจราจร ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาหารในครัวเรือน นอกจากนี้งานวิจัยของ SOGA เมื่อปลายปีที่ผ่านมายังระบุว่า มลพิษทางอากาศกระจายตัวอยู่แทบทุกที่ ประชากรโลกกว่า 90% หายใจในสภาพแวดล้อมที่อากาศไม่บริสุทธิ์
โดยความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารที่อาจจะไม่ถูกสุขลักษณะหรือในบางพื้นที่ขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ และอาจทำให้อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงมากถึง 32 เดือน และสสารหรืออนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนในสภาพแวดล้อมที่เป็นหนึ่งในปัญหาของไทยในขณะนี้ อาจมีส่วนทำให้อายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 12 เดือน ซึ่งประชากรในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาได้รับผลกระทบเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 มากกว่าประชากรในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 4-5 เท่า
ภาพประกอบ: Dreaminem