“My head was always foggy. I couldn’t get an accurate fix on the things around me – their distance or mass or tenure. The drowsiness would overtake me at regular, wavelike intervals: on the subway, in the classroom, at the dinner table. My mind would slip away from my body. The world would sway soundlessly.”
ภาพจิตรกรรม Another Sleepless Night โดย เจเน็ต ลาวิดา
ข้อความภาษาอังกฤษด้านบนตัดมาจากเรื่องสั้น Sleep ซึ่งฮารูกิ มูราคามิ ได้บรรยายอาการของคนนอนไม่หลับเรื้อรังไว้อย่างงดงามตามสไตล์ตัวหนังสือในแบบของเขา หากใครเคยอดหลับอดนอนติดกันหลายวันจนความคิดเบลอ สมองงง คล้ายวิญญาณจะหลุดออกจากร่าง คงพอจะนึกอาการออกว่าที่มูราคามิบรรยายมานั้นตรงกับความปรวนแปรของร่างกายที่เกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด
นอนไม่หลับ หรือ Insomnia นั้น หมายถึงการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 เดือน และส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตในเวลากลางวัน โดยที่อาการนอนไม่หลับนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากยาหรือโรคอื่นๆ สถิติทั่วโลกพบว่าปัจจุบันมีคนต้องเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับราว 6-10% แต่สำหรับคนญี่ปุ่น ตัวเลขจากงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างวัยกลางคนพบว่ามีผู้ที่ต้องเผชิญกับอาการนอนไม่หลับเรื้อรังมากถึง 13%
ภาพจิตรกรรม Sleepless! โดย ซูแฮร์ สิบาย
งานวิจัยจาก The Japan Labor Health and Welfare Organization established Workers’ Preventative Health Care Centers (WPHCCs) ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนทำงานในโรงพยาบาล 5,083 คนพบว่า บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้มีสัดส่วนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหาเรื้อรังอย่างนอนไม่หลับ ซึมเศร้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังกับโรคซึมเศร้า นั่นคือหลายคนมีปัญหาทั้งสองร่วมกันโดยบอกไม่ได้ว่าอะไรเกิดก่อน แต่ที่รู้แน่ๆ คือโรคซึมเศร้าซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้นคร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นเกินกว่า 30,000 คนเป็นเวลาต่อเนื่องกันนับสิบปี
งานวิจัยอีกชิ้นโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นเช่นกันพบว่า ในคนที่นอนไม่หลับเรื้อรังจะมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วน Dorsal Frontal Lobe ลดลงอย่างมีนัยสำคัญไม่ต่างกันกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเป็นลักษณะเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าโรคทั้งสองมีความเกี่ยวเนื่องกันทางสรีระวิทยา
ภาพจิตรกรรม Insomnia โดย ลิลญา คูฮาน
การนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสัญญาณที่ไม่ควรเพิกเฉย เพราะอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น การนอนไม่พออย่างเรื้อรังยังส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความจำเสื่อม รวมถึงเร่งการหดสั้นของเทโลเมียร์ (ส่วนปลายของสายดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความแก่ของเซลล์)
วิธีจัดการกับอาการนอนไม่หลับนั้น นอกจากคำแนะนำพื้นฐานอย่างการเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นต่างๆ แล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านจากโลกแห่งการตื่นไปยังโลกแห่งการนอน โดยอาจกำหนดเวลา 1 ชั่วโมงก่อนเวลาที่ตั้งใจจะนอนให้เป็นเวลา ‘เตรียมนอน’ ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
- อาบน้ำอุ่นๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- ปิดโทรทัศน์ โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน และหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอเหล่านี้ยับยั้งการหลั่งของเมลาโทนิน ฮอร์โมนที่ช่วยให้ง่วงนอน
- หรี่ไฟในห้องนอนให้สลัว ไม่ควรเปิดไฟสว่าง โดยเฉพาะไฟนีออนแสงขาว
- หยุดคิดเรื่องงาน ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ฟังเพลงผ่อนคลาย อ่านหนังสือ (เนื้อหาไม่เครียดและไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน)
- ขอความร่วมมือจากสามี ภรรยา คู่รัก รูมเมต ให้สนับสนุนช่วงเวลาเตรียมนอนของคุณ
ภาพจิตรกรรม The Nightmare โดย เฮนรี ฟูเซลิ
หากปฏิบัติตามคำแนะนำนี้อย่างเคร่งครัดแล้วการนอนหลับยังคงเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับคุณ อย่ากลัวที่จะไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคนอนไม่หลับ ก่อนที่การนอนไม่หลับนี้จะกัดกร่อนจิตใจจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือบ่อนทำลายร่างกายจนโรคร้ายอื่นๆ มาคร่าชีวิตให้คุณหลับไปตลอดกาลก่อนวัยอันควร
“Something is wrong.
But what? I can’t tell. My mind is crammed full of thick darkness. It’s not taking me anywhere. My hands are shaking. I try pulling out the key and putting it back in again. But my shaking hand can’t find the hole. I try again and drop the key. I curl over and try to pick it up. But I can’t get hold of it. The car is rocking back and forth. My forehead slams against the steering wheel.
I’ll never get the key. I fall back against the seat, cover my face with my hands. I’m crying. All I can do is cry. The tears keep pouring out. Locked inside this little box, I can’t go anywhere. It’s the middle of the night. The men keep rocking the car back and forth. They’re going to turn it over.”
ตัวละครหญิงสาวผู้มีปัญหานอนไม่หลับติดอยู่ในรถที่สตาร์ทไม่ติด ถูกล้อมรอบไปด้วยชายแปลกหน้าซึ่งโยกรถของเธอไปมาราวกับจะพลิกรถของเธอให้คว่ำในที่สุด
อ้างอิง:
- Koyama, Fumihiko, Takeshi Yoda, and Tomohiro Hirao. Insomnia and depression: Japanese hospital workers questionnaire survey. Open Medicine 12.1 (2017): 391-398.
- mylostwords.blogspot.com/2009/01/haruki-murakami-sleep.html