วันจันทร์ 7 มกราคม 2019 เป็นวันที่ฟุตบอลทีมชาติไทยพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกลางฟุตบอลรายการเอเชียนคัพ 2019 หลังจากพ่ายให้กันอินเดียไป 4-1 ในเกมประเดิมสนาม
โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลตัดสินใจเปลี่ยนหัวหน้าผู้ฝึกสอนกลางอากาศ ปลด มิโลวาน ราเยวัช ที่ร่วมงานมาเกือบ 2 ปี และแต่งตั้ง โค้ชโต่ย-ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนรักษาการทีมชาติไทยแทน
จนมาถึงวันนี้ เกมแรกของทีมชาติไทยยุคของโค้ชรักษาการกำลังจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการลงสนามพบกับบาร์เรน ในศึกฟุตบอลเอเชียนคัพ 2019 เวลา 18.00 น. ของวันที่ 10 มกราคมนี้
THE STANDARD พาสำรวจแคมป์ทีมชาติไทยว่าความเปลี่ยนแปลงที่เราคาดหวังนี้จะมาในรูปแบบใดก่อนเสียงนกหวีดแรกจะเริ่มต้นขึ้น
บรรยากาศแคมป์ทีมชาติไทยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สิ่งแรกที่จะพาไปสำรวจคือบรรยากาศของแคมป์ทีมชาติไทยที่เก็บตัวฝึกซ้อมก่อนเกมที่สองจะเริ่มต้นขึ้น เราต่อสายตรงหา ฐิติพงศ์ อ่อนไสว คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ลากาแดร์ สปอร์ตส์ ที่ติดตามรายงานบรรยากาศอยู่กับทีมชาติไทย
“ตอนนี้บรรยากาศในทีมถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ น่าจะเหมือนตอนซีเกมส์ที่สิงคโปร์ ซึ่งบรรยากาศนั้นได้กลับมาอีกครั้ง” (ไทยชนะเมียนมา 3-0 คว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2015)
“ในทีมชุดที่ว่ากันว่าเล่นบอลได้สวยงามที่สุด ก่อนหน้านี้ในช่วงของราเยวัชตอนฝึกซ้อม ความเคร่งเครียดกับนักเตะทุกคนเกิดจากการสื่อสารยาก เนื่องจากภาษา และความใส่ใจในการเข้าหานักเตะแต่ละคนอาจจะหายไป
“การนั่งกินข้าวจะแยกกัน เหมือนเจ้านายทำงานกับลูกน้อง เวลาจะคุยกับนักเตะหลักอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ก็สื่อสารยาก และพอเวลาไปสื่อสารในการปรับแท็กติก กลายเป็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา นักเตะก็ไม่ค่อยได้เสนอว่าผมเล่นตรงนี้ได้ หรือว่าเราควรจะเล่นแบบไหน จุดนี้คือสิ่งที่หายไป
“ความเคร่งเครียดมันเริ่มก่อตัว เห็นได้ชัดเจนจากเอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพล่าสุด ที่นักเตะสามารถเล่นตามแท็กติกได้ดี แต่ไม่สามารถพลิกแพลงสถานการณ์ได้ จนนำมาซึ่งการตกรอบ และมันมาชัดเจนขึ้นในเกมแรกของเอเชียนคัพ ที่ต้องมาแข่งขันกับทีมระดับเอเชีย และมีนักเตะชั้นนำของไทยเข้ามาเสริพทัพอีก กลายเป็นว่าความพลิกแพลงทางแท็กติกไม่มี ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่เกมอุ่นเครื่องที่แพ้โอมาน
“แม้ว่าเราจะรู้ว่าต้องเล่นอย่างไรในเอเชีย แต่ด้วยความที่โค้ชและนักเตะไม่สามารถสื่อสารกันได้ สุดท้ายจึงนำไปสู่เกมที่แพ้อินเดียแบบหมดรูป”
ด้านบรรยากาศการฝึกซ้อมภายในทีม ฐิติพงศ์เล่าให้ฟังว่า
“บรรยากาศในทีมดีขึ้น โดยเฉพาะวันแรกของการฝึกซ้อม ด้วยสไตล์ของโค้ชโต่ยที่สบายๆ บวกกับโค้ชโชคทวี พรมรัตน์ ที่รู้จักนักเตะชุดนี้ตั้งแต่สร้างทีมขึ้นมาในยุคซิโก้ บรรยากาศแบบนั้นก็กลับมาอย่างรวดเร็ว
“แค่ซ้อมวิ่งธรรมดา โค้ชก็สามารถยิงมุขแซวนักเตะคลายเครียดให้บรรยากาศความเป็นกันเองกลับมา
“ยกตัวอย่างการเล่นลิงชิงบอลแบบเคร่งเครียดกับการเล่นลิงแบบเป็นกันเอง มันต่างกันมาก ในเรื่องของแท็กติกต้องยอมรับว่าทีมนี้เป็นชุดที่ราเยวัชเตรียมทีมมา 2 ปี คงไม่สามารถเรียกนักเตะเก่ากลับมาได้ และคงต้องใช้ชุดปัจจุบัน
เราจะได้เห็นสิ่งที่คล้ายกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังยุคมูรินโญไหม THE STANDARD ถาม
“ศักยภาพของนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดสูงมาก แต่ทีมชาติไทยเรายังห่างกันเยอะในหลายด้าน แต่สิ่งที่เราจะได้กลับคืนมาคือเอกลักษณ์ของทีมชาติไทย ความพลิกแพลง จนถูกใจคนทั้งเอเชีย เราเล่นบอลพลิกแพลง เปลี่ยนเกมรับเป็นรุกที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับเกมรับที่อาจเสียประตูเมื่อไรก็ได้ อันนี้ต้องยอมรับ
“ทีมชาติชุดนี้แม้ว่าราเยวัชจะพยายามใส่ทัศนคติเรื่องเกมรับมาตลอด 2 ปี แต่ก็ต้องยอมรับว่านักเตะอาจจะยังไม่ซึมซับ เห็นได้จากเฉลิมพงษ์กับพรรษามาอยู่ในระดับเอเชีย เราเจออินเดียกองหน้าที่มีความเร็ว และหาจังหวะจบสกอร์ได้ดี ก็เสียรูปแบบ คล้ายกับเกมที่เราเจอมาเลเซีย กองหน้าเขามีพื้นที่ให้เล่นมาก
“เรื่องเกมรับเป็นปัญหามานาน เราก็ยังคงแก้ไขไม่ได้ แต่เราคงได้เห็นนักเตะวิ่งสู้มากขึ้น บวกกับเงินอัดฉีดลูกละ 5 ล้าน
“อีกสิ่งหนึ่งที่ดีคือ เจ้าหน้าที่สมาคมกีฬาฟุตบอลไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ยูเออีเกือบทั้งหมด การตัดสินใจและการประสานงานจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาสมาคมให้อิสระกับราเยวัชในการบริหารทีมอย่างเต็มที่ แต่พอออกปุ๊บ ทุกคนก็กลับมาร่วมกันแก้ปัญหา ตัวนายกฯ เองก็หันมาใส่ใจทุกอย่างมากขึ้น
“แค่หนึ่งแต้มก็ถือเป็นผลสำเร็จของความเปลี่ยนแปลง แต่หากชนะได้ ทีมชาติไทยถือว่าโชคดีมากที่สามารถกลับเข้าสู่ฟอร์มเดิมได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากเราเล่นเหมือนตอนฟุตบอลโลกรอบ 12 ทีมสุดท้าย เราก็มีลุ้นชนะบาห์เรน”
ย้อนสถิติทีมชาติไทยกับการปะทะกับทีมตะวันออกกลาง
สำหรับสถิติฟุตบอลทีมชาติช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งภายใต้การคุมทีมของ ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และ มิโลวาน ราเยวัช ทั้งสองไม่สามารถนำพาทีมชาติไทยเอาชนะทีมจากตะวันออกกลางได้เลย
ขณะที่สถิติกับบาห์เรน ทั้งสองทีมเคยพบกันทั้งหมด 7 ครั้ง โดยเป็นบาห์เรนที่เอาชนะไปได้ 2 เกม เสมอกัน 4 เกม และไทยชนะเพียงแค่ 1 เกม โดยเกมล่าสุดที่พบกันคือปี 2015 ที่เสมอกันไป 1-1 ในเกมอุ่นเครื่อง ขณะที่เกมที่ไทยเอาชนะบาห์เรนได้ต้องย้อนไปถึง 39 ปีที่แล้ว ที่ไทยเฉือนชนะบาห์เรนไป 1-0 ในศึกเพรสซิเดนท์คัพ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 1980
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเกมนี้คงไม่ใช่ชัยชนะ แต่เป็นเสน่ห์ในเกมรุกที่หลายคนตามหา
เมื่อเทียบกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำในยุโรปอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แม้ว่าทีมชาติไทยจะห่างชั้นกันทั้งทักษะและความแข็งแกร่งของนักเตะ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเหมือนกับทีมชาติไทยในวันนี้คือ ความคาดหวังของแฟนบอลที่อยากเห็นทีมที่ตนเองชื่นชอบเปิดเกมรุกอย่างสร้างสรรค์ และต่อสู้จนเสียงนกหวีดสุดท้าย เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เห็นระบบที่พัฒนาดีขึ้นจากแนวทางที่เรียกว่าฟุตบอลเน้นผล แต่วันนี้สิ่งที่เราอยากเห็นคงเป็นการพลิกแพลงสถานการณ์ที่ดีขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างย่อมเกิดจากความหวังว่าจะพบเจอสิ่งที่ดีขึ้น มากกว่าการโดนบังคับให้เปลี่ยน เพราะหากพิจารณาแล้วสิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดี เราคงไม่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
แต่เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าจะนำไปสู่หนทางที่ดีกว่า แต่การตัดสินใจเลือกออกเดินทางไปสู่เส้นทางใหม่ พร้อมกับคนในที่รู้จักเรามากกว่าคนนอก อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า