องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวด SLS ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ จากแท่นปล่อยในศูนย์อวกาศเคนเนดี แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เมื่อช่วงเช้ามืดของวันนี้ (16 พฤศจิกายน) เวลา 01.47 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 13.47 น. ตามเวลาในไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis I ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อปูทางสู่การสร้างประวัติศาสตร์ ส่งนักบินอวกาศไปยังพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี
การปล่อยจรวด SLS (Space Launch System) ซึ่งเป็นจรวดขนส่งลำใหญ่ที่สุดของ NASA ความสูง 98 เมตร มีขึ้นหลังจากที่เลื่อนมา 2 ครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยจรวดได้ปล่อยแรงขับกว่า 4.1 ล้านกิโลกรัม ก่อนพุ่งออกจากแท่นปล่อยสู่ห้วงอวกาศ
ส่วนบนของจรวดซึ่งเป็นยานอวกาศรูปแคปซูล ชื่อว่า Orion ได้แยกตัวออกจากจรวด SLS หลังเดินทางถึงอวกาศ ก่อนจะทะยานผ่านวงโคจรโลกด้วยเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ของยานที่มีเพียงเครื่องเดียว และหลังจากนั้นราว 2-3 ชั่วโมง เครื่องยนต์จะปล่อยการเผาไหม้อย่างรุนแรงเพื่อนำยานไปตามวิถีโคจรที่ถูกต้อง เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ดวงจันทร์
ทั้งนี้ ยานอวกาศ Orion ได้รับการออกแบบให้บรรทุกนักบินอวกาศได้ แต่ครั้งนี้เป็นเพียงภารกิจทดสอบ จึงมีเพียงหุ่นจำลองสำหรับเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการช่วยเหลือนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปกับยานในอนาคตหลังจากนี้
ขณะที่คาดว่ายาน Orion จะสามารถบันทึกข้อมูลการเดินทางได้ระยะทางกว่า 2 ล้านกิโลเมตร และหลังจากโคจรรอบดวงจันทร์ ยานจะเดินทางกลับสู่โลกโดยใช้เวลาประมาณ 25.5 วัน ก่อนที่จะกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกและตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณนอกชายฝั่งเมืองซานดิเอโกของสหรัฐฯ ในวันที่ 11 ธันวาคม
โดยตลอดภารกิจ วิศวกรของ NASA จะคอยติดตามประสิทธิภาพของยานอวกาศอย่างใกล้ชิด และทีมวิศวกรจะประเมินว่ายาน Orion ทำงานได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ และเตรียมความพร้อมสนับสนุนภารกิจแรกในการส่งนักบินอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งมีกำหนดในปี 2024 ตามด้วยภารกิจส่งนักบินอวกาศเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 2025
ภาพ: GREGG NEWTON / AFP
อ้างอิง: