×

วัคซีนในสังคม: จาก ‘ข้อเท็จจริง’ สู่ ‘การตระหนักร่วม’

22.11.2022
  • LOADING...

ในบทความก่อนหน้านี้ (ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมของวัคซีน: การรับรู้ ความลังเล และการ (ไม่) ยอมรับ) ผู้เขียนได้ทำความเข้าใจการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด ตลอดจนการทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่ในแง่ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสได้เท่านั้น หากแต่ต้องมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการและความเชื่อมั่นทางสังคมด้วย ประเด็นหลังนี้ผู้เขียนเรียกว่า ‘ภูมิคุ้มกันทางสังคม’ ของวัคซีน ซึ่งเป็นมิติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเราจะเข้าใจการทำงานและการแพร่กระจายของวัคซีน ซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กับการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร ความคาดหวัง และเชื้อไวรัสในสังคม 

 

ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าประเด็นสำคัญของการอภิปรายถึงวัคซีน ‘ที่ดี’ นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องประสิทธิภาพของการป้องกันรักษาโรค หากแต่เชื่อมโยงกับบริบทเรื่องเวลา มูลค่า กระบวนการได้มา และความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่ผลิตและจัดหาด้วย กล่าวอีกอย่างก็คือว่า การที่ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์หนึ่งใดจะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และแพร่กระจายไปสู่วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าเทคโนโลยีหรือผลผลิตดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพในเชิงเทคนิคในตัวมันเองแต่เพียงเท่านั้น หากแต่กระบวนการสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับในสังคมย่อมเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เป็นผลมาจากการที่สังคมสามารถเข้าถึง มีส่วนร่วม และยึดโยงกับตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และอุดมคติของผู้คนที่หลากหลายด้วย

 

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นกระบวนการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งต่อเนื่องจากกระบวนการทางเทคนิคและทางสังคมของการพัฒนาวัคซีนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว กระบวนการที่ว่าก็คือ การกระจายวัคซีนให้แพร่หลายออกไปในสังคม การกระจายวัคซีนเป็นกระบวนการที่มีสำคัญ ซึ่งทำให้ประเด็นข้อเท็จจริง (Matters of Fact) จากการศึกษาค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มคนและหน่วยงานเฉพาะกลุ่ม ปรับเปลี่ยนจนกลายมาเป็นประเด็นที่รับรู้และตระหนัก (Matters of Concern) ร่วมกันในสังคมวงกว้าง ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายทั้งในเชิงความคิดและที่มา

 

การกระจายวัคซีนจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นในการเชื่อมโยงมิติเชิงสถาบันและความสัมพันธ์ที่หลากหลายแบบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ สถาบันทางการเมือง เทคโนโลยีดิจิตัล เครือข่ายทางสังคม สื่อสารมวลชน ระบบระเบียบของการจัดกลุ่มประชากร และการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม บทความนี้จะนำประเทศออสเตรเลียมาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับสังคมไทยได้ลองขบคิดและเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยผู้อ่านเอง 

 

จากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ สู่การไหลเวียนของวัคซีนในสังคม

 

ในช่วงปลายปี 2020 หรือราว 1 ปีหลังจากการเริ่มแพร่ระบาดของโควิด เป็นช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มวางแผนในการรับเอาวัคซีนมาใช้เพื่อการบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาด ในเดือนพฤศจิกายน 2020 รัฐสภาของออสเตรเลียได้ลงมติเห็นชอบ The Australian COVID-19 Vaccination Policy ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการกระจายวัคซีนโควิดในประเทศออสเตรเลีย โดยมีหลักสำคัญคือ ประชาชนออสเตรเลียต้องได้รับวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นโยบายดังกล่าวได้กำหนดกลยุทธ์การสื่อสารในการให้ข้อมูลที่ทันท่วงที โปร่งใส เชื่อถือได้ แก่สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการสื่อสารที่สม่ำเสมอและโปร่งใสผ่านช่องทางของรัฐบาลออสเตรเลียและสื่อต่างๆ โดยมีข้อความสำคัญ ประกอบด้วย 

 

  1. วัคซีนโควิดเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องชุมชนชาวออสเตรเลีย 

 

  1. เป้าหมายคือการเข้าถึงและขนส่งวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแก่ชาวออสเตรเลียทุกคน 

 

  1. รัฐบาลจะเฝ้าติดตามกระบวนการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้นั้นมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งาน 

 

  1. วัคซีนจะถูกกระจายไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน 

 

  1. กลุ่มที่จะมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนก่อนนั้นจะคำนึงจากคุณสมบัติของวัคซีน ผลการทดสอบของวัคซีน ตลอดจนสถานการณ์การระบาด 

 

  1. ประชาชนออสเตรเลียจะได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามปริมาณวัคซีนที่มากขึ้น 

 

  1. ส่งเสริมให้ประชาชนออสเตรเลียรับข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าชื่อถือ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและติดตามข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ 

 

รัฐสภาของออสเตรเลียได้ลงมติเห็นชอบ The Australian COVID-19 Vaccination Policy ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการการกระจายวัคซีนโควิดในประเทศออสเตรเลีย โดยมีหลักสำคัญคือ ประชาชนออสเตรเลียต้องได้รับวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2021 ได้มีการเผยแพร่ Australia’s COVID-19 vaccine national roll-out strategy โดยกำหนดลำดับประชากรในการรับวัคซีน ซึ่งแบ่งออกเป็นช่วงเวลาที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ ประชากรถูกแบ่งออกเป็น 16 กลุ่ม อยู่ภายใต้ 5 ช่วงเวลา โดยในช่วงแรก ประชากรออสเตรเลียที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิดคือ ผู้พำนักในสถานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ทำงานที่เกี่ยวข้อง, ผู้พิการ รวมถึงผู้ทำงานที่เกี่ยวข้อง, เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับพรมแดนและการกักกันโรค ผ่านโรงพยาบาลทั่วออสเตรเลียกว่า 30-50 โรงพยาบาล

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี Scott Morrison ได้กล่าวว่า ประชาชนกลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับวัคซีนประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยคาดการณ์ว่าจะได้รับวัคซีน Pfizer หากผ่านการรับรองจากหน่วยงานบริหารสินค้ารักษาโรค (Therapeutic Goods Administration: TGA) ซึ่งคาดว่ากระบวนการรับรองจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2021 ทั้งนี้ จะเป็นวัคซีน Pfizer ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนประชากรส่วนใหญ่ภายในประเทศคาดว่าจะได้รับวัคซีน AstraZeneca ซึ่งสามารถผลิตได้ภายในประเทศ

 

ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2021 รัฐบาลสหพันธรัฐได้เริ่มการณรงค์ทางสังคมผ่าน COVID-19 vaccine information campaign ด้วยเงินลงทุนกว่า 23.9 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย การรณรงค์นี้เกิดขึ้นภาพหลัง TGA ได้อนุมัติวัคซีน Pfizer ซึ่งถือเป็นวัคซีนโควิดตัวแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในวงกว้างในเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีน รวมไปถึงข้อมูลการเข้ารับวัคซีน ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และดิจิทัลมีเดีย โดยการรณรงค์ที่ว่านี้ประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่

 

  1. การยืนยันว่าวัคซีนได้ผ่านกระบวนการรับรองโดยหน่วยงานออสเตรเลียถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

 

  1. การให้ข้อมูลถึงแผนการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะแก่ Priority Groups ตลอดจนปริมาณโดสที่ควรได้รับ

 

  1. การแจ้งประชาชนถึงข้อมูลสำหรับการเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งในเรื่องสถานที่ กระบวนการ ปริมาณโดสที่ควรได้รับ ตลอดจนแนวทางการสนับสนุนช่วยเหลือการเข้ารับวัคซีนอื่นๆ 

 

จากนโยบาย ‘ข้อเท็จจริง’ สู่ ‘ข้อตระหนัก’

 

นอกจากประชากรกลุ่มเสี่ยง และผู้เกี่ยวข้องหลัก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติการด่านหน้าด้านต่างๆ แล้ว การเริ่มกระจายวัคซีนออกสู่สาธารณชนโดยกว้างย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ ท่ามกลางกระบวนการดังกล่าวนี้ ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกับสถาบันทางการเมืองในเชิงนโยบาย และดึงเอาเครือข่ายทางสังคม รวมถึงมิติต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เข้ามาร่วมพิจารณาในการปรับเปลี่ยน ‘ข้อเท็จจริง’ ทางวิทยาศาสตร์ ให้กลายมาเป็น ‘ข้อตระหนัก’ ร่วมทางสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างวัคซีนกับตัวแสดงอื่นๆ มากขึ้น ท่ามกลางกระบวนการดังกล่าวนี้ เราจะเริ่มเห็นว่าข้อมูลทางเทคนิคจะถูกนำมาผสมผสานและเชื่อมโยงกับมิติและความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบที่หลากหลายออกไป 

 

ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกับสถาบันทางการเมืองในเชิงนโยบาย และดึงเอาเครือข่ายทางสังคม รวมถึงมิติต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เข้ามาร่วมพิจารณาในการปรับเปลี่ยน ‘ข้อเท็จจริง’ ทางวิทยาศาสตร์ ให้กลายมาเป็น ‘ข้อตระหนัก’ ร่วมทางสังคม

 

ในกรณีของประเทศออสเตรเลีย เราสามารถพิจารณากระบวนการดังกล่าวออกเป็นมิติต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมแง่มุมทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นประเด็นที่จะพอให้เห็นภาพของกระบวนการปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ได้บ้าง

 

  • การสร้างข้อตระหนักในเรื่องความปลอดภัย

ระยะแรกของ COVID-19 vaccine information campaign จะเน้นการสื่อสารเพื่อยืนยันว่าวัคซีนได้ผ่านกระบวนการอนุมัติเพื่อรับรองถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ผ่านสื่อรณรงค์ประเภทต่างๆ ได้แก่ วีดิทัศน์ โปสเตอร์ และสื่อทางสังคมต่างๆ โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ เช่น 

 

  1. How COVID-19 Vaccines work ตัวอย่างเช่น วีดิทัศน์แสดงถึงขั้นตอนการทำงานของวัคซีนภายในร่างกายหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน จากวีดิทัศน์ดังกล่าวนั้นมีการใช้ Animated Explainer Video ผ่านกราฟิกที่เรียบง่าย และการอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย รวมถึงการแสดงข้อความสำคัญ ‘Safe. Effective. Free’ อยู่หลายครั้งตลอดวีดิทัศน์

 

 

  1. How vaccines are tested and approved ตัวอย่างเช่น วีดิทัศน์รูปแบบ Animated Explainer Video อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานของ TGA ในการรับรองและอนุมัติวัคซีนโควิด ทั้ง 6 ขั้นตอน โดยมีข้อความสำคัญคือ ความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ (Safety. Quality. Effectiveness)

 

 

นอกจากวีดิทัศน์รูปแบบที่มีภาคกราฟิกเคลื่อนไหวประกอบแล้ว ยังมีวีดิทัศน์ที่มีบุคคลอธิบายถึงผลกระทบของโควิด กระบวนการรับรองวัคซีน และแนวทางการกระจายวัคซีน ยกตัวอย่าง ในสื่อวีดิทัศน์นี้ได้มีศาสตราจารย์ John Skerritt จาก TGA กล่าวยืนยันว่า “วัคซีนจะได้รับการอนุมัติก็ต่อเมื่อพวกเรามีข้อมูลที่เพียงพอว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพและปลอดภัย” ตลอดจนมีนายแพทย์ Nick Coatsworth แพทย์โรคติดเชื้อ และศาสตราจารย์ Alison McMillan หัวหน้าการพยาบาลและผดุงครรภ์ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความน่าเชื่อถือที่จะเป็นโฆษกในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อคำถามที่ว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้เพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะเจาะเข้าถึงคนทุกกลุ่ม เนื่องจากออสเตรเลียมีความหลากหลาย จึงอาจจะต้องใช้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้นำทางศาสนาและวัฒนธรรม อีกทั้งความปลอดภัยของวัคซีนถือว่าเป็นข้อกังวลหลักของสาธารณชน การสื่อสารที่ยืนยันถึงความปลอดภัยจึงถือว่าเป็นหัวใจหลัก อย่างไรก็ตาม การสื่อสารถึงผลข้างเคียง ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัยอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สังคม

 

 

นอกจากสื่อวีดิทัศน์แล้ว สื่อทางโซเชียลมีเดียในรูปแบบภาพนิ่งถูกเผยแพร่ในระยะแรกของแคมเปญเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2021 เพื่อสนับสนุนโปรแกรมการฉีดวัคซีน โดยมีข้อความสำคัญ คือ 1. Stay up to date 2. Vaccine protect 3. TGA approval process และ 4. Vaccines free 

 

 

นอกจากการสื่อสารที่มาจากรัฐบาลสหพันธรัฐในข้างต้นแล้ว รัฐบาลมลรัฐยังมีการสื่อสารถึงความปลอดภัยของวัคซีนไปยังประชาชนในแต่ละรัฐเพื่อสร้างความมั่นใจเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เพจเฟซบุ๊กของ ACT Health ได้เผยแพร่โพสต์ในรูปแบบ Fact Check เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2021 ว่าการพัฒนาและรับรองวัคซีนโควิดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเร่งรัด (COVID-19 vaccine development and approvals were not rushed) พร้อมให้เหตุผลว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้นักวิจัยและผู้พัฒนาวัคซีนจากทั่วโลกจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาวัคซีนเป็นลำดับแรก มีการลงทุนด้วยงบประมาณจำนวนมากในการทำวิจัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้นักวิจัยเข้าใจไวรัส ทั้งนี้ ไวรัสโคโรนาเป็นกลุ่มไวรัสที่รู้จักดีอยู่แล้วจากการระบาดของ SARS ในปี 2003 และ MERS ในปี 2012 ทำให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจธรรมชาติของไวรัส 

 

ในออสเตรเลียมีหน่วยงาน TGA ซึ่งจะรับรองวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้น โดย TGA สามารถเข้าถึงข้อมูลการทดลองทางคลินิก (Clinical Trial Data) ได้ตลอดเวลา จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว โพสต์ดังกล่าวนี้ได้รับเอ็นเกจเมนต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยมีผู้กดรีแอ็กชันกว่า 14,000 คน มีการเผยแพร่ต่อกว่า 449 ครั้ง และมีการแสดงความเห็นใต้โพสต์ว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ลังเลที่จะเข้ารับวัคซีน เช่น คอมเมนต์ที่ว่า “This is a very good to read. Excellent information. Helping those who hesitate to make an informed decision – yes or no. Giving those who made the decision to have the vaccine to know there was a lot of research done before the Jan…”

 

 

  • การสร้างข้อตระหนักในเชิง ‘Community Spirit’

การสร้างข้อตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยอาจจะยังมีความใกล้ชิดกับข้อเท็จจริงทางเทคนิคอยู่ไม่น้อย แต่อย่างที่เราจะได้เห็นต่อไป การสร้างข้อตระหนักจะเริ่มมีการดึงเอาส่วนผสมหรือมิติที่กว้างออกไปเข้ามาจัดวางร่วมกับข้อมูลของวัคซีนและการระบาดมากขึ้น เช่น 

 

1. การรณรงค์ว่าด้วย ‘Arm yourself against COVID-19’

 

รัฐบาลสหพันธรัฐได้ออกแคมเปญ Arm Yourself เพื่อรณรงค์ให้ชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อปกป้องตัวเอง คนที่รักและห่วงใย ตลอดจนชุมชน โดยสื่อด้วยภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เพศ และช่วงอายุ ถกแขนเสื้อ โชว์พลาสเตอร์ยาปิดแผลบนพื้นฉากหลังสีพาสเทล เพื่อสื่อว่าคนเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีน พร้อมกับข้อความที่ว่า “การเข้ารับวัคซีนเป็นแนวทางป้องกันไวรัสที่ดีที่สุดสำหรับคุณ และเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราก้าวต่อไปข้างหน้า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะปกป้องตัวเอง และสนับสนุนครอบครัวของคุณ เพื่อนของคุณ เพื่อนร่วมงานของคุณ ชุมชนของคุณ หรือใครก็ได้ที่คุณรัก มาทำสิ่งเดียวกัน” (A COVID-19 vaccine is your best defence, and our only way forward. Now’s the time to protect yourself, and encourage your family, your friends, your workmates, your community, someone you love to do the same. Find out when you can book your vaccination.)

 

รัฐบาลสหพันธรัฐได้ออกแคมเปญ Arm Yourself เพื่อรณรงค์ให้ชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อปกป้องตัวเอง คนที่รักและห่วงใย ตลอดจนชุมชน โดยสื่อด้วยภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เพศ และช่วงอายุ ถกแขนเสื้อ โชว์พลาสเตอร์ยาปิดแผลบนพื้นฉากหลังสีพาสเทล เพื่อสื่อว่าคนเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีน

 

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ Tom van Laer ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์เรื่องเล่า จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้กล่าวว่า การยอมรับพฤติกรรมนั้นอาศัยความเชื่อมั่นและแรงจูงใจ โฆษณาชิ้นนี้สร้างความเชื่อมั่นในวัคซีน แต่ยังขาดการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีน ถึงแม้ว่าการรณรงค์ดังกล่าวนี้มีการเผยเพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ และได้ปรับให้เหมาะสมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา ตลอดจนประชากรชาวอะบอริจิน และคนพื้นเมืองหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรส อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการรณรงค์นี้อาจเข้าไม่ถึงกลุ่มชุมชนที่มีความหลากหลาย และถูกตั้งข้อสังเกตว่าคำว่า Arm Yourself นั้นถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ ได้หรือไม่ และอย่างไร 

 

 

นอกจากการรณรงค์ ‘Arm yourself against COVID-19’ ของรัฐบาลสหพันธรัฐ รัฐบาลมลรัฐได้สื่อสารเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนด้วยข้อความในเชิง Community Spirit เช่น เพจเฟซบุ๊กของ ACT Health ได้ใช้ภาพโปรไฟล์ที่มีข้อความว่า “I’ve had the COVID-19 vaccine. Keep CBR safe & strong.” รวมถึงการสื่อสารในทำนองเดียวกันในโพสต์อื่นๆ เช่น โพสต์อัปเดตจำนวนผู้เข้ารับวัคซีน พร้อมข้อความที่ว่า “Thank you for keeping Canberra safe and strong.” ที่บ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมดูแลสังคมด้วยการเข้ารับวัคซีนโควิด

 

 

  • การสร้างความตระหนักในเชิง ‘Lure of Social Freedom’ 

 

‘Spread Freedom’ campaign?

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2021 รัฐบาลสหพันธรัฐได้เผยแพร่แคมเปญ Spread Freedom เพื่อรณรงค์ให้ผู้ที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีน แคมเปญนี้ออกมาในขณะที่ประชากรออสเตรเลียที่มีสิทธิ์รับวัคซีนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วกว่าร้อยละ 73 และต้องการให้ประชาชนออสเตรเลียออกมารับวัคซีนมากขึ้น ผ่านแท็กไลน์ที่ว่า ‘Spread Freedom’ แคมเปญนี้สื่อสารถึงการใช้ชีวิตอิสระ ผ่านเรื่องราวการไปผับ การพบปะครอบครัว และการเดินทาง เพื่อสื่อสารถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนว่าพวกเขาอาจจะพลาดสิ่งเหล่านี้ พร้อมกับข้อความปิดท้ายในเชิงเชิญชวนที่กล่าวว่า “We almost there Australia. Book your COVID-19 vaccination at Australia.gov.au” เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนทำนัดเข้ารับการฉีดวัคซีน

 

รัฐบาลสหพันธรัฐได้เผยแพร่แคมเปญ Spread Freedom เพื่อรณรงค์ให้ผู้ที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีน ผ่านแท็กไลน์ที่ว่า ‘Spread Freedom’ แคมเปญนี้สื่อสารถึงการใช้ชีวิตอิสระ ผ่านเรื่องราวการไปผับ การพบปะครอบครัว และการเดินทาง เพื่อสื่อสารถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนว่าพวกเขาอาจจะพลาดสิ่งเหล่านี้

 

 

Roll Up for WA Campaign

 

มลรัฐควีนส์แลนด์ และเวสเทิร์นออสเตรเลีย เป็นรัฐที่มีอัตราการเข้ารับวัคซีนโควิดน้อยที่สุด ดังนั้นรัฐบาลมลรัฐจึงรณรงค์ให้ประชาชน อาจเนื่องมาจากรัฐเหล่านี้ไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงเหมือนรัฐนิวเซาท์เวลส์, วิกทอเรีย และออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมลรัฐได้พยายามสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ตัวอย่างเช่น รัฐบาลมลรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียได้ลงทุนกว่า 3.6 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ผ่านแคมเปญ Roll Up for WA เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในรัฐเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยแคมเปญนี้มุ่งเป้าหมายรณรงค์ประชากรวัยรุ่น โดยสื่อสารว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วสามารถที่จะเดินทาง สนุกกับการเล่นกีฬา คอนเสิร์ต ตลอดจนกิจกรรมครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะภายในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย แต่รวมถึงในรัฐอื่นๆ ตลอดจนในต่างประเทศ โดยโฆษณาชิ้นนี้จะถูกเผยแพร่ระหว่าง Australian Football League (AFL) Grand Final รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย วิทยุ และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ 

 

  • การสร้างความตระหนักในเชิง ‘Fear-Based’ 

 

Don’t be complacent

 

โฆษณา Don’t be complacent ได้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2021 ในซิดนีย์ขณะที่กำลังมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาและอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์เป็นสัปดาห์ที่ 3 โฆษณาชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อติดไวรัส ผ่านภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีปัญหากับระบบทางเดินหายใจและต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้ Paul Kelly, Chief Medical Officer ได้กล่าวว่า ข้อความสำคัญคือเราต้องการให้ประชาชนออสเตรเลียเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เขากล่าวว่า “ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะชะล่าใจ ไม่ใช่เวลาที่จะลังเล แต่เป็นเวลาที่ควรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม” (This is not a time for complacency, it is not a time for frustration, it is a time for actually recognising that and taking that responsibility for yourself, your family and the community.)

 

 

จะเห็นได้ว่ากระบวนการและปฏิบัติการปรับเปลี่ยนข้อเท็จจริงทางเทคนิคเกี่ยวกับวัคซีนให้กลายมาเป็นข้อตระหนักของผู้คนในสังคมนั้น ไม่สามารถจะดำเนินการไปได้หากเน้นไปที่การนำเสนอข้อเท็จจริงทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว การจัดวาง การกระจาย และความแพร่หลายยอมรับวัคซีนในสังคม เป็นผลมาจากความสามารถในการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นกับมิติและข้อห่วงใยอื่นๆ ในสังคม เช่น ความปลอดภัย จิตสำนึกของความเป็นชุมชน เสรีภาพ และความหวาดกลัว เป็นต้น ในที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้ต้องการสนับสนุนหรือเสนอว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ หากแต่เป้าหมายของบทความพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของการทำงานของผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการเชื่อมโยงความเป็นเทคนิคดังกล่าวกับบริบทเชิงการเมือง วัฒนธรรม อุดมคติ และความคาดหวังของสังคมให้ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ไม่เคยดำรงอยู่ท่ามกลางสุญญากาศ หากแต่เป็นผลมาจากการผลิตสร้างขึ้นทางสังคมทั้งสิ้นนั่นเอง

 

อ้างอิง:

FYI
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Comparative assessment of the pandemic responses in Australia and Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจาก The Australia-ASEAN Council, Australia-ASEAN Council COVID-19 Special Grants Round กระทรวงการต่างประเทศและการค้า ประเทศออสเตรเลีย
  • ติดตามข้อมูลและข่าวสารของโครงการได้จาก Website: https://www.austhaipandemic.com Facebook: https://www.facebook.com/AusThaiPandemic
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X