การเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 30 ปี ท่ามกลางฐานลูกค้าที่เติบโตไปพร้อมกับแบรนด์ ตลอดจนการมีร้านใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา การแข่งขันจึงร้อนแรงตามไปด้วย เพราะในมือผู้บริโภคมีตัวเลือกใหม่ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายของ Sizzler ทั้งสิ้น
ดังนั้น “เราต้องหาเหตุให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน ผ่านการเพิ่มช่วงเวลาใหม่ๆ ที่จะทำให้ลูกค้าอยากเดินมาหาเรา” กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ผู้ให้บริการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ Sizzler กล่าวกับ THE STANDARD ถึงวิธีที่จะทำให้ Sizzler สามารถยืนอยู่ในตลาดได้
การหาเหตุให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านของ Sizzler ที่กำลังจะเกิดขึ้นล่าสุดคือการปั้น ‘เทศกาลเจที่ Sizzler: Vegetarian Festival’ ต้อนรับเทศกาลกินเจเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งปกติแล้วผู้บริโภคบางส่วนจะงดทานเนื้อสัตว์และหันไปทานผักกัน Sizzler จึงอุดช่องว่างด้วยเมนูที่ทำจาก Plant-based หรือเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช 100% โดยมี 2 เมนูได้แก่ สเต๊ก ออมนิมีต กับสปาเกตตีซอสทรัฟเฟิล ราคา 329 บาท และบียอร์น เบอร์เกอร์ ซอสบาร์บีคิว ราคา 399 บาท
ลึกลงไปสิ่งที่ Sizzler คาดหวังคือ การเติมรายได้ให้กับ Sizzler เอง เพราะปกติแล้วในช่วงเทศกาลกินเจยอดขายในร้านจะลดลง 10-15% ด้วยส่วนใหญ่รายได้กว่า 80% มาจากการขายสเต๊ก ดังนั้น Sizzler จึงคาดหวังว่าการมีเมนูเจที่ทำจาก Plant-based จะช่วยให้ร้านมียอดขายเพิ่มขึ้น 20-30%
ขณะเดียวกันนี่ถือเป็นช่วงเวลาที่ Sizzler เริ่มขายเมนู Plant-based ได้ครบ 1 ปีแล้ว โดยปัจจุบันมีจำหน่ายใน 30 สาขา เฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ จากทั้งหมด 54 สาขา
“สิ่งที่เราได้พบจากการมีเมนู Plant-based คือ ตลาดนี้มีลูกค้าอยู่จริงๆ แม้ไม่ได้มีจำนวนที่เยอะมากก็ตาม แต่ก็มีลูกค้าเรื่อยๆ ไม่ได้หายไปไหน” นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด กล่าวถึงผลตอบรับที่ผ่านมาของการวางขายเมนู Plant-based
ถึงจะมีกลุ่มลูกค้าอยู่แต่ความท้าทายของเมนู Plant-based คือมีราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเนื้อนำเข้าจะสูงกว่า 2.5 เท่า ทำให้ราคาที่จำหน่ายไม่สามารถทำให้อยู่ในระดับเมนูที่ทำจากเนื้อสัตว์ปกติได้ แต่เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอยากลิ้มลอง Sizzler จึงตัดสินใจปรับลดราคาของเมนู Plant-based จาก 439-479 บาท มาเป็น 329-399 บาท ด้วยหวังว่าจะทำให้ลูกค้าที่สั่งเมนู Plant-based เพิ่มจาก 2 คนใน 100 คน เป็น 5 คนใน 100 คนให้ได้
ในส่วนของเมนูโปรโมชันซึ่งจะเป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้ลูกค้าอยากเดินเข้ามาในร้าน Sizzler เอง ได้ปรับความถี่จากเดิมเมนูจะอยู่ประมาณ 12 สัปดาห์ ลดลงเหลือ 6-8 สัปดาห์ เพื่อทำให้ลูกค้าอยากแวะเข้ามาที่ร้านเพื่อลองเมนูใหม่มากขึ้น โดยเมนูโปรโมชันจะเน้นที่ Value
“แต่ Value ไม่จำเป็นต้องเป็นของถูก ในมุมของ Sizzler คำว่า Value คือความคุ้มค่าคุ้มราคา” กรีฑากรกล่าว
สถานการณ์ในปัจจุบันของ Sizzler ยอดขายได้กลับมา 90% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ในส่วนที่หายไปคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งมีกระทบหลักๆ อยู่ 5 สาขา ได้แก่ 3 สาขาในพัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต สำหรับลูกค้าคนไทยนั้นกำลังซื้อได้กลับมาแล้ว ในบางสาขาพบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ
ช่วงที่ผ่านมา Sizzler ได้เพิ่มช่องทางเดลิเวอรี ซึ่งปัจจุบันยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีสัดส่วนยอดขาย 10% จากภาพรวมแล้ว โดยยอดซื้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 400-500 บาทต่อบิล ส่วนการกินในร้านอยู่ที่เฉลี่ย 800 บาทบิล ในปีที่ผ่านมา Sizzler มีฐานลูกค้า 8-9 ล้านบาท สำหรับปีนี้นั้นลดลงแน่นอน เพราะต้องปิดร้านไปในช่วงโควิด-19 แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะลดลงเท่าไร
สำหรับปีหน้านั้นคาดว่าจะเปิด 4-5 สาขา แต่จะเปิดได้ตามแผนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าของพื้นที่ เพราะปัจจุบันยังไม่ได้มีการเคาะว่าจะเปิดได้ช่วงไหน ต้องรอดูสถานการณ์ทั้งหมดก่อน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า