เมื่อเทียบกับ Samsung และ Hyundai แล้ว SK Group ซึ่งเป็นแชบอล (ชื่อเรียกกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้) เบอร์ 3 ของเกาหลีใต้ ถือว่าตามหลังอยู่มากในการเจาะธุรกิจในต่างประเทศ
แต่เวลานี้ ‘เวียดนาม’ ซึ่งกำลังเป็นประเทศที่ใครๆ กำลังสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยที่กำลังมั่งคั่งมากขึ้นเเรื่อยๆ ได้เป็นเป้าหมายที่ SK Group ต้องการเจาะเพื่อขยายอาณาจักรนอกบ้านเกิดของตัวเอง
รายงานจาก Nikkei Asia ระบุว่า ที่ผ่านมา SK ได้ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจเวียดนามสองกลุ่ม โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ดำเนินการเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ต VinMart ซึ่งธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนามกำลังเติบโตเรื่อยๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และกำลังเข้ามาแทนที่ตลาดกลางแจ้งอันเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวเวียดนาม
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา SK ลงทุน 410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับเข้าถือหุ้น 16.3% ใน VinCommerce ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ VinMart โดยทั้งสองฝ่ายระบุว่ากำลังพิจารณาความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกัน
VinCommerce เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อประมาณ 2,300 แห่ง แต่ด้วยการเดินเกมที่ยังไม่เฉียบขาดพอ ทำให้ร้านที่อยู่ภายใต้ตัวเองจำนวนมากยังอยู่ในสถานะที่ไม่ทำกำไร ทำให้หลายคนในอุตสาหกรรมท้องถิ่นเชื่อว่าการฟื้นตัวจะเป็นเรื่องยาก แต่กระนั้น SK ก็ยังเดินหน้าเข้ามาลงทุนอยู่ดี
แม้ว่า SK จะเป็นแชบอลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ แต่ธุรกิจส่วนใหญ่กลับอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโทรคมนาคม ที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่ Samsung Electronics และ Hyundai Motor ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติได้ออกไปตะลุยสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในระดับสากลแล้ว
“เมื่อเทียบกับกลุ่มมหาเศรษฐีอื่นๆ SK นั้นล่าช้าในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เช่น ในเวียดนาม” Kazuhiro Momomoto นักวิจัยจาก Japan External Trade Organisation กล่าว
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา SK ได้ลงทุนอย่างหนักเพื่อสร้างฐานที่มั่นในเวียดนาม ในปี 2018 กลุ่มบริษัทใช้เงิน 470 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหุ้นในกลุ่ม Masan Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่รายปัจจุบันของ VinCommerce นอกจากนี้ในปีหน้า SK วางแผนที่อัดฉีดเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ให้กับ Vingroup ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยได้สัดส่วนการถือหุ้น 6.1% ใน Vingroup
ทิศทางดังกล่าวได้ทำให้ SK สามารถดำเนินธุรกิจการจัดจำหน่ายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในเวียดนาม โดยใช้โนว์ฮาวจาก Eleven Street ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในเกาหลีใต้เข้ามาช่วย โดยในปีที่ผ่านมา SK ร่วมทุนกับ Amazon.com ซึ่งได้พยายามเปลี่ยน VinCommerce ให้เป็น ‘ผู้ให้บริการ Omni-Channel’ ดังเช่น Amazon หรือ Alibaba ของจีน ซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทเวียดนามเดินในเส้นทางที่ทำกำไรได้เร็วขึ้น
เวียดนามมีประชากร 100 ล้านคน โดยมีอายุเฉลี่ย 31 ปี และผู้บริโภควัยหนุ่มสาวต่างกระตือรือร้นที่จะใช้จ่าย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประเทศมีมูลค่าเกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 93,600 ซึ่งถูกมองว่าจะกลายเป็นดั่งเชื้อเพลิงชั้นดีที่ช่วยให้สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนอื่นๆ ที่ตีตราแบรนด์เกาหลีเติบโตได้มากขึ้น
ที่ผ่านมามีบริษัทเกาหลีหลายรายได้เข้ามาบุกเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการกรุยทางให้กับ SK ทั้ง Lotte Group ซึ่งเป็นเจ้าของ Lotte Center อาคารสูง 65 ชั้นใจกลางฮานอย ที่นอกจากมีพื้นที่สำนักงานและโรงแรมแล้ว ยังมีห้างสรรพสินค้า Lotte และซูเปอร์มาร์เก็ต Lotte Mart อีกด้วย แถมยังมีรายงานว่าทางกลุ่มจะเปิดโรงแรมหรูในเวียดนามในปี 2025 อีกด้วย
ขณะเดียวกันยังมีโรงภาพยนตร์ประมาณ 130 โรงทั่วประเทศเวียดนาม ที่ดำเนินการโดย CJ Group และบริษัทอื่นๆ ของเกาหลีใต้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับเผยแพร่สื่อของเกาหลีใต้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงศึกษาธิการของเวียดนามได้เพิ่มภาษาเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศหลักที่จะสอนในโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นไป นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส และรัสเซียที่มีอยู่แล้ว
การปรากฏตัวของบริษัทเกาหลีใต้ในเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทั้งสองประเทศเริ่มกระชับความสัมพันธ์ในปี 2009 จากข้อมูลพบว่า Samsung เพียงบริษัทเดียวมีการส่งออกที่คิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม โดยมีชาวเกาหลีใต้กว่า 200,000 คนอาศัยอยู่ในเวียดนาม ซึ่งมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับชาวญี่ปุ่นด้วยกัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: