ท่ามกลางข่าวการเสียชีวิตของสองไอดอล ซอลลี่ และคูฮารา ส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการระรานบนไซเบอร์ หรือ Cyberbullying โดยจะใช้ชื่อว่า Sulli Law เพราะสาเหตุการเสียชีวิตของซอลลี่ รวมถึงคูฮารา หลายฝ่ายต่างลงความเห็นว่าเกิดจากแรงกดดันที่พวกเธอได้รับจาก Cyberbullying โดยเฉพาะคูฮาราที่ต้องโศกเศร้าจากการที่เพื่อนรักเสียชีวิต และยังได้รับคอมเมนต์แง่ลบกระหน่ำซ้ำเติม ไม่รวมปัญหาคดีความกับคนรักเก่า ขณะเดียวกันก็มีข่าวอีกด้านว่าเนติเซนได้คอมเมนต์ถึง นัมแทฮยอน อดีตสมาชิกวง WINNER เพื่อนสนิทของซอลลี่และคูฮาราว่า “คุณคือคนต่อไป”
ยังไม่นับรวมเหล่าศิลปินที่ต้องหยุดพักงานในวงการบันเทิงไปด้วยโรคซึมเศร้า อย่างกรณีล่าสุด คังแดเนียล ไอดอลชื่อดังที่เปลี่ยนจากเด็กหนุ่มที่มีรอยยิ้มร่าเริงอยู่เสมอ เข้าพักรักษาตัวด้วยอาการซึมเศร้าและตื่นตระหนก ซึ่งเหตุผลสำคัญคือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบอยู่ตลอดเวลาหลังจากเขาหมดสัญญากับวง Wanna One
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ มีทั้งโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนในโซเชียลมีเดียที่เราจะกลายเป็นใครหรือมีนิสัยแบบไหนก็ได้ ยิ่งในสังคมที่มีความกดดันเป็นพื้นฐาน การได้ระบายออกซึ่งความรู้สึกคับแค้นต่างๆ ผ่านช่องทางที่ไม่มีใครรู้ตัวตนจึงกลายเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญ
และถ้าจะทำความรู้จักเนติเซนเกาหลีใต้ การแพร่กระจายข่าว ขยี้ข่าว ขุดปมดราม่าในโลกโซเชียล ภาพยนตร์เรื่อง Socialphobia น่าจะเป็นหนึ่งทางเลือกที่ทำให้เราเห็นภาพความจริงในสังคมที่โลกเสมือนกับโลกจริงมาทับซ้อนกัน เมื่อทุกคนพร้อมจะพิมพ์โจมตีกันและกันราวกับว่าเคียดแค้นกันมาจากชาติปางไหน
Socialphobia เป็นภาพยนตร์ทริลเลอร์ในปี 2015 ถ่ายทอดเรื่องจริงในหน้าข่าวช่วงนั้น เกี่ยวกับเนติเซนที่ร่วมกันขุดคุ้ยเรื่องราวจนกลายเป็นประเด็นดัง ผลงานกำกับแรกของ ฮงซอกแจ ที่รับหน้าที่เขียนบทด้วยตัวเอง เปิดฉากมาด้วยตัวเอกของเรื่อง จีอุง (รับบทโดย บยอนโยฮัน) ระหว่างรอรถไฟเดินทางไปเรียนพิเศษเพื่อสอบเป็นตำรวจ เขาปิดกั้นข่าวสารจากโลกภายนอกด้วยการใส่หูฟัง จึงไม่รู้ว่าระหว่างนั้นเนติเซนต่างส่งต่อ คอมเมนต์ พูดคุยกันเรื่องข่าวการฆ่าตัวตายของจ่าสิบเอกหนีทหารคนหนึ่ง เสียงส่วนใหญ่เสียใจกับการตายของเขา ยกเว้น เรนา หรือ มินฮายอง (รับบทโดย ฮายุนคยอง) ที่โพสต์ข้อความดูหมิ่นผู้ตายว่า “ขอให้มีความสุขในนรกนะ”
โพสต์ของเรนากลายเป็นประเด็นดราม่าทันที เนติเซนรุมกันเข้าไปด่าเธอ “นังโสเภณีหน้าโง่” พร้อมติดแฮชแท็กที่กลายเป็นเทรนดิ้ง เรนาไม่หยุดเท่านั้น ยังคงต่อปากต่อคำอย่างเผ็ดร้อน เธอจุดไฟแห่งความเคียดแค้นในโลกโซเชียลขึ้นมา เนติเซนต่างร่วมกันขุดคุ้ยว่าเธอคือใคร เรียนที่ไหน ประวัติความเป็นมาอย่างไร จนนำไปสู่การล่าแม่มด เมื่อแชนแนลของ ยางเก (รับบทโดย รยูจุนยอล) ประกาศหาเพื่อนร่วมทีมเดินทางไปตามล่าเธอ ในช่วงนี้เองที่เราได้เห็นว่าร้านอินเทอร์เน็ตที่เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นกลายเป็นสมรภูมิย่อมๆ หลายร้อยหน้าจอร่วมกันปั่นแฮชแท็ก ขยี้ปมดราม่า ระบายความคับแค้นผ่านการคอมเมนต์ด่าทอเรนา จีอุงที่ดูไม่ได้สนใจข่าวนี้เท่าไรนักก็โดนเพื่อนยุให้ทำด้วย “ก็แค่คอมเมนต์เดียว หยิบมือถือแกขึ้นมา” หรือในตอนที่เขาถามเพื่อนว่า “เราจะทำกันจริงๆ เหรอ” เพื่อนก็ตอบเขาเพียงว่า “ทวีตความในใจนายไง”
การไลฟ์สดของกลุ่มวัยรุ่นที่พากันไปตามล่าเรนาถึงห้องพัก กลายเป็นจุดพลิกผันของเรื่องราว และทำให้กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้เข้าไปข้องเกี่ยวกับคดีความ พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียในการตามหาความจริงและตัวคนร้าย แต่กระนั้นพวกเขาก็ต้องพบว่าในวันหนึ่งกลับเป็นพวกเขาเองที่ถูกล่าแม่มดและมีชะตากรรมไม่ต่างไปจากเรนา โลกโซเชียลที่พร้อมจะถล่มใครสักคนจนแหลกคามือ และเมื่อมีเหยื่อรายใหม่เข้ามา ก็พร้อมจะทิ้งสิ่งชำรุดที่ถูกทำลายพังยับเยินนั้นไปเสีย
ผู้กำกับฮงซอกแจเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์ Socialphobia ไว้ว่า “เวลาคนเราโดนโจมตีทางออนไลน์ มีการเปิดเผยตัวตน ข้อมูลจริง ขุดคุ้ยไปถึงครอบครัว เพื่อนร่วมงาน โดยปกติแล้วคนคนนั้นจะกลัวและจะอยู่เงียบๆ แต่เรนาไม่ใช่แบบนั้น เธอยังก้าวร้าวต่อไปจนทำให้เนติเซนโกรธ มีการตั้งกลุ่มออนไลน์เพื่อตามล่าตัวเธอในโลกความเป็นจริง แต่นั่นก็ไม่ใช่ตอนจบของเรื่อง ผมต้องการโฟกัสไปที่คำถามว่าทำไมกลุ่มวัยรุ่นถึงต้องการตามล่าเรนาด้วยการบุกไปบ้านเธอ การที่โลกออนไลน์เดินทางไปพบกับโลกความเป็นจริง และพวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเจอกับเรื่องไม่คาดคิดหลังจากนั้น”
ในภาพยนตร์เราจะเห็นบรรยากาศความกดดันในการเตรียมสอบ การเรียนกวดวิชาที่หนักหน่วง การที่ตัวละครจีอุงเก็บสมาร์ทโฟนใส่ลิ้นชักแล้วเขียนโน้ตไว้ว่า เปิดใช้ได้เมื่อสอบเสร็จ บรรยากาศกดดันของชีวิตในเมืองใหญ่ สภาพอากาศหนาวเหน็บ การเรียนอย่างหนักเพื่อสอบแข่งขันให้ผ่าน เพื่อการยอมรับว่าเราเก่งพอ เพื่อการงานที่ดี เพื่อชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า เหล่านี้กลายเป็นน้ำหนักที่กดทับบนบ่าของทุกคน
เราต่างอยากปลดเปลื้องน้ำหนักน้ันให้เบาบางออกไป หนทางที่จะถ่ายทอดความอึดอัดในใจที่ไม่อาจแสดงออกในชีวิตจริง ทำให้โซเชียลมีเดียที่เราผูกพันมากมายในชีวิตทุกวันนี้กลายเป็นทางออก เราส่งออกความเครียดความเหนื่อยล้าผ่านโพสต์ต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน นินทานาย ขายเพื่อน ประชดรัก ไปจนถึงการร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อน โยนความอึดอัดไปสู่บุคคลที่ตกเป็นประเด็นดราม่าในขณะนั้น
Socialphobia ทำให้เห็นว่าชีวิตเด็กเตรียมสอบปกติธรรมดากลุ่มหนึ่งก็พร้อมกลายร่างเป็นปีศาจได้ เช่นเดียวกับผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่โต้ตอบผู้คนอย่างไม่เกรงกลัว ในวันที่เราร่วมคอมเมนต์เป็นเนติเซนที่ระบายความคับข้องหมองใจผ่านดราม่าต่างๆ เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราตกอยู่ในสถานการณ์โดนรุมทำร้ายบ้าง เราจะทำอย่างไร เจ็บปวดขนาดไหน และใครจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ?
ตัวอย่างภาพยนตร์
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: