ตอนนี้กำลังมีกระแสใหม่เกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน นั่นคือ ‘ตู้ขายของอัตโนมัติอัจฉริยะ’ ซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นและกำลังเปลี่ยนวิธีของผู้คนในการซื้อสินค้าต่างๆ โดยเทรนด์นี้ได้รับแรงกระตุ้นจาก 2 สิ่ง ได้แก่ ผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้นในการซื้อสินค้า และผลกระทบจากการระบาดของโควิด
ในประเทศไทย แบรนด์ ‘เต่าบิน’ ได้สร้างตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ โดยความพิเศษอยู่ที่ลูกค้าไม่ต้องควานหาเศษเหรียญมาจ่าย แต่สามารถใช้มือถือจ่ายได้เลย ปัจจุบันมีตู้เต่าบิน 6,000 เครื่องติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้าและอพาร์ตเมนต์ทั่วประเทศ ซึ่งขายเครื่องดื่มรวม 2 แสนแก้วต่อวัน
เหตุผลที่เต่าบินได้รับความนิยมมาจากเครื่องสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มได้ถึง 170 ชนิด นอกจากนี้ราคายังสมเหตุสมผล ตั้งแต่ 15-65 บาท ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของราคาที่จ่ายในร้านกาแฟทั่วไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจ้าของตู้บุญเติมและเต่าบิน ผุดธุรกิจใหม่ ‘GINKA EV’ เจาะสมรภูมิสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มั่นใจเป็น S-Curve ปั้นรายได้ในอนาคต
- อยากกินปลาดิบตอนไหนต้องได้กิน! ญี่ปุ่นเริ่มทดลองขาย ‘ซาซิมิ’ ผ่านตู้ Vending Machine ในราคา 130 บาทต่อแก้ว
- นักอนุรักษ์ต้องกุมขมับ! ญี่ปุ่นเปิดตัว ‘ตู้กดเนื้อวาฬ’ หลังซูเปอร์มาร์เก็ตไม่อนุญาตให้ขาย ยกทัพซาชิมิวาฬ-เบคอนวาฬ ราคาเริ่มต้น 250-750 บาท ชิงลูกค้า
โดยบริษัทที่อยู่เบื้องหลังเครื่องจักรยอดนิยมเหล่านี้คือ Forth Corp. ซึ่งมีแผนที่จะแยกธุรกิจตู้ขายของอัตโนมัติเข้าสู่การ IPO เพื่อเป็นสะพานในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลียและอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มดำเนินการในเร็วๆ นี้ในมาเลเซีย
ในประเทศจีน แนวโน้มที่คล้ายกันกำลังเกิดขึ้น ที่นั่นจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และเครื่องเหล่านั้นยังรับชำระเงินผ่านแอปยอดนิยม เช่น Alipay และ WeChat Pay นอกจากนั้นบางเครื่องยังยกระดับเทคโนโลยีด้วยการให้ลูกค้าชำระเงินโดยใช้การจดจำใบหน้าได้ด้วย
ระหว่างปี 2017-2022 ยอดขายของตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในมาเลเซียซึ่งยอดขายพุ่งสูงถึง 70% ในขณะที่ประเทศจีนเพิ่มขึ้น 40% แม้แต่ในสิงคโปร์และไทยยอดขายก็ยังเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มเท่านั้น ตู้ขายของอัตโนมัติคลื่นลูกใหม่ยังตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย โดยในสิงคโปร์บริษัทชื่อ SmartRx ได้เปิดตัวเครื่องจำหน่ายยาอัตโนมัติที่จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งกระบวนการนี้ง่ายมากเพียงแค่ผู้ป่วยเข้าไปในบูธเล็กๆ และพูดคุยกับแพทย์ผ่านวิดีโอคอล เมื่อพวกเขาได้รับคำปรึกษาแล้วเครื่องจะให้ใบสั่งยาทันที
ในประเทศมาเลเซียมีตู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น วิตามิน ซึ่งเครื่องเหล่านี้ดำเนินการโดยบริษัท YesHealth โดยติดตั้งไปแล้วกว่า 30 เครื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 บริษัทกล่าวว่ากำลังวางแผนที่จะเพิ่มอีก 100 เครื่องในอนาคตอันใกล้
การเฟื่องฟูของ ‘ตู้ขายของอัตโนมัติอัจฉริยะ’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมอย่างมาก การศึกษาโดย Fidelity National Information Services เปิดเผยว่า 44% ของการชำระเงินในร้านค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดำเนินการผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมากกว่าอเมริกาเหนือและยุโรป
ในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีตู้ขายของอัตโนมัติแบบเก่าที่รับเงินสดเป็นหลักอยู่ทั่วไป โดยตู้ขายของอัตโนมัติอัจฉริยะเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากปี 2017-2022 ตลาด Vending Machine ในประเทศเหล่านี้หดตัวลง 14% ในญี่ปุ่น และ 17% ในสหรัฐอเมริกา
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตู้ขายของอัตโนมัติประสบความสำเร็จในเอเชียก็เพราะความปลอดภัย ผู้คนไม่กังวลว่าเครื่องเหล่านี้จะเสียหายหรือถูกขโมย ขณะเดียวกันการระบาดใหญ่ของโควิดนำไปสู่การขึ้นค่าแรงและการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งตู้ขายของอัตโนมัติอัจฉริยะเข้ามาตอบโจทย์เพราะไม่ใช่แรงงาน ใช้พื้นที่น้อย และสามารถทำงานได้ตลอดเวลา
แม้แต่เครือร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอย่าง ซีพี ออลล์ ก็กำลังดำเนินการเช่นกัน ผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ขายขนมขบเคี้ยวและข้าวกล่องในร้าน 7-Eleven กว่า 10,000 แห่ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อเผชิญกับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น
สิ่งที่น่าสังเกตคือแม้ว่าญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อเรื่องตู้ขายของอัตโนมัติ แต่ก็ไม่ได้เปิดรับกระแสของตู้ขายของอัตโนมัติเหมือนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม Fuji Electric บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ควบคุมตลาดตู้จำหน่ายเครื่องดื่มท้องถิ่นประมาณ 70% กำลังพัฒนาเครื่องที่รองรับการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือและปรับราคาตามสภาวะตลาด
ในขณะที่ผู้ค้าปลีกกำลังมองหาวิธีใหม่ๆ ในการขายผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอัจฉริยะของเอเชียก็กลายเป็นผู้นำระดับโลก ด้วยมีประโยชน์ไม่เพียงแต่เพื่อความสะดวก แต่ยังช่วยให้ธุรกิจเข้าใจว่าผู้คนกำลังซื้ออะไรและที่ไหนด้วยการลงทุนเพียงเล็กน้อย Kenichi Shimomura ที่ปรึกษาของ Roland Berger กล่าวว่า เครื่องจักรเหล่านี้อาจเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกในอนาคต
อ้างอิง: