กระทรวงพาณิชย์ เกาหลีใต้ รายงานการขาดดุลการค้าที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในเอเชียในปี 1997 เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าแซงหน้าการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยยอดส่งออกของเกาหลีใต้มีการขยายตัวน้อยที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี
กระทรวงพาณิชย์เกาหลีใต้เปิดเผยข้อมูลว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา การค้าของเกาหลีใต้ขาดดุลอยู่ที่ 3.77 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลรายเดือนติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้น 18.6% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.8% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
เกาหลีใต้แจ้งตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนกันยายน ว่าการส่งออกขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของ Reuters คาดไว้ที่ 2.9% และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ข้อมูลการส่งออกของเกาหลีใต้เป็นตัวบ่งชี้ภาวะการค้าโลก เนื่องจากผู้ผลิตชิปไปจนถึงรถยนต์ของเกาหลีใต้นั้นนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบจำนวนมาก ซึ่งครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานของโลกในวงกว้าง
ส่วนการนำเข้าของเกาหลีใต้พุ่งขึ้น 18.6% ในเดือนกันยายน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 16.4% แต่ชะลอลงจาก 28.2% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งส่งผลให้เกาหลีใต้ขาดดุลการค้า 3.77 พันล้านดอลลาร์ โดยนับเป็นการขาดดุลเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
ตัวเลขดังกล่าวเป็นการสะท้อนภาพว่าประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกกำลังเผชิญกับการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากสงครามของรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น และทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น โดยการขาดดุลของเกาหลีใต้ทำสถิติสูงสุดในเดือนสิงหาคม และค่าเงินที่อ่อนค่าลงยังเพิ่มปัญหาให้กับผู้ผลิตอีกด้วย
ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญๆ เช่น ชิป รถยนต์ จอภาพ และสมาร์ทโฟน ซึ่งการจัดส่งสะท้อนภาพความต้องการที่ลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ผลิตชิปของเกาหลีประกาศลดการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี เพื่อรับมือกับความต้องการที่ลดลง
นอกจากนี้ การส่งออกของเกาหลีใต้ประจำเดือนกันยายนมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
- การส่งออกไปจีนลดลง 6.5%, การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลง 0.7%, การขนส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 16% ในขณะที่การจัดส่งไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.5%
- การจัดส่งเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ลดลง 5.7% ในเดือนกันยายนจากปีก่อนหน้า
- ยอดจัดส่งรถยนต์ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 34.7% ในขณะที่การส่งออกแบตเตอรี่ชาร์จใหม่ได้เพิ่มขึ้น 30.4%
อ้างอิง: