×

‘ประกันสังคมมีเงินมหาศาล ต้องอยู่ที่สว่าง ปิดทางคนหวังผลประโยชน์’ คุยกับ ษัษฐรัมย์ บอร์ดฝ่ายลูกจ้าง

โดย THE STANDARD TEAM
24.02.2025
  • LOADING...
social-security-reform-talk

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน ปัจจุบันดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนซึ่งเป็นลูกจ้างประมาณ 12.8 ล้านคน ‘สิทธิประกันสังคม’ เกิดขึ้นในปี 2533 มาภายหลัง ‘สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ’ ที่ดูแลโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เริ่มในปี 2523 

 

สองสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นมาในระยะเวลาห่างกัน 10 ปี แต่สิทธิของข้าราชการยังสร้างแรงจูงใจในการสมัครงานเสมอ เพราะมีสวัสดิการดูแลทั้งตัวข้าราชการเองและครอบครัวข้าราชการแต่ละคน ปัจจุบันผู้มีสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจมีประมาณ 5.4 ล้านคน 

 

สิทธิล่าสุด หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ดูแลประชาชนผู้มีสิทธิประมาณ 46.8 ล้านคน โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มในปี 2545 เป็นองค์การมหาชนที่มีประธานบอร์ดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยตำแหน่ง ดูแลด้านการรักษาพยาบาล ไม่มีสิทธิประโยชน์ด้านอื่นที่มีในประกันสังคม

 

สิทธิบัตรทองเกิดขึ้นภายหลังสิทธิประกันสังคม 12 ปี แต่บัตรทองมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตลอดเวลา กระทั่งเกิดข้อถกเถียงในสังคมว่า บัตรทองจะแซงหน้าประกันสังคมไปแล้วหรือไม่ 

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมจดจัดตั้งและที่ปรึกษาปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันนอกจากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว เขายังเป็น 1 ใน 21 คนในบอร์ดใหญ่ประกันสังคม โดยเป็น 1 ใน 6 ทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่อยู่ในบอร์ดฝ่ายลูกจ้าง โดยบอร์ดฝ่ายลูกจ้างมีทั้งหมด 7 คน ผ่านการเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิเป็นครั้งแรก

 

ปรากฏการณ์ครั้งแรกของการเป็นบอร์ดประกันสังคม มีข้อแตกต่างจากชุดก่อนหน้านี้อย่างไร

 

ษัษฐรัมย์: ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ก็มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมทางตรงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งถ้าจะนับโดยสเกลถือว่าเป็นการเลือกตั้งใหญ่อันดับ 2 ของประเทศในแง่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถึงแม้กระบวนการจัดการยังไม่สมบูรณ์ แต่ถือว่าทีมประกันสังคมก้าวหน้าเป็นทีมที่ได้รับเสียงโหวตเยอะที่สุดคือ 70,000 คน จากผู้มาใช้สิทธิ 150,000 คน

 

แม้บอร์ดประกันสังคมจะมีลักษณะไตรภาคี (ฝั่งรัฐ/ฝั่งนายจ้าง/ฝั่งลูกจ้าง) แต่ก็มีความเป็นการเมืองอยู่ข้างใน เนื่องจากเรามาจากการเลือกตั้ง เรามีการหาเสียง เรามีพันธสัญญา เรายึดโยงกับประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราผูกพันกับนโยบายที่เราให้คำสัญญา มีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นจุดต่างจากในอดีต และแน่นอนมีคนที่คอยจับตาพวกเราอยู่ 

 

ขณะเดียวกันก็มีคนที่ช่วยส่องไฟให้เรา ในการที่จะทำให้ประกันสังคมซึ่งเป็นกองทุนใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ดีขึ้น 

 

ก่อนหน้านี้ไม่มีการเลือกตั้ง โดยในยุค คสช. ก็เป็นการแต่งตั้ง 100% ส่วนก่อนหน้านั้นนับแต่มีกองทุนประกันสังคมในปี 2533 เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมก็คือ 1 สหภาพแรงงาน 1 โหวต เพราะฉะนั้นก็จะเป็นลักษณะคนหลักร้อยหลักพันเท่านั้นเองที่จะมาโหวตกัน แต่ตอนนี้เป็นคนในหลักแสนมาโหวต

 

สำหรับการจัดการเลือกตั้งนี้เป็นข้อเรียกร้องมาตั้งแต่สมัยปี 2554 ช่วงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่พอมีรัฐประหารปี 2557 คสช. ก็ใช้มาตรา 44 ในการแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคม ลากยาวมาจนกระทั่ง 9 ปี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่หลายองคาพยพที่โดน ม.44 ปลดออก เขาก็เลือกตั้งกันไปแล้วก่อนหน้านั้น

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

จำนวนทีมประกันสังคมก้าวหน้าในจำนวนบอร์ดประกันสังคมทั้งหมด

 

ษัษฐรัมย์: บอร์ดประกันสังคมมีทั้งหมด 21 คน มีฝ่ายรัฐ 7 คน มีฝ่ายลูกจ้าง 7 คน ฝ่ายนายจ้าง 7 คน

 

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าลงสมัครรับเลือก 7 คน ได้รับเลือก 6 คน เนื่องจากมี 1 คนถูกตัดสิทธิด้วยเงื่อนไขคุณสมบัติก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทำให้เราได้ 6 ใน 7 จากฝ่ายผู้ประกันตน (ฝ่ายลูกจ้าง)

 

ส่วนฝ่ายนายจ้าง 7 คน มาจากการเลือกตั้ง 1 นิติบุคคล 1 โหวต ก็คือ 1 บริษัท 1 เสียง ซึ่งการแข่งขันในระดับนายจ้างจะแข่งขันน้อยกว่าฝ่ายลูกจ้าง เพราะลูกจ้างต้องได้คะแนน 6-7 หมื่นเสียง ขณะนายจ้างบางท่านได้สองร้อยกว่าคะแนนก็เข้ามาเป็นบอร์ดได้แล้ว

 

ส่วนฝ่ายรัฐ 7 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นข้าราชการจากกระทรวงต่างๆ โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ถ้าเทียบแล้วเหมือน CEO แม้ประกันสังคมจะดูแลผู้คนจำนวนมาก แต่มีโครงสร้างคล้ายกับเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงแรงงาน การบริหารอิงกับความเป็นระบบราชการสูงมาก ประธานบอร์ดประกันสังคมคือปลัดกระทรวงแรงงานโดยตำแหน่ง รวมประธานด้วยเป็น 7 คน

 

ประธานบอร์ดประกันสังคมคือปลัดกระทรวงแรงงาน ขณะประธานบอร์ดบัตรทองคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

 

ษัษฐรัมย์: ประธานบอร์ดประกันสังคมคือปลัดกระทรวงแรงงานโดยตำแหน่ง แม้ว่าบอร์ดจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่รันงาน 97% เดิมผมเคยมอง 95% ตอนนี้มอง 97% รันโดยระบบราชการ เป็นราชการจ๋ามากๆ 

 

ถ้าให้ผมเทียบเหมือนเป็น 3 ก๊กของการผลักดันอะไรในประกันสังคม ก็จะมีกลุ่มข้าราชการประจำในสำนักงานประกันสังคม มีบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้งที่มีนโยบายของตัวเอง (ฝ่ายลูกจ้าง) แล้วก็อีกกลุ่มหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 

 

บอร์ดประกันสังคมเราสามารถออกนโยบาย วางกรอบนโยบายได้ แต่บอร์ดไม่มีอำนาจโยกย้ายแต่งตั้งคน

 

คนที่มีอำนาจโยกย้ายคนคือรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นในการทำงาน 97% แม้เป็นข้าราชการประจำ แต่ในระดับสูงรัฐมนตรียังมีอำนาจโยกย้ายคนที่เกี่ยวข้อง ยังมีอำนาจในการแต่งตั้งเลขาธิการประกันสังคม หรือ ผอ.ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีสามารถให้คุณให้โทษกับข้าราชการได้

 

เพราะฉะนั้นในการผลักดันในประกันสังคม แม้มีบอร์ดจากการเลือกตั้ง ผมก็ต้องเรียนตรงนี้ว่า การผลักดันอะไรหลายๆ อย่างก็อาจจะไม่ได้ราบรื่น ต่อให้เป็นรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีก็ไม่ใช่ทุกนโยบายที่จะสามารถผลักดันได้ ด้วยโครงสร้างแบบนี้ก็มีข้อจำกัดมาก มากกว่ารัฐบาล มากกว่านายก อบจ. มากกว่านายกเทศมนตรี แน่นอน

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เลือกทำงานกับประกันสังคมมีเป้าหมายอย่างไร

 

ษัษฐรัมย์: ผมผลักดันเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยภายใต้เงื่อนไขต่างๆ มาตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมนักศึกษา จนกระทั่งมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ผมเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ยังไม่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เราเคยยื่นผ่านสภาไปก็ค้างเติ่งถูกเตะถ่วง กลไกทางสภาก็ผลักดันลำบากถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล 

 

ในเวทีการเลือกตั้งประกันสังคม สิ่งที่ผมมุ่งหวังคือ ต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่า เราสามารถที่จะเริ่มต้นในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ เหมือนสโลแกนของทีมเรา ‘ประกันสังคมก้าวหน้า ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ’ เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าชีวิตของมนุษย์มีค่ามากกว่าตัวเลข ชีวิตของมนุษย์สำคัญมากกว่าเงื่อนไขทางกฎหมายที่กีดกัน ผมอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถทำประกันสังคมให้ดี คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ทุกคนได้

 

ประกันสังคมมีมาตั้งแต่ปี 2533 ยังมีข้อที่อาจารย์มองว่าต้องการการเติมเต็มอีกเยอะ 

 

ษัษฐรัมย์: ใช่ครับ มีอยู่เยอะ ประกันสังคมเป็นภาพสะท้อนการเมือง ในบริบทที่สังคมเป็นเผด็จการ 

 

ตั้งแต่ปี 2533 ก็มีช่วงเวลาความเป็นเผด็จการอยู่เยอะ มีรัฐประหาร 3 ครั้ง ปกครองด้วยกฎอัยการศึกอีกหลายช่วงเวลา ทำให้ประกันสังคมไม่ค่อยเติบโตเท่าที่ควร 

 

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ ประกันสังคมมีศักยภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นแหล่งของคนที่หวังประโยชน์ เพราะเงินมีปริมาณมหาศาลภายใต้ส่วนนี้ 

 

ขณะเดียวกันเราก็อยากให้สวัสดิการของผู้ประกันตนเติบโตไปพร้อมกับความยั่งยืน ซึ่งจากที่ทำงานมา 1 ปี ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ ทำให้เติบโตไปพร้อมกันได้ หลายคนเคยปรามาสว่า พวกผมเข้าไปจะทำให้ประกันสังคมเจ๊งไวขึ้น เพราะเราคิดแต่เรื่องเพิ่มสวัสดิการ เป็นพวกประชานิยม เป็นพวกฝ่ายซ้าย 

 

แต่จริงๆ แล้ว พิสูจน์ว่าเราสามารถเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนด้วยการทำให้มันโปร่งใสได้ เราสามารถที่จะเอ็กซเรย์งบประมาณสำนักงานที่ไม่มีความจำเป็น แล้วโยกย้ายให้เป็นงบประมาณที่ประชาชนต้องการ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน อันนี้คือสิ่งที่เราพิสูจน์ว่าเราสามารถทำได้ อุดมคติกับการปฏิบัติได้จริง เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องแยกกัน

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ข้อที่ทำสำเร็จแล้ว กับข้อที่ยังเป็นเป้าหมาย 

 

ษัษฐรัมย์: เรื่องที่ทำสำเร็จไปแล้ว เช่น เรื่องเงินเด็กอายุ 0-6 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อเดือน จากเดิม 800 บาท ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิสวัสดิการตั้งแต่การท้อง เลี้ยงลูก รวมแล้ว 100,000 บาทต่อการท้อง 1 ครั้ง รวมสิทธิลาคลอด ค่าคลอด ค่าฝากครรภ์ ส่วนนี้เราอยากผลักดันให้ไว แต่พอเข้าไป เจอระบบราชการต่างๆ ก็ช้ามาก จนมาสำเร็จในปี 2568 ทั้งที่ผลักดันมาก่อนนี้ 

 

อีกส่วนคือประกันการว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง เดิมได้สูงสุด 50% จาก 15,000 บาท คือ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน แต่เราเพิ่มให้เป็น 60% คือ 9,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน อันนี้คือรูปธรรมสิทธิประโยชน์ที่มีการผลักดัน 

 

รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 40 เรื่องค่าเดินทางไปหาหมอ การชดเชยทุพพลภาพที่ขยายเป็นทั้งชีวิต ค่าชดเชยการตั้งครรภ์สำหรับแรงงานอิสระซึ่งเดิมทีไม่มี 

 

ในหมุดหมายที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ในปี 2568 คือการขยายเงินเด็กให้ถึง 12 ปี จะมีเด็กประมาณ 1.2 ล้านคนที่ได้ประโยชน์จากตัวนโยบายนี้

 

ส่วนคนโสดที่ไม่มีลูก แม้ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์นี้ แต่เงินเด็กก็จะอยู่กับกองบำนาญ หรือเรื่องการรักษาพยาบาลก็จะอยู่กับทุพพลภาพ มีคนถามว่าถ้าไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ไหนเขาจะขอคืนได้ไหม คือตามหลักการก็คงไม่ได้ แต่เมื่อไม่ได้ใช้สิทธิอะไรก็จะทำให้เงินในกองนั้นใหญ่ขึ้น พอกองนั้นใหญ่ขึ้นคุณก็จะมีโอกาสได้ใช้ในเงื่อนไขอื่นๆ คืออาจจะเป็นการมองในภาพรวมที่จะทำให้ได้ประโยชน์ แต่เราเองก็พยายามที่จะปรับสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกับทุกกลุ่มคน

 

อย่างเรื่องบำนาญสูตรใหม่สำนักงานก็ต้องใช้เงินเพิ่ม แน่นอนก็จะมีคนจำนวนมากในประกันสังคม แม้ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ใดก็จะได้ใช้สิทธิประโยชน์อื่น 

 

สูตรคำนวณบำนาญใหม่ที่จะใช้สูตรคำนวณทั้งชีวิตของการส่ง ไม่ใช่แค่ 5 ปีสุดท้าย ซึ่งคนที่จะได้ประโยชน์หลักคือผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เดิม 5 ปีสุดท้ายฐานเงินเดือนน้อยลงทำให้ตัวบำนาญน้อยลง 

 

สูตรใหม่นี้จะทำให้ประกันสังคมต้องจ่ายเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 800 กว่าล้านบาท แต่ว่าคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ แล้วคือผู้ประกันตนจำนวนมากที่บางคนถูกเลิกจ้างตอนอายุมาก แล้วมาส่งเงินมาตรา 39 เอง แทนที่จะได้บำนาญ 5,000-6,000 บาท แต่มาเหลือบำนาญแค่หนึ่งพันกว่าบาท เพราะฐานเงินเดือนมาตรา 39 คำนวณจาก 4,800 บาท ไม่ใช่อย่างมาตรา 33 ฐานคำนวณจาก 15,000 บาท 

 

ถ้าปรับใหม่มาตรา 39 อาจจะได้บำนาญ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน เป็นเรือธงที่เราต้องทำ และยังมีสิทธิอีกหลายอย่างที่เราพยายามผลักดัน ซึ่งฝ่ายนายจ้างกับรัฐยังไม่เห็นด้วย

 

ด้วยความที่บอร์ดเป็นลักษณะไตรภาคี (3 ฝ่าย) เรื่องที่เราเห็นว่าไม่เหมาะสม เราสามารถขวางได้ 70-80% ฝ่ายลูกจ้าง 7 ใน 21 ของบอร์ดทั้งหมด ถ้าฝ่ายเราไม่เห็นด้วยก็ขวางได้เพราะเป็นบอร์ดบริหาร เช่น การใช้งบประมาณบริหารสำนักงานบางรายการที่เรารู้สึกว่าเราสามารถนำมาใช้อย่างประหยัดงบประมาณได้มากกว่า ถ้าเขาให้เหตุผลว่าทำอย่างนี้มาหลายปีแล้ว เราก็ให้เขาไปศึกษาเพิ่มเติม 

 

รวมถึงแนวทางการลงทุนที่เรารู้สึกว่า การลงทุนในอนาคตควรลดการใช้ ‘ดุลพินิจ’ เราก็พยายามที่จะปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมและโปร่งใส อันนี้คือตัวอย่างที่เราสามารถจะพยายามป้องกันไม่ให้สิ่งที่เคยปฏิบัติมาอย่างไม่สมบูรณ์ได้เดินหน้าต่อไปโดยไม่มีการปรับปรุง 

 

การลงทุนในหุ้นก็ลดการใช้ ‘ดุลพินิจ’ ในการเลือกซื้อหุ้น เรามีการบริหารความเสี่ยง เราพบว่าหุ้นไทยเป็น 9% ของเงิน 2.6 ล้านล้านบาท เป็นเงินประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาทที่อยู่ในหุ้นไทย เราไม่สามารถกระจายความเสี่ยงถ้าเรามานั่งเทรดหุ้นรายตัวแบบนี้อยู่ ขณะที่กองทุนอย่างกองทุนรวมวายุภักษ์เขาก็ไม่มานั่งเทรดหุ้นกัน 

 

ทีมประกันสังคมก้าวหน้าเตรียมเสนอกฎหมายนำประกันสังคมออกนอกระบบราชการ สร้างความโปร่งใส ดึงคนมีความตั้งใจมีความสามารถเข้ามาบริหาร

 

ส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์เราผลักดันได้ประมาณ 50% โดยในปีที่ 2 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของวาระเรา เราจะเปิดเผยเรื่องเหล่านี้ให้ประชาชนช่วยฉายแสงว่าทำไมเราถูกคัดค้านการผลักดันเรื่องสิทธิประโยชน์ อันนี้จำเป็นต้องให้ประชาชนเห็น เป็นสิ่งที่เราผลักดันได้ครึ่งหนึ่ง 

 

อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องลำบากเช่นกัน เราอยากปรับปรุงเรื่องโครงสร้างการบริหารสำนักงาน ทำได้ 20-30% คือยากที่จะแทรกเข้าไป เนื่องจากบอร์ดมีอำนาจให้แนวนโยบาย แต่อำนาจการบริหารจริงๆ ไปอยู่ยิบย่อยในระดับประกาศ ระเบียบอะไรต่างๆ เป็นการทำงานย่อยระดับแผนก ซึ่งยากที่บอร์ดจะเข้าไปล้วง หรือเปลี่ยนการปฏิบัติของทั้งสำนักงานได้ เช่น หนึ่งในนโยบายหาเสียงของเรา อยากยกเลิกการดูงานต่างประเทศ แต่ว่ายังมีคนต้องการไปดูงาน เราก็ต้องพยายามปรับลดจำนวนครั้งจำนวนคน ไม่ไปพร่ำเพรื่อ ไปเท่าที่จำเป็น เราไม่ต้องการหักดิบไปทุกอย่าง ไม่เหมือนรัฐสภาที่มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล

 

ดูงานต่างประเทศใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม ไม่ได้ใช้งบประมาณอื่นจากกระทรวงแรงงาน

 

ษัษฐรัมย์: การบริหารสำนักงานประกันสังคมเป็นงบฯ ที่เราเรียกงบฯ 10% คือเมื่อเราได้เงินประกันสังคมเข้ามาแล้วก็จะถูกจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ส่วนที่เหลือตามกฎหมายก็จะนำ 10% เอามาบริหารสำนักงานประกันสังคมได้ ซึ่งประกันสังคมเหมือนกรม 1 กรม แต่มีงบบริหารใหญ่กว่ากระทรวงแรงงาน คือมีประมาณ 5 พันกว่าล้านบาทที่ใช้ในการบริหารจัดการ ทั้งงบประมาณด้านไอที งบประมาณด้านการลงทุนซึ่งต้องมีระบบอยู่ข้างใน ถ้าถามว่า 5 พันล้านถือว่าเยอะหรือน้อย เมื่อผมเข้ามาดูก็คิดว่าอาจจะก้ำกึ่งในแง่ว่าประกันสังคมดูแลหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสุขภาพ บำนาญ เรื่องเด็ก มี 7 สิทธิประโยชน์ มีรายละเอียดที่เยอะ 

 

ขณะที่ สปชส.(บัตรทอง) ดูแลเรื่องสุขภาพ การรักษาพยาบาล แต่ประกันสังคมถึงแม้เรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ เราคล้ายๆ บริษัทประกันคือตรวจ-จ่าย ไม่ได้ไปลงรายละเอียดมาก แต่ภาระงานก็เยอะ

 

ผมเองไม่ได้มีปัญหาว่า 5 พันล้าน ถือว่าน้อยไปหรือมากไป แต่มีปัญหาในแง่ว่า บางส่วนใช้เยอะไป บางส่วนใช้น้อยไป ก็เป็นเรื่องที่เราพยายามทำให้สมดุลมากขึ้น 

 

ส่วนเงินของกระทรวงแรงงานเขารับผิดชอบเรื่องข้าราชการ เงินเดือนข้าราชการ

 

ผู้ประกันตนมาตรา 40 แตกต่างจากผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 

 

ษัษฐรัมย์: ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับการดูแลโดยบัตรทองของ สปสช. แต่ก็มีสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ซึ่งมาตรา 40 มีค่าชดเชยทุพพลภาพ แอดมิตเข้าโรงพยาบาล หรือหมอสั่งให้พักอยู่บ้าน ประกันสังคมจะจ่ายให้เป็นเงินสด เรื่องนี้มีมาก่อน แต่เมื่อทีมผมเข้ามาก็มาเพิ่มเงิน เช่น ค่าเดินทางไปหาหมอ เดิมผู้ประกันตนได้ 50 บาท ซึ่งก็ไม่มีใครอยากเสียเวลาแม้แต่จะกรอกข้อมูล เราจึงเพิ่มให้ 200 บาท 

 

ปัญหาของมาตรา 40 ไม่ใช่คนมาใช้สิทธิเยอะ แต่คนไม่ค่อยเบิก เนื่องจากเป้าของคนที่ทำมาตรา 40 คือเรื่องเสียชีวิต เพราะได้ 50,000 จากการจ่ายสมทบประมาณพันกว่าบาทต่อปี

 

ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือกลุ่มคนที่รายได้ไม่แน่นอน ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำที่มีเงินเดือน ส่วนการจ่ายสมทบมี 70 บาท 100 บาท และ 300 บาทต่อเดือน ประกันสังคมไม่ได้ดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล ถ้าผมเทียบง่ายๆ เหมือนเป็นประกันชดเชยรายได้ในฐานะแรงงานอิสระ ซึ่งบัตรทองไม่ได้ครอบคลุมการเดินทางไปหาหมอกับค่าชดเชยรายได้ 

 

บัตรทองดูแลแต่การรักษาพยาบาล ส่วนมาตรา 40 ประกันสังคมดูแลเรื่องการขาดรายได้ ทุพพลภาพ โดยให้ผู้ประกันตนเป็นเงินสด 

 

ประกันสังคมแตกต่างจากประกันเอกชน เพราะแม้เป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่แล้วก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ เป็นเงื่อนไขการออกแบบประกันสังคมคือสิ่งที่รัฐจัดให้ 

 

ส่วนมาตรา 40 ที่จะไม่สามารถอยู่ในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คือคนที่สมทบ 100 บาทกับ 300 บาท เพราะมีส่วนที่เป็นเงินออม ซึ่งประเทศนี้ก็ตลกนะ คือเป็นระบบที่กลัวว่ารัฐจะมาช่วยซ้ำซ้อน

 

วิธีคิดของรัฐคือ ถ้าได้ออมกับมาตรา 40 แล้วก็ห้ามมาออมกับ กอช. อีก เพราะรัฐก็ช่วยออมไปแล้ว เป็นเรื่องตลกตรงที่รัฐกลัวประชาชนได้สิทธิประโยชน์เยอะ ทั้งที่จำนวนเงินคือเศษเงิน หากเทียบกับนายทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์อะไรซ้ำไปซ้ำมาไม่มีใครว่า 

 

เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติคือ มาตรา 40 ประเภท 1 เท่านั้นที่จะไป กอช. ได้ คือจ่ายเดือนละ 70 บาท จ่ายน้อยสุด แล้วไม่มีเงินออม ส่วนอีก 2 คือสมทบ 100 บาทกับ 300 บาทต่อเดือน มีสิทธิประโยชน์มากน้อยต่างกัน แต่จะต่างกันใหญ่ๆ กับสมทบ 70 บาทคือเรื่องเงินออม

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เงินประกันสังคมมีเงินสะสมมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นจำนวนเท่าไร และเงินแต่ละปีอีกเท่าไร

 

ษัษฐรัมย์: เงินสะสม 2.6 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่สะสมมาเรื่อยๆ แบ่งเป็น 3 กอง คือ 1. กองบำนาญกับเด็ก เป็นกองที่ใหญ่ที่สุด มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท

 

  1. กองที่เรียกว่า 4 กรณี คือ เจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ตั้งครรภ์

 

  1. กองว่างงาน 

 

กองส่วนที่เงินนิ่งที่สุดน่าจะเป็นกองบำนาญเพื่อที่จะนำไปลงทุนระยะยาวได้ ส่วนกอง 4 กรณี เจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ตั้งครรภ์ จะเป็นการลงทุนที่ผลตอบแทนอาจจะไม่สูง เพราะต้องการสภาพคล่อง เป็นเงินส่วนที่ต้องมีการจ่ายตลอดเวลา 

 

เงินประกันสังคมเทียบตัวเลขง่ายๆ โดยประมาณ เงินผู้ประกันตนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เงินนายจ้าง 8 หมื่นล้านบาท แล้วก็มีของรัฐตามกฎหมายประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท สัดส่วนแบบนี้ทุกปีจะเข้ามาแบบนี้ แล้วก็มีแนวโน้มเยอะขึ้น จนกระทั่งประชากรเริ่มเกิดจำนวนน้อยอย่างที่มีการวิเคราะห์กัน 

 

ณ ปัจจุบันเข้ามา 2 แสนล้านบาท เอาไปจ่ายสิทธิประโยชน์ พอจ่ายสิทธิประโยชน์ก็จะเหลือเงินที่นำมาลงทุนเติมการลงทุน และมีส่วนงบบริหารสำนักงาน 5 พันล้านบาท ซึ่งถูกนำมาจาก 2 แสนล้านบาทที่เข้ามา

 

บอร์ดประกันสังคมกับการโหวตในที่ประชุม

 

ษัษฐรัมย์: นับแต่ประชุมมายังไม่มีการโหวต เป็นการประชุมถ้าเห็นพ้องต้องกันก็ผ่าน แต่ถ้ากรณีที่ประชุมสรุปว่าเป็นอย่างไร แล้วมีคนไม่เห็นด้วยก็ขอบันทึกเป็นข้อสังเกตไว้หรือสงวนความเห็น หรือถ้าเห็นต่างกันมาก โดยกระบวนการการประชุมไตรภาคี 3 ฝ่าย ก็จะส่งกลับไปให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งมี 14-15 อนุกรรมการ อย่างผมก็เป็นประธานอนุกรรมการมาตรา 40

 

เรื่องที่ผ่านเข้าบอร์ด บอร์ดให้แนวทางไป จากนั้นอนุกรรมการศึกษาอภิปรายอย่างเข้มงวด จึงจะส่งกลับมาให้บอร์ดพิจารณาได้ 

 

โดยหลักการบอร์ดจะไม่ขัดกับอนุกรรมการ เว้นแต่มีความเห็นแย้งมากๆ จะส่งกลับให้อนุกรรมการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่ละอนุกรรมการก็มีตัวแทนสัดส่วนผู้ประกันตน

 

อย่างไรก็ตามในปี 2568 อาจจะมีการโหวตในที่ประชุม หากมีสิ่งไหนที่เราผลักดันไปแล้วถูกปฏิเสธ หรือยื้ออย่างไม่สมเหตุผล ผมคิดว่าก็จำเป็นต้องเสนอการโหวตให้บันทึก มิเช่นนั้นจะวนกลับไปที่อนุกรรมการแล้วก็ตั้งใจให้ไม่ผ่าน ซึ่งมีอยู่แล้วในการเมืองในการประชุม 

 

ความเชื่อมั่นกับความหวั่นไหวว่าเงินประกันสังคมจะหมดไป ไม่ได้เงินเกษียณเพราะเอาไปทำอะไรไม่รู้

 

ษัษฐรัมย์: หลักการบริหารกองทุนประกันสังคมกำหนดว่าจะได้เงินบำนาญเท่าไร ซึ่งเป็นหลักการที่ก้าวหน้า หลักการที่หลายคนคุ้นชินแต่ไม่ก้าวหน้าคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่นายจ้างออม ลูกจ้างออม แล้วได้เงินก้อน

 

ขณะที่ประกันสังคมถ้าสมทบ 30 ปี อาจจะได้เงินประมาณ 4 แสนบาท แต่ว่าบำนาญที่ได้รับจริงๆ ประมาณล้านกว่าบาท นับแต่อายุ 55 ปีไปจนกระทั่ง 20 ปี คือสูงกว่า 3-4 เท่า เพื่อความมั่นคงระยะยาวของคน 

 

ตามหลักการมีทางที่สามารถปรับอะไรต่างๆ ได้ ตามกฎหมายคือไม่ได้ถูกปล่อยให้เจ๊งได้ เพราะรัฐต้องดูแล ถ้าถึงวันที่ไม่มีเงินรัฐก็ต้องเติมเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามกฎหมาย เทียบกับธนาคารออมสิน ธนาคารของรัฐ ดังนั้นการคิดว่าจะเจ๊งเป็นไปได้ไม่ง่ายทั้งในแง่กฎหมายและการบริหารจัดการ

 

แต่ไม่แปลกที่คนจะคิดเรื่องกองทุนประกันสังคมจะเจ๊งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้คนได้ คนจึงเชื่อเรื่องเล่าข่าวลือ

 

ผมมองว่าถ้าสำนักงานอยู่ในที่สว่าง มีคนจับตามอง คนทำงานจะทำงานง่ายขึ้น 

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

บัตรทองให้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลแซงหน้าประกันสังคมไปแล้วหรือไม่

 

ษัษฐรัมย์: ผมคิดว่าคนไทยควรมีระบบการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดอันเดียว แต่เนื่องจากประกันสังคมเกิดก่อน แล้วก็มีกลไกการบริหารจัดการแบบนี้มา พอเกิด สปสช. พร้อมพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้สิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่า

 

ในทางปฏิบัติประกันสังคมก็พยายามทำให้ไม่น้อยกว่า สปสช. แต่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ

 

ส่วนการแก้ให้เป็นระบบเดียวกัน ต้องการการแก้ระดับ พ.ร.บ. ต้องการ สส. 250 คน ซึ่งผมยังคิดว่าต้องใช้พรรคการเมืองที่มีแรงจูงใจเรื่องนี้ ต้องมีแรงจูงใจทางการเมืองเรื่องการรวมกองทุน (ข้าราชการ-ประกันสังคม-บัตรทอง) ทีมประกันสังคมก้าวหน้าในฐานะทีม เราดูหลายโมเดล เช่น ให้ทุกคนมีสิทธิบัตรทองไปเลยได้ไหม แล้วประกันสังคมก็ Top Up ไป เป็นแบบนั้นได้ไหม ซึ่ง สปสช. ก็ไม่ได้แฮปปี้กับโมเดลนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วโมเดลนี้ง่าย แต่ สปสช. อยากให้ประกันสังคมเอาเงินมาจ่ายให้ สปสช. 

 

ในระยะยาวอาจจะดี แต่ยังมีข้อจำกัดช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกันสังคมกับบัตรทองยังมีข้อที่แตกต่างกัน เพราะประกันสังคมมีคู่สัญญาเป็นโรงพยาบาลเอกชน 50% ที่เข้าร่วม ส่วน สปสช. ยังมีจุดอ่อนคือโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากไม่เข้าร่วม 

 

ประกันสังคมมีงบฯ มากกว่า ถ้าเอกชนจะเปิดโรงพยาบาลใหม่ก็จะมีโมเดลคือเป็นคู่สัญญาประกันสังคมเพื่อจะได้มีเงินก้อน คือเงินรายหัวของคนที่อาจจะไม่ได้มารักษาพยาบาล เพราะส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน โรงพยาบาลจะมีเงินที่สามารถเป็นสตาร์ทอัพได้เลยถ้าเปิดโรงพยาบาลเป็นคู่สัญญาประกันสังคม

 

ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนไป สปสช.(บัตรทอง) ทั้งหมด การรองรับโดยโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนจำนวนหนึ่งที่เป็นคู่สัญญาบัตรทองจะไม่พอ ถ้าไม่สามารถออกแบบ สปสช. ให้ดึงดูดโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาได้ ความเห็นพวกผมอยากไปทางนี้ให้มีระบบเดียว เพิ่มอำนาจต่อรองการบริการ การรักษาพยาบาล เพิ่มงบประมาณด้วยซ้ำ แต่ถ้าคำนวณช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ดีก็อาจจะเป็นหายนะสำหรับผู้ป่วยได้

 

อาจารย์เป็นคนเจเนอเรชันไหน รายได้จากการเป็นบอร์ดจำนวนเท่าไร

 

ษัษฐรัมย์: Gen Y อายุ 39 ปี กลางปีนี้จะครบ 40 ปีแล้ว ในฐานะบอร์ดประกันสังคม อีกด้านหนึ่งตัวผมเองเป็นผู้ประกันตน คือทำงานฟูลไทม์ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่ข้าราชการ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีสิทธิประกันสังคมมาตรา 33 

 

บอร์ดลูกจ้างจะมีความยากลำบาก ทุกคนยังต้องทำงานของตัวเอง ส่วนเบี้ยประชุมกับค่าเดินทาง 2 ครั้งใน 1 เดือนจะได้ไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าเดือนไหนไม่มีประชุมก็ไม่ได้รับเงินส่วนนี้ บอร์ดลูกจ้างทำงานอย่างมีข้อจำกัด แต่คาดหวังว่าจะเป็นก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ ก้าวแรกสำหรับการเปลี่ยนแปลงสังคม และสำหรับลูกผมที่เพิ่งอายุ 1 ขวบ ผมอยากให้สังคมดีขึ้น ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ประกันตนทุกคน

 

21 บอร์ดประกันสังคม แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 7 คน

 

คณะกรรมการประกันสังคม

 

บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์

ประธานกรรมการประกันสังคม

(ปลัดกระทรวงแรงงาน)

 

มารศรี ใจรังษี

กรรมการและเลขานุการ

 

ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

 

ภัทรพร วรทรัพย์

ผู้แทนกระทรวงการคลัง

 

นภาพร เมฆาผ่องอำไพ

ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

เชษฐา โมสิกรัตน์

ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย

 

มณเฑียร คณาสวัสดิ์

ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

 

กรณินทร์ กาญจโนมัย

ผู้แทนสำนักงบประมาณ

 

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

รองศาสตราจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

ศิววงศ์ สุขทวี

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

ชลิต รัษฐปานะ

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

นลัทพร ไกรฤกษ์

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

ลักษมี สุวรรณภักดี

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

จตุรงค์ ไพรสิงห์

กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

 

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

มนตรี ฐิรโฆไท

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

วิภาพรรณ มาประเสริฐ

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

สิริวัน ร่มฉัตรทอง

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

สุวิทย์ ศรีเพียร

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

เพชรรัตน์ เอกแสงกุล

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

ชัชพงศ์ โชติศิริ

กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising