เหลืออีกเพียงแค่ 2 สัปดาห์เศษๆ ก็จะถึงวันที่คนกรุงเทพมหานครเฝ้ารอคอย นั่นคือวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งยิ่งใกล้วันเลือกตั้งกระแสความคิดเห็นยิ่งเข้มข้นขึ้น บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด จัดทำ Social Listening มัดรวมเสียงชาวเน็ตตลอด 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 27 เมษายน ที่มีต่อผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบมีมากกว่า 1.9 ล้านข้อความ เจาะลึกข้อมูลเสียงสะท้อนและทัศนคติความชอบ ความไม่ถูกใจ และความคิดเห็นเป็นกลางทั่วไป ลำดับผู้สมัครที่ถูกกล่าวถึงเมื่อดูเฉพาะข้อความเชิงบวกและข้อความเชิงลบ พบว่ามีความเปลี่ยนแปลง แต่ยืนอันดับ 1 ยังคงเป็น ‘ชัชชาติ’ ขณะที่อันดับ 2 ขับเคี่ยวกันระหว่าง ‘อัศวิน’ และ ‘วิโรจน์’
บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด Digital Super Agency รายแรกของไทย เปิดเผยข้อมูลการจัดทำ Social Listening ด้วยเทคโนโลยี AI ลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท คัดกรองข้อมูลที่รวบรวมได้จากบทสนทนาชาวเน็ตในช่วง 3 เดือน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2565 ในหัวข้อทัศนคติที่มีต่อผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 อันดับแรก โดยทำการเก็บข้อมูลแบบไม่ได้ระบุพื้นที่ผู้ใช้งานจากหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Website, YouTube, Instagram ฯลฯ ภาพรวมการสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวข้องกับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ช่วงข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 27 เมษายน 2565 รวมทั้งสิ้น 1,955,953 ข้อความ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เสียงสะท้อนในโซเชียลมีเดีย! คนกรุงอยากได้ผู้ว่าฯ คนใหม่ ‘แก้ปัญหาทางเท้า’ เร่งด่วนที่สุด
- สำรวจ ‘โลกออนไลน์’ คิดเห็นอย่างไรกับการเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ในรอบ 9 ปี
โดยเนื้อหาส่วนใหญ่สนทนาเกี่ยวกับนโยบายของผู้สมัครที่มีความแตกต่างกันในแต่ละมุมมองทั้งเชิงบวก เชิงลบ และเชิงทั่วไป ได้แก่ นโยบายทำได้จริง บุคลิกน่าเชื่อถือ มั่นใจว่าทำงานได้อย่างที่พูด หาเสียงสร้างภาพ นโยบายขายฝัน ไม่ชอบพรรคที่หนุนหลัง ไม่รู้ปัญหาแต่อยากมาแก้ไข กทม. จะไปต่อไม่ได้เพราะย่ำอยู่กับที่นานเกินไป ฯลฯ
จากข้อมูลในภาพข้างต้นจะพบว่า แม้ในภาพรวม ผู้สมัครที่ถูกกล่าวถึงเป็นลำดับ 2 และ 3 คือ ‘วิโรจน์’ และ ‘อัศวิน’ แต่หากดูเฉพาะบทสนทนา ‘เชิงบวก’ อันดับของผู้สมัครทั้งสองคนนี้จะสลับกัน โดยอันดับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผู้คนในโลกโซเชียลพูดถึงมากที่สุดในเชิงบวก 3 อันดับแรก คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จำนวน 230,000 ข้อความเชิงบวก ตัวอย่างความเห็น เช่น เบอร์ 8 เป็นเลขแห่งความเจริญก้าวหน้า ชื่นชมคลิปวิดีโอที่นำเสนอปัญหาและการแก้ไข ให้ความสำคัญกลุ่มหลากหลายทางเพศ ป้ายหาเสียงไม่ขวางการจราจร ยกยอเป็นผู้แข็งแกร่งต่างจากคนอื่น มีความเข้าใจปัญหากลุ่มชนชั้นล่าง
ขณะที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง รั้งอันดับ 2 ชาวเน็ตพูดเชิงบวก 94,000 ข้อความ เช่น ให้กำลังใจขอให้ประสบความสำเร็จ ชมการสร้างบันไดเลื่อนไม่มีหลังคาไม่บดบังทัศนียภาพ ทำคลองสวยสะอาดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ลงพื้นที่ดูปัญหาแออัดกับชาวมุสลิม ยืนยันผลงานเยอะแต่ส่วนใหญ่คนไม่รู้
ตามมาด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จำนวน 58,000 ข้อความเชิงบวก เช่น แสดงจุดยืนสนับสนุนเลือกพรรคก้าวไกล ชื่นชมนโยบายสวัสดิการคนเมือง ป้ายหาเสียงไม่ขวางทางเดิน ทุ่มเทลงพื้นที่จริง ขอบคุณแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ชอบวิธีนำเสนอนโยบาย
อันดับ 4 น.ต. ศิธา ทิวารี ถูกกล่าวถึง 12,802 ข้อความ เช่น ชอบนโยบายบำนาญประชาชน มีวิสัยทัศน์ที่เป็นไปได้จริง
อันดับ 5 สกลธี ภัททิยกุล ถูกกล่าวถึง 10,690 ข้อความ เช่น ชื่นชมในการทำงาน เพราะเข้าใจปัญหาจริงของคนกรุงเทพฯ นโยบายน่าสนใจ
อันดับ 6 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถูกกล่าวถึง 4,837 ข้อความ เช่น นำระบบ AI แก้ปัญหาการจราจร เชื่อว่านโยบายแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำได้จริง
อันดับ 7 รสนา โตสิตระกูล ถูกกล่าวถึง 3,450 ข้อความ เช่น ชื่นชอบนโยบายติดโซลาร์เซลล์ หาเสียงออนไลน์ ไม่ทำป้ายกีดขวางพื้นที่ เห็นด้วยกับนโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
อันดับ 8 วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ถูกกล่าวถึง 36 ข้อความ เช่น ชอบแนวคิดพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นสมาร์ทซิตี้
อันดับ 9 ธเนตร วงษา ถูกกล่าวถึง 6 ข้อความ เช่น ชื่นชอบวิสัยทัศน์พูดจริงทำจริง
อันดับ 10 ศุภชัย ตันติคมน์ ถูกกล่าวถึง 5 ข้อความ เช่น ชอบนโยบายตลาดนัดธงเขียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะบทสนทนา ‘เชิงลบ’ โซเชียลมีเดียพูดถึงผู้สมัคร 10 อันดับแรก รวม 298,593 ข้อความ มีลำดับดังนี้
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกกล่าวถึง 200,192 ข้อความ เช่น หาเสียงสร้างภาพ ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดพื้นที่การชุมนุมของประชาชน ล้อเลียนนโยบาย 200 ข้อว่าถูกนำเสนอเกินจริง
- วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ถูกกล่าวถึง 59,238 ข้อความ เช่น ไม่เลือกเพราะไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทวงคืนสนามหลวง ไม่พอใจการตอบคำถามในเชิงเหน็บแนม นโยบายไม่ชัดเจนมุ่งเน้นการเมืองเกินไป ไม่พอใจที่นำประเด็นการชุมนุมมาเป็นเครื่องมือหาเสียง มุ่งหาเสียงแต่ประเด็นที่สร้างความแตกแยกให้สังคมไทย
- พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ถูกกล่าวถึง 29,253 ข้อความ เช่น หากได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาขึ้น ตำหนิป้ายหาเสียงกีดขวางทางเดิน ขาดวิสัยทัศน์เพราะปฏิบัติหน้าที่ตามคำวิจารณ์ของประชาชน ตอนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ฟังปัญหาประชาชนแต่มารับฟังตอนหาเสียง
- สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถูกกล่าวถึง 3,547 ข้อความ เช่น ลอกเลียนแบบป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายอื่น ไม่พอใจที่ไม่เคยรับทราบถึงปัญหาทางเท้าในกรุงเทพฯ มาก่อน ไม่สนับสนุนเพราะสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
- สกลธี ภัททิยกุล ถูกกล่าวถึง 2,936 ข้อความ เช่น ไม่รู้จริงถึงปัญหาต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไม่เคยเห็นผลงานในสมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.
- รสนา โตสิตระกูล ถูกกล่าวถึง 2,710 ข้อความ เช่น ยก จำลอง ศรีเมือง เป็นต้นแบบผู้ว่าฯ กทม. ทำให้หมดความน่าเชื่อถือ นโยบายขายฝัน ไม่เชื่อว่าจะปราบทุจริตได้จริง
- น.ต. ศิธา ทิวารี ถูกกล่าวถึง 665 ข้อความ เช่น นโยบายหวังคะแนนเสียง นโยบายเชื่อมต่อคนต่างรุ่นไม่มีทางเกิดได้จริง
- วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ถูกกล่าวถึง 32 ข้อความ เช่น ตำหนินโยบายที่ไม่ระบุเนื้อหาและไม่มีรายละเอียด
- ศุภชัย ตันติคมน์ ถูกกล่าวถึง 10 ข้อความ เช่น คัดลอกนโยบายของคนอื่นมาดัดแปลงเล็กน้อยแล้วนำไปใช้เป็นของตนเอง
- ธเนตร วงษา ถูกกล่าวถึง 10 ข้อความ เช่น ไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหารถติดได้ภายใน 21 วัน
ขณะที่เมื่อดูเฉพาะบทสนทนา ‘ทั่วไป หรือเป็นกลาง’ โซเชียลมีเดียพูดถึงผู้สมัคร 10 คนแรก รวม 1,237,856 ข้อความ ดังนี้
- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกกล่าวถึง 689,971 ข้อความ
- วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ถูกกล่าวถึง 209,043 ข้อความ
- พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ถูกกล่าวถึง 173,532 ข้อความ
- รสนา โตสิตระกูล ถูกกล่าวถึง 55,753 ข้อความ
- สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถูกกล่าวถึง 42,006 ข้อความ
- สกลธี ภัททิยกุล ถูกกล่าวถึง 35,893 ข้อความ
- น.ต. ศิธา ทิวารี ถูกกล่าวถึง 20,210 ข้อความ
- ศุภชัย ตันติคมน์ ถูกกล่าวถึง 5,019 ข้อความ
- ธเนตร วงษา ถูกกล่าวถึง 1,686 ข้อความ
- วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ถูกกล่าวถึง 925 ข้อความ
ทั้งนี้ บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด ได้จัดทำรายละเอียดทัศนคติของประชาชนแยกเป็นรายบุคคลไว้สำหรับ 10 อันดับผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังนี้
Social Listening เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทำงานด้านการตลาดดิจิทัลนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการข้อมูล และสามารถนำใช้เพื่อรับฟังเสียงของผู้คนในโซเชียลมีเดียในช่องทางหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยการนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้คนที่ร่วมสนทนาในโลกออนไลน์ที่มีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ผ่านการแสดงความคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร บุคลิก ความคิด นโยบาย รวมถึงการสะท้อนปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข ร่วมเกาะติดสถานการณ์การเลือกผู้ว่าฯ กทม. ด้วยข้อมูลเรียลไทม์ไปกับเรียล สมาร์ท ได้ที่ www.realsmart.co.th และ facebook.com/realsmart.co.th