×

‘ศิริกัญญา’ แจงปมหุ้นร่วงหลังเลือกตั้งเป็นเพราะต่างชาติหวั่นจัดตั้งรัฐบาลช้า หวัง กกต. เร่งรับรองผล พร้อมยันทลายทุนผูกขาดดูเป็นรายกรณี

25.05.2023
  • LOADING...

หลังทราบผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของไทยอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งปรากฏว่าพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปรากฏว่าหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ในไทยหลายแห่งกลับถูกเทขายอย่างหนักหลังจากนั้น 

 

ล่าสุด ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Secret Sauce ของ THE STANDARD ว่า พรรคก้าวไกลติดตามเรื่องการเคลื่อนไหวและความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงนี้อยู่เช่นกัน 

 

“เราก็เข้าไปดูว่าสาเหตุมาจากเราหรือไม่ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายเป็นหลัก ถามว่าทำไมฝรั่งขายก็ต้องไปดูที่ Analyst Report ของโบรกฝรั่งว่าเขาพูดอย่างไร ทุกเจ้ากังวลเรื่องความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็ควรจะต้องกังวลนั่นแหละ เพราะว่าไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่มีเสียงข้างมากแล้ว รวบรวมเสียงได้ขนาดนี้แล้วก็ยังไม่แน่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่”

 

ณ ตอนนี้มีหนทางเดียวที่จะคลายความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนนี้ได้ คือการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุดหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลอย่างเป็นทางการแล้ว

 

หลังจากนี้เชื่อว่าตลาดหุ้นจะค่อยๆ ปรับจูนในระยะสั้น และกลับคืนเข้าสู่เทรนด์ตามปกติ แต่แน่นอนว่าจะมีหุ้นบางกลุ่มที่ถูกกระทบหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน ไฟฟ้า หรือกลุ่มที่อาจเป็นทุนผูกขาด แต่แน่นอนว่าจะมีกลุ่มอื่นๆ ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดเชื่อมั่นว่านโยบายที่พรรคก้าวไกลพูดจะถูกนำไปใช้จริง 

 

การที่นักลงทุนตอบสนองว่าต่อจากนี้ทุนที่เคยผูกขาดจะไม่สามารถได้กำไรตามปกติจากการผูกขาด เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลและมีการเปลี่ยนนโยบาย เรื่องนี้ สะท้อนว่าสัญญาณที่พรรคก้าวไกลส่งออกไปมีความชัดเจน

 

สำหรับทุนใหญ่เหล่านี้ “อย่างทุนพลังงานซึ่งมีการส่งสัญญาณว่าพรรคก้าวไกลอาจไม่ได้มีการให้สัญญาสัมปทานตามปกติอย่างที่เคยมีมา ส่วนหุ้นใหญ่อื่นๆ ต้องดูเป็นรายตัว”

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า เรื่องของการผูกขาดโดยทั่วไปจะหมายถึงผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งต้องมาดูว่าบริษัทเหล่านี้สมควรที่จะได้รับอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ อย่างกรณีของ Apple มีเทคโนโลยีและมีนวัตกรรม แต่บางบริษัทที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมโดดเด่น แต่ยังได้อำนาจเหนือตลาดจากกฎระเบียบของรัฐหรือสัญญาสัมปทาน ก็ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดว่าสมควรหรือไม่ อย่างเช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เข้าใจดีว่าสนามบินในเมืองหนึ่งมีเจ้าเดียว แต่ในเมืองอื่นๆ จำเป็นต้องเป็นเจ้าเดียวกันหรือไม่ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบิน เช่น ดิวตี้ฟรี จำเป็นจะต้องมีเจ้าเดียวหรือไม่ เป็นต้น

 

“ที่แน่ๆ สิ่งที่เราจะทำคือยกระดับกฎหมายทางการค้าอีกครั้งหนึ่ง เรามี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า แต่หลายกลุ่มมีกฎระเบียบการแข่งขันของตัวเอง เช่น โทรคมนาคม พลังงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มมาตรฐานไม่เหมือนกันเลย เราอาจต้องมีกฎหมายบางอย่างที่ทำให้มาตรฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น” 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising