×

ถอดบทเรียน ‘Sociolla’ สตาร์ทอัพค้าปลีกเครื่องสำอาง ที่อาจก้าวไปเป็นยูนิคอร์นตัวถัดไปของอินโดนีเซีย

31.10.2022
  • LOADING...
Sociolla

หลังการแพร่ระบาดของโควิดเมื่อปี 2020 นำไปสู่การล็อกดาวน์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วโลก และทำให้พฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้คนเปลี่ยนไปสู่ช่องทางออนไลน์อย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายธุรกิจตัดสินใจเร่งขยายช่องทางการขายออนไลน์ พร้อมกับลดช่องทางการขายแบบหน้าร้านลง 

 

แต่ไม่ใช่สำหรับ Sociolla แบรนด์ธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพสัญชาติอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ทอัพที่เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเมื่อปี 2019 มีหน้าร้านเพียง 2 สาขา ก่อนจะขยายขึ้นเป็นกว่า 20 สาขา ณ สิ้นปี 2021 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


Chrisanti Indiana ผู้ร่วมก่อตั้ง Sociolla กล่าวว่า “ผู้คนมากมายบอกเราว่าการขยายหน้าร้านเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมากในขณะที่คนอื่นๆ กำลังทยอยปิดหน้าร้านในช่วงโควิด” 

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะผ่านการคำนวณมาเป็นอย่างดี 

 

“เรารู้ว่าช่วงโควิดเป็นช่วงเวลาสำหรับเราในการเตรียมตัว เพื่อทำให้แน่ใจว่าหลังจากโควิดผ่านไปเราจะสามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้นอีก” 

 

และดูเหมือนว่าการตัดสินใจของ Chrisanti Indiana ในวัย 31 ปี จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ของเธอกำลังช่วยให้สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นมาเป็นธุรกิจด้านความงามที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ 

 

นับแต่ปี 2018 Sociolla ระดมทุนได้ประมาณ 225 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8,550 ล้านบาท โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่มีชื่อเสียงอย่าง East Ventures, Jungle Ventures, Temasek และ Pavilion Capital 

 

จุดเริ่มต้นของ Sociolla เกิดขึ้นในปี 2015 หลังจากที่ Chrisanti Indiana กลับมาที่อินโดนีเซียหลังจากไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ไอเดียธุรกิจของ Chrisanti Indiana เกิดจากการที่เธอมองเห็นว่าในออสเตรเลียสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ด้านความงามได้หลากหลายมาก ผิดกับที่อินโดนีเซียซึ่งมีตัวเลือกจำกัด 

 

“ไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่มีสินค้าทุกอย่างให้เลือก ฉันจำเป็นจะต้องหาผู้ขายที่เฉพาะเจาะจงในโซเชียลมีเดีย หรือขอให้เพื่อนช่วยซื้อมาให้จากต่างประเทศ” 

 

และสิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือ การที่สินค้าบางอย่างเป็นสินค้าปลอมแปลง ซึ่งบางครั้งวางขายออนไลน์ในราคาที่ถูกมาก พร้อมกับการที่ผู้ขายเคลมว่าสินค้านั้นเป็นของแท้ 99% และแน่นอนว่าสินค้าปลอมแปลงในอินโดนีเซียสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ขณะที่เครื่องสำอางที่ปลอมแปลงในอินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่าถึง 9 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 

 

หลังจากนั้น Chrisanti Indiana จึงตัดสินใจร่วมทุนกับเพื่อนเพื่อก่อตั้งแพลตฟอร์มชื่อ Social Bella ขึ้นมาด้วยเงินทุนตั้งต้น 13,000 ดอลลาร์ หรือราว 4.9 แสนบาท 

 

Sociolla อาจเริ่มต้นจากการเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่ผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 3 คน มีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น 

 

“เรากลายมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแบรนด์ระดับโลก เราไม่ได้แค่ช่วยกระจายสินค้าให้กับแบรนด์เหล่านี้ แต่เราช่วยให้พวกเขาเข้าใจตลาดในอินโดนีเซีย” 

 

มากไปกว่านั้น บริษัทยังได้ตั้งเว็บไซต์รีวิวผลิตภัณฑ์ด้านความงามที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียที่ชื่อว่า Soco ซึ่งปัจจุบัน Soco มีการรีวิวสินค้ากว่า 36,000 ชิ้น รวมยอดรีวิวกว่า 2.5 ล้านรีวิว

 

Chrisanti Indiana มองว่า เส้นทางการซื้อสินค้าความงามของผู้บริโภค หรือ Beauty Journey เป็นอะไรที่มากกว่าแค่การเลือกสินค้าบางอย่างใส่รถเข็นและชำระเงิน 

 

“เราตระหนักดีว่ามีจุดสำคัญมากมายที่ต้องคำนึงถึง การเลือกสินค้าที่เหมาะกับตัวเองไม่ใช่เพียงแค่การไปที่ร้านค้าและเลือกสินค้า คุณจะต้องมั่นใจก่อนจากการอ่านรีวิว พูดคุยกับเพื่อน หรือเสิร์ชข้อมูลดูก่อน” 

 

Soco ช่วยให้มั่นใจได้ว่าเราจะเข้าถึงความเห็นของคนจำนวนมากก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า 

 

นอกจากนี้ Social Bella ยังได้ตั้งเว็บไซต์ด้านไลฟ์สไตล์ที่ชื่อว่า Beauty Journal และ Lilla ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าแม่และเด็กออนไลน์ เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศ (Ecosystem) ของธุรกิจให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

“เราต้องการตอบสนองต่อความต้องการของผู้หญิง ไม่เฉพาะแค่สินค้าความงามและสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านอื่นๆ ด้วย” 

 

ดูเหมือนว่า Sociolla กำลังจะเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านรายในทุกหน่วยธุรกิจ โดยมีสินค้ากว่า 12,000 ชนิด จากกว่า 400 แบรนด์ ทั่วโลก

 

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Social Bella เร่งขยายธุรกิจอย่างหนัก จากที่มีหน้าร้านเพียง 3 แห่ง ในปี 2020 เพิ่มเป็น 47 แห่ง และยังขยายไปในเวียดนามอีก 16 แห่ง 

 

“การขยายสาขาเป็นการเติมช่องว่างการทำ Omnichannel ให้สมบูรณ์มากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าเรากำลังให้บริการลูกค้าคนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อผ่านออนไลน์หรือออฟไลน์” 

 

ทุกคนสามารถเลือกซื้อสินค้าและมารับที่สาขา หรือให้จัดส่งไปที่บ้าน ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า 

 

การเติบโตของ Social Bella เข้ามาอยู่ในสายตาของนักลงทุนจำนวนมาก การระดมทุนรอบล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2022 บริษัทระดมทุนไปได้ 60 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีรายงานออกมาว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาระดมทุนรอบใหม่ ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นแตะ 1 พันล้านดอลลาร์ และกลายเป็นสตาร์ทอัพของอินโดนีเซียที่เติบโตจนเป็นยูนิคอร์นได้อีกหนึ่งราย 

 

อย่างไรก็ตาม Chrisanti Indiana ย้ำว่า การเติบโตจนเป็นยูนิคอร์นไม่เคยเป็นเป้าหมายของบริษัท “เราต้องการทำให้แน่ใจว่าเรากำลังเติบโตและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น หาก Social Bella กลายเป็นยูนิคอร์นจริง ก็ถือเป็นโบนัส” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X