วันนี้ (6 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และ กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของ สยาม ธีรวุฒิ เข้ายื่นหนังสือต่อ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ สิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเร่งรัดวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ขึ้นมาเป็นวาระเรื่องพิจารณาเร่งด่วน ลำดับที่ 1 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1
สิตานันกล่าวว่า กว่า 8 เดือนแล้วที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาให้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ของพรรคการเมือง ได้แก่ ร่างของพรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 โดย นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เคยชี้แจงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว โดยร่างกฎหมายชื่อเดียวกันของกระทรวงยุติธรรมก็ได้ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ฉบับของกระทรวงยุติธรรม ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เรียบร้อยแล้ว
จึงส่งผลให้ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้ง 4 ฉบับ ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระพิจารณาเรื่องเร่งด่วน ลำดับที่ 9 ในสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564 นี้
ดังนั้นเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาคประชาชน จึงขอให้พิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเลื่อนลำดับการพิจารณาเรื่องเร่งด่วน เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. จากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ 9 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 1 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านเป็นกฎหมายโดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองข้อหานี้ได้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ทั้ง 4 ฉบับนี้ มีหลักการพื้นฐานว่าการทรมาน การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะกระทำต่อบุคคลใดๆ มิได้ ไม่ว่าโดยข้ออ้าง เหตุผล หรือภายใต้สถานการณ์ใดๆ เช่น ภาวะสงคราม กฎอัยการศึก หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ที่ผลักดันให้บุคคลออกนอกราชอาณาจักร และหากบุคคลนั้นต้องเผชิญกับการทรมานหรือการบังคับสูญหายที่อาจมีผู้บังคับบัญชารู้เห็นเป็นใจหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดจะต้องได้รับการลงโทษร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย การกำหนดมาตรการป้องกันการทรมานและอุ้มหายโดยให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพบญาติ พบและปรึกษาทนายความ โดยกำหนดให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหายเท่านั้น รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบ สั่งระงับการกระทำผิด และเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหาย เป็นต้น